ขั้นตอนและวิธีทำบัตรผู้พิการ
บทความนี้จึงมาพูดถึง ขั้นตอนและวิธีการทำบัตรผู้พิการ จากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ก่อนที่เราจะไปดูวิธีการยื่นเอกสาร เรามาดูการเตรียมเอกสารกันก่อนเลยครับ
เอกสารจำเป็น
1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือ สูติบัตรของผู้พิการ
2. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้พิการ
3. รูปถ่ายขนาด 1นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6เดือน จำนวน 2รูป (แต่ตอนไปทำดันเอารูปเราไปถ่ายกับกล้องที่หน้าโต๊ะต่ออีกที ก็ไม่รู้ว่าจะให้เอาไปทำไม)
4. ใบรับรองความพิการที่คุณหมอออกให้ที่โรงพยาบาลที่รับการตรวจรักษา หรือ สภาพความพิการที่มองเห็นได้ เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอจะถ่ายสภาพความพิการไว้เป็นหลักฐาน
แต่ถ้าหากผู้พิการไม่สามารถเดินทางไปทำด้วยตัวเองได้ จำเป็นต้องใช้เอกสารตัวจริงไปด้วยและใบมอบอำนาจจากคนพิการและมีพยานเซ็นรับรู้
กรณีลูกของผู้เขียนได้รับการตรวจการได้ยิน ผลออกมาเป็นหูทั้งสองข้างได้ยินเสียงผิดปกติ และสื่อความหมายไม่ได้
ความพิการมีอยู่ 7 ประเภท ดังนี้
1. ทางการเห็น ( Visual disability )
2. ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ( Hearing or communication disability )
3. ทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่ายกาย ( Physical or locomotion disability )
4. ทางจิตใจหรือพฤติกรรม ( Mental or behavioral disability )
5. ทางสติปัญญา ( Intellectual disability )
6. ทางการเรียนรู้ ( Learning disability )
7. ทางออทิสติก ( Autistic disability )
ลูกผู้เขียนเป็นผู้พิการประเภทที่2
เมื่อลูกสาวผมได้รับการตรวจการได้ยิน คุณหมอนัดตรวจสามครั้ง เพื่อให้ผลตรวจเป็นที่แน่ใจแล้วว่า บกพร่องทางการได้ยินจริงๆ จึงออกใบผลการตรวจให้ และแนะนำให้ไปทำบัตรผู้พิการตามสถานที่ๆเราสะดวกและใกล้บ้านที่สุด คุณหมอจะให้เอกสารทั้งหมดที่จำเป็นกับเรามา
สถานที่ทำบัตรผู้พิการมีดังนี้
เขตกรุงเทพมหานคร
1. โรงพยาบาลเด็ก ( สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี )
2. สถาบันราชานุกูล
3. กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
4. โรงพยาบาลสิรินธร
5. ศูนย์บริการคนพิการสายไหม
6. โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)
7. โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
8. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
ต่างจังหวัด ให้ติดต่อศูนย์บริการคนพิการจังหวัดนั้นๆ
ผู้เขียนได้ไปใช้บริการที่ โรงพยาบาลสิรินธร เพราะว่าใกล้บ้านครับ นำลูกสาวผู้พิการไปด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ต้องดูและตรวจสอบด้วยเป็นขั้นตอนปกติ เดินทางไปถนนอ่อนนุช ซอย 90
ตามรูปเราจะเห็นว่า เข้าได้ทั้งสองทาง แล้วแต่สะดวก เมื่อเข้าไปแล้วให้เราติดต่อเจ้าหน้าที่ด้านหน้าทางเข้า บอกว่าจะมาทำบัตรผู้พิการ เจ้าหน้าที่จะบอกให้เราเดินไปห้องตรวจศัลยกรรม และไปที่ห้องเบอร์ 16
เข้าไปด้านในห้องเบอร์ 16 จะอยู่ขวามือ เราก็แจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ ว่าจะมาทำบัตรผู้พิการให้กับลูกสาว เจ้าหน้าที่ก็ซักประวัติคร่าวๆและขอเอกสารทั้งหมดข้างต้น ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 20นาที ตามรูปด้านล่าง
บัตรประจำตัวผู้พิการมีอายุ 8 ปี นับตั้งแต่วันออกบัตร เรามาดูกันว่า บัตรผู้พิการมีสิทธิอะไรบ้าง
1. ได้รับเบี้ยคนพิการ คนละ 800 บาท/เดือน
2. สิทธิ์บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ แต่จะต้องเปลี่ยนสิทธิ์บัตรทองเป็นสิทธิ์คนพิการ ท.74 เสียก่อน
3. ได้รับการศึกษาฟรี
4. สามารถสมัครงานได้ที่สถานประกอบการทั้งรัฐและเอกชน
5. บริการสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ที่จอดรถสำหรับคนพิการ เอกสารอักษรเบรลล์ ล่ามภาษามือ บริการขนส่งสาธารณะ
6. มีสิทธิ์ขอกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพ ไม่มีดอกเบี้ย แต่ต้องผ่อนส่งภายใน 5 ปี
7. ลดหย่อนภาษีเงินได้
บัตรประจำตัวผู้พิการ มีความสำคัญพอๆกับบัตรประชาชน ช่วยให้แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น
ถึงแม้ว่าน้องทับทิมจะเป็นเด็กบกพร่องทางการได้ยิน แต่สิ่งหนึ่งที่ยังทำให้ผมยิ้มได้จนทุกวันนี้ก็คือ ความร่าเริงของเขา แม้จะได้ยินไม่ถนัด แต่ก็พยายามจะเข้าใจเราในทุกๆวัน
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความของผม จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ประสบปัญหาเดียวกัน ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามอ่านและเป็นกำลังใจให้น้องทับทิมนะครับ บทความหน้าจะพูดถึง วิธีการไปขอรับเครื่องช่วยฟัง โปรดติดตามอ่านกันนะคร๊าบ...
ขอบคุณ... https://bit.ly/2zr92l4