ประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อการจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติฉบับที่3(พ.ศ.2562-2565)
เมื่อวันที่ 9 พ.ค.60 ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนดประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อการจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติฉบับที่3(พ.ศ.2562-2565)
โดยมีนายชาตรี จันทร์เพ็ญ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและประสานแผนกระบวนการยุติธรรม กล่าวนำเสนอที่มา และสาระสำคัญ ถึงผลการดำเนินงานของแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมที่ผ่านมา ซึ่งแผนแม่บทฉบับที่2 เสร็จสิ้นแล้วเมื่อปลายปี58 ดังนั้นในการจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติฉบับที่3(พ.ศ.2562-2565) นำโดย ดร.จักรฤษณ์ ควรพจน์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้วางแผนกรอบทิศทางแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติฉบับที่3(พ.ศ.2562-2565) ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และการดำเนินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
โดยตัวชี้วัดนี้ถูกพัฒนาให้มีความเข้มแข็งขึ้นผ่านเสาหลักทั้ง 4 ด้าน ดังนี้ 1. การปฏิบัติตามกฎหมาย 2. การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย 3. ความยุติธรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ4. สนับสนุนทางเลือกอื่นในการเข้าถึงความยุติธรรม เพื่อลดการนำคดีขึ้นสู่ศาล โดยทั้ง 4 เสาหลักอาจมีการบูรณาการร่วมกัน เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกันอาชญากรรม การให้ความช่วยเหลือผ่านทางเลือกอื่นๆ
จากนั้นเป็นการระดมความคิดเห็นจากบุคลากรหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม สถาบันการศึกษา เครือข่ายภาคประชาชน ภาคประชาสังคมและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการวิเคราะห์ SWOT และวิพากษ์(ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติฉบับที่3(พ.ศ.2562-2565) โดยได้รับความคิดเห็นจากหลายๆหน่วยงาน ดังนี้ 1.ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมายความแตกต่างของบุคคลด้อยโอกาสทางสังคม รวมถึงคนพิการ ที่ยังขาดการเข้าถึงระบบความยุติธรรม อาทิ คนพิการทางการได้ยินต้องมีล่ามภาษามือ คนตาบอดต้องมีอักษรเบรลล์ในส่วนของเอกสารต่างๆ หากต้องมีการเซ็นยินยอมหรือรับเอกสาร รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นใด สภาพแวดล้อมในการเข้าถึง เป็นต้น 2. ความล้าหลังของกฎหมาย 3. ประเด็นความเชื่อมโยง สภาพปัญหาความสำคัญ กระบวนการมีส่วนรวมของประชาชนควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ใช่เพียงเฉพาะกลุ่ม 4. แผน ARD ใน 4 ปีที่แล้ว ควรจัดทำการวัดผลเป็นระยะในแต่ละปี 5. การละเมิดสิทธิผู้กระทำผิดของผู้ต้องขังในกรมราชทัณฑ์ 6. ปัญหาทางโครงสร้างหรือปัญหาบุคคลของโครงสร้างในกระบวนการยุติธรรม ควรมีอิสระ ในตัวบุคคลเพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและการให้ความเคารพในตัวบุคคล 7. การปลูกฝังวินัยประชาชนตั้งแต่เด็ก อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ
อนึ่ง มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ได้เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการวิเคราะห์ SWOT และวิพากษ์(ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติฉบับที่3(พ.ศ.2562-2565) ที่เกี่ยวกับคนพิการด้วย (มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 10 พ.ค.60)