เพราะเมาแล้วขับ EP.1 เปิดชีวิตเหยื่อ ต้องกำพร้าแถมพิการตั้งแต่ 3 ขวบ

เพราะเมาแล้วขับ EP.1 เปิดชีวิตเหยื่อ ต้องกำพร้าแถมพิการตั้งแต่ 3 ขวบ

เปิดใจเหยื่อ 'เมาแล้วขับ' บาดแผลฝังลึก 20 ปี ต้องสูญเสียพ่อและแม่ ส่วนตนเองพิการเดินไม่ได้ตั้งแต่ 3 ขวบ เคยจมปลักอยู่กับความน้อยใจในชีวิต คิดเพียงว่า "ผมแค่อยากให้ขาขยับได้บ้าง" เรื่องราวของ 'อดิศักดิ์ ขาวบู่' ความพยายาม การต่อสู้ สู่ 'นักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลทีมชาติไทย'

"เมาแล้วทำไม ขับกลับไหวแล้วกัน" นี่น่าจะเป็นหนึ่งประโยคที่ใครหลายคนเคยได้ยิน จากผู้ที่ดื่มด่ำร่ำสุรา จนสติสัมปชัญญะอยู่ไม่ครบ แต่ยังดันทุรังขับยานพาหนะกลับเคหสถาน บ้างโชคดีถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย แต่บ้างก็นำพาโชคร้ายไปสู่ชีวิตของผู้อื่น

ทีมข่าวฯ ได้ชวน 'คุณอดิศักดิ์ ขาวบู่' หรือ 'แอ๊ด' อายุ 23 ปี นักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลทีมชาติไทย มาร่วมแชร์ประสบการณ์ จากการสูญเสียทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาได้รับจากคน 'เมาแล้วขับ'

เรื่องราวแห่งชีวิตของคุณแอ๊ดต่อจากนี้ เราหวังว่าจะเป็นเครื่องช่วยกระตุกจิตกระตุ้นใจ ให้คุณผู้อ่านทุกคนตระหนักถึงความร้ายแรงของการ 'เมาแล้วขับ' และช่วยยับยั้งใจให้ทุกคนมีสติมากขึ้น ก่อนที่คุณจะกลายเป็นฆาตกรโดยเจตนา!

เพราะเมาแล้วขับ EP.1 เปิดชีวิตเหยื่อ ต้องกำพร้าแถมพิการตั้งแต่ 3 ขวบ

จุดเริ่มต้นการสูญเสียจากคน 'เมาแล้วขับ' :

ทีมข่าวฯ และปลายสายขอพาผู้อ่านทุกท่าน นั่งไทม์แมชชีนที่เรียกว่า ความทรงจำ ย้อนกลับไปประมาณ 20 ปีก่อน เมื่อครั้งที่ นายอดิศักดิ์ ยังเป็น ด.ช.อดิศักดิ์ วัย 3 ขวบ อย่างไรก็ตาม แอ๊ดเอ่ยก่อนจะเล่าเรื่องราวให้เราฟังว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้นผมจำไม่ได้ทั้งหมด มีคนมาเล่าให้ฟังอีกที

คุณพ่อ คุณแม่ และแอ๊ด จอดรถซาเล้งติดไฟแดงอยู่บริเวณที่แยกท่ามะกา จ.กาญจนบุรี หมุดหมายของ 3 ชีวิต คือ การเดินทางไปหาคุณปู่ที่อยู่ตลาดท่าเรือ ระหว่างนั้น คุณแม่ได้สังเกตเห็นว่า รถเมล์ประจำทางของ อ.บ้านโป่ง สภาพเก่า ทรุดโทรม กำลังขับมาจากด้านหลังด้วยความเร็ว ไม่มีทีท่าว่าจะเบรกรถ สัญชาตญาณความเป็นแม่จึงรีบปกป้องลูกน้อยสุดชีวิต

"ตอนนั้นผมยังเด็กมาก พอแม่เห็นว่ารถกำลังพุ่งเข้ามา จึงตัดสินใจโยนผมออกจากรถ หลังกระแทกเข้ากับฟุตปาท ทำให้อวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บ กระดูกหัก ทำให้ผมเดินไม่ได้ตั้งแต่ตอนนั้น"

หลังจากโยนน้องแอ๊ดออกจากรถซาเล้ง รถเมล์ได้พุ่งเข้าปะทะ 2 ชีวิตเต็มแรง ทำให้คุณพ่อเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ ส่วนคุณแม่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังจากแพทย์พยายามยื้อชีวิตอยู่ 2 วันก็ไม่เป็นผล พิษบาดแผลที่เกิดขึ้นทำให้คุณแม่ถึงแก่กรรมแบบไม่มีวันหวนกลับ

คุณอดิศักดิ์ เล่าความทรงจำอันเลือนรางให้เราฟังว่า เท่าที่ผมจำได้เอง ตอนนั้นลืมตาขึ้นมาด้วยความสะลึมสะลือ ภาพตัดไปตัดมาคล้ายกับในหนัง ผมนอนอยู่บนรถกระบะ ซึ่งมีแม่นอนอยู่ข้างๆ แต่ไม่รู้ว่าพ่ออยู่ไหน ไม่ทราบว่าสภาพร่างของพ่อเป็นยังไงบ้าง แล้วผมก็สลบ ฟื้นอีกทีก็ผ่านไปหลายวันแล้ว

ส่วนคู่กรณี ผมทราบมาว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบรถพบขวดเหล้าขาว ส่วนคนขับอยู่ในอาการไม่ค่อยมีสติ เรียกง่ายๆ ว่า 'เมา' ผมไม่ทราบว่าบนรถมีผู้โดยสารคนอื่นหรือไม่ แต่มีคำถามคาใจว่า ทางเจ้าของรถปล่อยให้เขาออกมาขับได้ยังไง?

แต่การสูญเสียของ ด.ช.อดิศักดิ์ ไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น เขาเปิดใจกับทีมข่าวฯ ว่า "ตอนที่ผมยังไม่ฟื้น ยายกินยาฆ่าตัวตาย เพราะตรอมใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น" ชีวิตของเขาจึงเหลือเพียงคุณตา และพี่ชาย ส่วนญาติทางฝั่งคุณพ่อ ก็ไม่ได้ติดต่อกันอีก

เพราะเมาแล้วขับ EP.1 เปิดชีวิตเหยื่อ ต้องกำพร้าแถมพิการตั้งแต่ 3 ขวบ

"ผมแค่อยากให้ขาขยับได้บ้าง" :

นักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลทีมชาติไทย เล่าต่อว่า ช่วงแรกที่สูญเสียขา ยังไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะตอนนั้นเรายังจำไม่ได้ว่าเราเดินได้ไหม คิดแค่ว่าอาจจะเกิดมาประมาณนี้อยู่แล้ว แต่พอนานวันเข้าได้อยู่กับเพื่อนๆ เห็นเขาไปเล่นตรงโน้นตรงนี้ เริ่มรู้สึกน้อยใจที่เราเดินไม่ได้ พอกลับบ้านมาก็ทำร้ายตัวเอง

"ผมกลับมาทุบขาตัวเอง ด้วยความรู้สึกที่ว่า 'ทำไมไม่รู้สึกวะ' มันน้อยใจตัวเองไปหมด ความคิดตีกันอยู่ในหัว ไม่ได้อยากจะทำร้ายร่างกายตัวเอง แต่อยากให้ขามีความรู้สึก อยากให้มันขยับได้บ้าง เพราะตอนนั้นถึงจะมีขาติดตัวอยู่ แต่ไม่รู้สึกเลยว่ามันอยู่ตรงนั้น เหมือนมีไว้แกว่งไปแกว่งมา"

"ผมรู้สึกน้อยใจชีวิตนะ พอเราเริ่มโตแล้ว นั่งมองเพื่อนที่เขาไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ส่วนเราแม้จะอยากรู้อยากเห็นแค่ไหน กลับกลายเป็นว่า ได้อยู่แต่บ้านมองผ่านหน้าประตูออกไป คิดวนว่า ทำไมเราไม่สามารถไปไหนได้"

แอ๊ดบอกกับเราว่า ช่วงนั้นเพื่อนรอบตัวผมไม่มีใครล้อเรื่องพิการ แต่กับคนข้างนอก ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนมอง มองเหมือนเราเป็นคนเหลือขอ ผมรู้สึกว่าตอนนั้นมันเป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกแย่ พวกเขาอาจจะไม่ได้พูดออกจากปาก แต่เรามองผ่านสายตาที่เขามองมาหาเรา มันมีความรู้สึกแบบนั้นเกิดขึ้นมาในใจ แต่ปัจจุบันเหตุการณ์ลักษณะนี้ถือว่าดีขึ้น คนมองโลกกว้างขึ้น ไม่ได้มองว่าคนพิการต้องเป็นขอทานอย่างเดียว "แต่ช่วงวัยเด็กผมยอมรับว่ารู้สึกแย่มาก"

ชีวิตวัยเด็กของแอ๊ดยิ่งลำบากมากขึ้น เพราะที่บ้านไม่มีเงิน ทำให้เขาไม่มีทุนทรัพย์พอที่จะซื้อวีลแชร์นั่ง คุณตาจึงต้องต่อไม้กระดานใส่ล้อให้ใช้ เพื่อแก้ขัดไปก่อน ทำให้เกิดอุปสรรคในการเดินทางไปบางพื้นที่ หรือทำกิจกรรมบางอย่างไม่สะดวก ในส่วนนี้แอ๊ดกล่าวเสริมกับเราว่า แต่ช่วงที่เริ่มโตขึ้น พอมีวีลแชร์ใช้ก็ไปไหนได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีความคิดเข้ามาในหัวว่า ทำไมถึงเดินไม่ได้ ใจคิดถึงแต่เรื่องอุบัติเหตุ

"พ่อแม่ให้ชีวิตมาแล้ว ผมต้องอยู่ให้ได้":

เราถามปลายสายว่า จมอยู่กับความคิดเรื่องสูญเสียขาอยู่นานไหม? "ไม่เท่าไรครับ" แอ๊ดตอบกลับ ก่อนจะกล่าวความในใจเสริมว่า

ผมคิดเรื่องเสียขาถึงประมาณ 10 ขวบ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้คิดว่ามันลำบากแล้ว เพราะเริ่มปรับตัวและอยู่กับมันได้ แต่กลับมาคิดเรื่องการสูญเสียพ่อแม่แทน เป็นความรู้สึกไม่ดีที่วนเข้ามาในใจเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าเราขาดพ่อแม่ อยากได้พวกเขากลับมา ทั้งที่ก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้แล้ว แต่ยังนึกถามอยู่ในใจตลอดว่า ทำไมเขาต้องเมามาชนเรา แล้วทำไมต้องเป็นครอบครัวเรา

"มีอีกเรื่องที่ผมรู้สึกว่าสูญเสีย คือ 'การใช้ชีวิตในอนาคต' ซึ่งมันอาจจะไปได้ดีกว่านี้ หรือเราอาจจะกลายเป็นเสาหลักของบ้าน หาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ได้ทำงานดีๆ ใช้ชีวิตที่ดีกว่านี้ในหลายๆ ด้าน แต่สิ่งที่ผมมองว่าสูญเสียจริงๆ และคาอยู่ในใจ คือ การสูญเสียพ่อกับแม่ ผมมองว่านี่เป็นการสูญเสียใหญ่ที่สุด ที่ไม่มีอะไรมาแทนได้ ให้ผมเกิดอุบัติเหตุแล้วเดินไม่ได้ ยังยอมรับง่ายกว่าการสูญเสียพ่อแม่"

อดิศักดิ์ เปิดใจกับทีมข่าวฯ ว่า ตอนเด็กเรารู้สึกว่า เราขาดความรักที่จะได้รับจากพ่อแม่ แต่ทุกวันนี้ได้เจอโลกมากขึ้น ทำให้รู้สึกเข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้นว่า การจมอยู่กับความทุกข์ตรงนั้น จะยิ่งซ้ำเติมให้ใจเราแย่ เราต้องใช้ชีวิตต่อไป ในเมื่อพ่อกับแม่ให้ชีวิตเรามาแล้ว ต้องอยู่ให้ได้ ทำวันนี้และตรงนี้ให้ดีที่สุด ทุกวันนี้ผมเลยอยู่เพื่อตัวเอง และเพื่อพ่อกับแม่ที่จากไป

สู่อ้อมอกมูลนิธิเมาไม่ขับ :

คุณอดิศักดิ์ บอกว่า ช่วงที่อายุได้ประมาณ 4 ขวบ ทาง มูลนิธิเมาไม่ขับ โดย นพ.แท้จริง ศิริพานิช ประสานมอบความช่วยเหลือผ่านนายกสมาคม จ.กาญจนบุรี โดยเขาจะมารับไปดูแลและส่งเรียน ซึ่งคุณหมอแท้จริงได้ประสานให้ ลุงบี (ภัทรพันธุ์ กฤษณา ประธานเครือข่ายเมาแล้วขับ) มารับผมไปอยู่ด้วย และฝากเข้าเรียนในโรงเรียนศรีสังวาลย์ จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนคนพิการ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการเรียนเท่าไร แต่มีช่วงหนึ่งในวัยเด็กที่เราเกเร เพราะรู้สึกขาดความอบอุ่น เลยอยากเป็นที่สนใจ

แอ๊ดบอกกับเราว่า การที่ชีวิตมีคุณบีและมูลนิธิเข้ามาอุปถัมภ์ เหมือนเป็นความโชคดีในความโชคร้าย เพราะคุณบีไม่ได้อุปถัมภ์แค่ตนเอง แต่ยังอุปการะพี่ชายอีกด้วย ทำให้ตนและพี่ชายมีโอกาสทางการศึกษา มีที่อยู่ และมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

"แต่ช่วงที่ผมยังเด็กประมาณ 5-6 ขวบ ผมก็ไม่ได้อยู่กับคุณบีตลอด ยังคง ไป-กลับ กาญจนบุรีด้วย เพราะไปอยู่กับตาบ้างครั้งคราว" แอ๊ดกล่าวเสริมระหว่างสนทนา

"ตอนนี้ผมโอเคขึ้นมากแล้ว เรื่องการใช้ชีวิตก็รู้สึกว่าตัวเองทำได้ดีกว่าแต่ก่อน ด้วยทางมูลนิธิ เครือข่าย และลุงบีดูแลเรามา ส่งเรียน ส่งทำกิจกรรม ส่งเล่นกีฬา ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน จนวันนี้ผมได้เป็นนักกีฬาทีมชาติแล้ว สามารถหาเงินเลี้ยงตัวเองได้ ดูแลตัวเองได้"

"ถึงยังจะมีบางอย่างที่ติดๆ ขัดๆ เช่น การเดินทาง บางทีทางไม่สะดวก ก็ต้องพยายามกว่าเดิมหน่อย ต้องเรียนรู้และอยู่ให้ได้ แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังโอเค เพราะมันก็เป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ และคงเป็นต่อไปอีก"

ทำไมคิดว่าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ? ทีมข่าวฯ ถามกลับ

"ผมก็บอกไม่ถูกนะ ขนาดกรุงเทพฯ ที่ว่าเจริญแล้ว แต่มันก็ยังไม่ได้ขนาดนั้น มีของมาขายบนฟุตปาท พื้นพัง ไม่เรียบ มีป้ายติด มีของวาง ทำให้บางครั้งผมต้องลงไปใช้วีลแชร์ตรงถนนเดียวกับรถยนต์ เรื่องนี้ก็เป็นมาหลายปีแล้วนะ ผมพิการมาหลายปี อาจมีเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก็แค่เล็กน้อย" อดิศักดิ์แสดงความคิดเห็นกลับมา

การก้าวสู่นักกีฬาทีมชาติ :

เราได้เห็นการสู้ชีวิตของชายที่ชื่ออดิศักดิ์มาพอสมควรแล้ว เรามาลองดูมุมสู้ชีวิต และความพยายามก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนักกีฬาทีมชาติของเขาบ้างดีกว่า… หากคุณผู้อ่านได้สังเกตรูปที่ใช้ประกอบสกู๊ปนี้ จะพบว่าเกือบ 100% เป็นรูปคุณแอ๊ดเล่นบาสเกตบอล เพราะตัวเขาเองเป็น นักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลทีมชาติไทย ซึ่งนี่ถือเป็นความภูมิใจในชีวิตเขา นอกจากนั้นคุณแอ๊ดยังกระซิบบอกเรามาว่า "ผมไม่ค่อยมีรูปทั่วไปเลยครับ ไม่ได้ถ่ายเก็บไว้เลย"

อดิศักดิ์ เล่าว่า ลุงบีเป็น นายกสมาคมวีลแชร์บาสเกตบอลไทย ทำให้ผมมีโอกาสตามลุงไปสนามบาสตั้งแต่ยังเล็ก พอเราเห็นบ่อยเข้า ก็ได้เข้าไปคลุกคลีกับพี่ๆ จนรู้สึกผูกพันกับกีฬานี้ไปโดยปริยาย

"พวกรุ่นพี่ในสนามเขาเป็นคนสอนผมเล่น ตั้งแต่ประมาณ 5 ขวบ คงเพราะเขาเห็นผมไปสนามบ่อย แล้วตอนนั้นผมตัวเล็กมาก (หัวเราะ) เขาสอนผมเลี้ยงบอล ถือบอล สอนเหมือนสอนเด็กคนหนึ่งเล่นกีฬาเลย แล้วก็ค่อยๆ เติมเทคนิคการเล่นให้ทีละนิด ช่วงแรกผมก็ยังจำอะไรไม่ได้ มาเริ่มจำความได้ช่วง 7 ขวบ"

ความพยายามและการเรียนรู้แบบเก็บเล็กผสมน้อย ทำให้เมื่ออายุ 15 ปี คุณอดิศักดิ์ได้เริ่มเข้าเล่นทีมชาติ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี เขาบอกกับเราว่า ช่วงนั้นต้องเริ่มเก็บตัว ฝึกซ้อม เตรียมแข่ง เพื่อคัดในโซนประเทศตัวเอง เตรียมตัวไปชิงแชมป์โลก หลังจากนั้นก็เล่นยาวมาตลอด

คุณแอ๊ด กล่าวเสริมส่วนนี้ว่า "จริงๆ ช่วงที่เก็บตัว พี่ๆ ไม่ได้สอนแค่เรื่องกีฬานะครับ เขาสอนกระทั่งการใช้ชีวิตประจำวันเลย ซึ่งตรงนั้นที่อยู่ด้วยกัน ไม่มีนักกีฬาคนไหนเดินได้เลย"

แล้วความยาก-ง่าย ของการเล่นกีฬาคืออะไร? ทีมข่าวฯ ถามปลายสายขึ้นมา

นักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลทีมชาติไทย ตอบว่า มันต้องใช้ความไหวพริบสูง ประสบการณ์มาก และต้องมีความพยายามอย่างหนักหน่วง มันเหนื่อยมากนะ แล้วก็ท้อมากด้วย ด้วยความที่ผมตัวเล็กที่สุดในรุ่นที่เล่นด้วยกัน ทำให้พละกำลังไม่เท่าคนอื่น ผมต้องซ้อมหนัก เล่นฟิตเนสหนัก ทำทุกอย่างคูณ 2 เข้าไว้

"ผมมีความได้เปรียบเล็กน้อยตรงที่ผมพิการมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ชินกับการใช้วีลแชร์ และแม้ว่าผมจะได้ชื่อว่าหลานลุงบี เขาก็ไม่เคยสปอยล์ผม แต่เขาจะพยายามผลักดันมากกว่า เขามักจะบอกว่า ถ้าทำไม่ได้ก็พยายามมากกว่านี้ ถ้าไม่ได้อีกก็ต้องพยายามอีก ผมเลยสู้มาตลอดเพราะไม่อยากให้ใครมองว่าเป็นเด็กเส้น"

คุณแอ๊ด บรรยายความรู้สึกต่อไปว่า ทุกแมตช์ที่ลงแข่ง ผมพยายามศึกษาผู้เล่นคนอื่นๆ จดจำประสบการณ์ที่เขาถ่ายทอดให้ และนำไปใช้ในสนาม จนวันหนึ่งเราก้าวมาสู่จุดของรุ่นใหญ่ได้ กว่าผมจะได้ขึ้นมาเล่นชุดใหญ่ก็ช่วงอายุ 20 ปีแล้ว ใช้เวลาฝึกฝนตัวเองประมาณ 5-6 ปี

วันที่รู้ผลว่าได้เป็นทีมชาติรู้สึกอย่างไรบ้าง?

"วันที่ประกาศชื่อว่าติดทีมชาติ ผมงง อึ้งกับตัวเอง เพราะดีใจมาก มันก็คุ้มกับที่พยายามไป ต้องขอบคุณตัวเราที่ไม่ยอมแพ้ ส่วนช่วงนี้มีตารางที่จะไปแข่ง ซึ่งไม่ใช่แมตช์ทางการ เกาหลีใต้เชิญให้เราไปแข่งในประเทศเขา แต่อย่างน้อยเราก็จะได้ประสบการณ์การแข่งเพิ่มขึ้น" แอ๊ดกล่าวกับเราอย่างภาคภูมิใจ

สิ่งที่อยากฝากถึง 'เมาแล้วขับ' :

เมื่อเราถามว่า มีอะไรอยากฝากถึงกรณีเมาแล้วขับบ้างหรือไม่? แอ๊ดให้คำตอบว่า ผมอยากจะบอกว่า คนเรากินเหล้าแล้วเมาไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเป็นปกติของมนุษย์ แต่คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ ต้องรับผิดชอบตัวเองให้ได้ ต้องรู้ตัวเองว่าเมาแล้วควรทำตัวอย่างไร รู้ว่าเมาแล้วก็ไม่ควรขับรถ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดทั้งสิ้น

"ถ้าคุณเมาแล้วขับ วันหนึ่งเกิดความสูญเสียมามันจะไม่คุ้มกับชีวิตคนอื่น สมมติว่าคุณดื่มมา 10 วัน ขับรถกลับได้แบบไม่ชนใครเลย แต่ใครจะไปรู้ว่า วันที่ 11 คุณอาจจะชนคนอื่นก็ได้ แม้ว่าคุณจะโชคดีที่ไม่เป็นอะไร แต่คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่า ตัวเองพรากอะไรไปจากชีวิตคนอื่นบ้าง"

คุณอดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า หรือถ้าตัวคุณต้องเป็นฝ่ายสูญเสียเอง มันก็แย่เหมือนกันนะ ลองคิดดูสิว่า จากที่เคยเป็นเสาหลักของบ้าน ทุกคนต้องหันมาดูแลคุณ มันยิ่งแสดงให้เห็นว่า 'เมาแล้วขับ' ไม่มีอะไรคุ้มเลย สิ่งที่ได้มีแต่ความเสี่ยง และการสูญเสีย นอกจากนั้น สำหรับผมแล้ว 'เมาแล้วขับ' มันเป็นการ 'เจตนาฆ่า' ดีๆ นี่เอง

เพราะคุณรู้อยู่เต็มอกว่าเมา แต่ยังดันทุรังจะขับรถ ทุกวันนี้เวลาผ่านสถานบันเทิง ผมเห็นคนเมาเดินออกมา ผมก็ได้แต่คิดว่า ขอให้ไม่มีความสูญเสียเกิดขึ้น และผมก็อยากให้กฎหมายแข็งกว่านี้ อยากให้จัดการคนทำผิดให้ได้

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2783158

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 7 เม.ย.67
วันที่โพสต์: 7/05/2567 เวลา 15:07:51 ดูภาพสไลด์โชว์ เพราะเมาแล้วขับ EP.1 เปิดชีวิตเหยื่อ ต้องกำพร้าแถมพิการตั้งแต่ 3 ขวบ