ประธานพาราไทย มั่นใจทัพคนพิการไทย พร้อมลุยพาราเกมส์ ที่จีน
ร.ท.ณัยณพ ภิรมย์ภักดี ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกเเห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปดูการฝึกซ้อมของนักกีฬาพาราไทยที่กำลังเก็บตัวเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน “เอเชียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 4” ระหว่างวันที่ 22-28 ตุลาคม 2566 ที่นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ศูนย์ฝึกกีฬาคนพิการ จ.สุพรรณบุรี
โดย ร.ท.ณัยณพ ภิรมย์ภักดี ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกเเห่งประเทศไทย กล่าวหลังดูการฝึกซ้อมของนักกีฬาพาราไทยว่า นักกีฬาของเรามีความพร้อมรวมถึงมีความมั่นใจ ซึ่งนักกีฬาชุดนี้ได้เก็บตัวมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ยาวมาตั้งแต่ก่อนแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ที่กัมพูชา เราเชื่อมั่นว่าจะทำผลงานได้ดี ถึงแม้ว่าในหลายๆประเทศจะพัฒนากีฬาคนพิการได้อย่างรวดเร็ว แต่จากความพร้อมของเราเชื่อว่านักกีฬาพาราไทยจะสามารถสร้างผลงานได้ดีกว่าการแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ครั้งที่ผ่านมา ที่อินโดนีเซีย ที่ได้อันดับที่ 7 ผลงาน 23 เหรียญทอง 32 เหรียญเงิน 50 เหรียญทองแดง
“นอกจากนี้สิ่งที่คณะกรรมการพาราลิมปิกไทยให้ความสำคัญมาตลอด คือ การสร้างนักกีฬาดาวรุ่งหน้าใหม่ ซึ่งในการแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ครั้งนี้ก็มีนักกีฬาดาวรุ่งฝีมือดีหน้าใหม่หลายคนเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อสร้างประสบการณ์ เป็นการเตรียมความพร้อมสู่เป้าหมายหลักของเรา คือ พาราลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ปารีส ที่คาดหวังว่าจะมีนักกีฬาไทยผ่านควอลิฟายเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสได้ในการคว้าเหรียญรางวัลให้กับประเทศไทยมากกว่าเดิม”
ขณะที่นายไมตรี คงเรือง เลขาธิการสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาคมกีฬาคนพิการที่มีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ เผยถึงความพร้อมในการเตรียมนักกีฬาว่า ขณะนี้นักกีฬาภายใต้การดูแลของสมาคมฯมีความพร้อมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เราฝึกซ้อมและเก็บตัวมานาน ทำผลงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เชื่อว่านักกีฬาของเราจะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะสร้างความสำเร็จในการแข่งขันครั้งนี้
“ตั้งแต่เริ่มเก็บตัวจนถึงความสำเร็จในอาเซียนพาราเกมส์ ที่ กัมพูชา เห็นได้ชัดว่านักกีฬาของเรามีพัฒนาการที่ดีขึ้น นักกีฬาประเภทสถิติสามารถทำลายสถิติได้หลายรายการ ที่สำคัญเป็นนักกีฬารุ่นใหม่ที่แจ้งเกิดขึ้นมา เช่น กีฬาว่ายน้ำ จากเดิมเราได้ 10 กว่าเหรียญ แต่ครั้งนี้ได้มา 20 กว่าเหรียญทอง และมีนักกีฬาที่สามารถทำลายสถิติเอเชียได้ ผลงานจากอาเซียนพาราเกมส์นั้นเป็นตัวบ่งบอกทิศทางที่เราทำ มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต ซึ่งเราหวังว่ามันจะนำไปสู่การต่อยอดโดยมีจุดหมายปลายทางคือ ปารีส 2024 ส่วนเอเชียนพาราเกมส์ครั้งนี้ เราได้เหรียญรางวัลไม่น้อยกว่าเดิมแน่นอน
ด้านนายภัทรพันธ์ กฤษณา นายกสมาคมวีลแชร์บาสเกตบอลไทย หนึ่งในสมาคมกีฬาคนพิการที่มีความพร้อมในการปรับโครงสร้างตาม IPC (International Paralympic Committee) เผยว่า “สำหรับทีมชายดูจากสายแล้วมีโอกาสผ่านเข้าถึงรอบรอง แต่เราอาจจะต้องไปเจอจีนเจ้าภาพในรอบ 8 ทีม ซึ่งเราชนะเขามา 3 ครั้งรวด และในครั้งนี้เราน่าจะสามารถผ่านไปได้ ส่วนรอบรองฯ คาดว่าน่าจะเข้าไปเจอกับญี่ปุ่นซึ่งมีดีกรีเหรียญเงินพาราลิมปิก แม้ว่าจะเป็นงานยาก แต่ในวันที่เราพร้อมอะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าวันแข่งเราสามารถเค้นฟอร์มการเล่นที่ดีออกมาได้ เราก็สามารถสู้ได้ทุกทีม ซึ่งเป้าหมายของทีมชายคืออย่างน้อยต้องติด 1 ใน 3 ให้ได้”
“ส่วนทีมหญิงครั้งที่แล้วเราได้เหรียญทองแดง จากการชนะอิหร่าน 1 แต้ม ในครั้งนี้เรามีการเตรียมทีมมาเป็นอย่างดี วางแผนการซ้อมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ประกอบกับมีนักกีฬาดาวรุ่งเข้ามาเสริม เล่นเข้าขากันได้ดี มั่นใจว่าทีมหญิงของเราอย่างน้อยที่สุดต้องรักษาเหรียญทองแดงไว้ให้ได้”
ด้านทองสา มารศรี นักยกน้ำหนักพาราลิมปิกทีมชาติไทย กล่าวว่า “ตั้งแต่อาเซียนพาราเกมส์มา โค้ชวางแผนให้ฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ร่างกายมีความฟิตอยู่ตลอดเวลา ส่วนเป้าหมายในครั้งนี้วางเอาไว้ติด 1 ใน 3 เพื่อคว้าเหรียญกลับมาให้ได้”
สำหรับนักกีฬาพาราไทยรวมถึงเจ้าหน้าที่ทีมทั้งหมด 491 คน จะลงชิงชัยใน “เอเชียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 4” ทั้งสิ้น 22 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย ยิงธนู, กรีฑา, แบดมินตัน, บอคเซีย, เรือแคนู, หมากรุก, จักรยาน, ฟุตบอล 5 คน, หมากล้อม, โกลบอล, ยูโด, ลอนโบวล์ส, ยกน้ำหนัก, เรือพาย, ยิงปืน, วอลเลย์บอลนั่ง, ว่ายน้ำ, เทเบิลเทนนิส, เทควันโด, วีลแชร์บาสเกตบอล, วีลแชร์ฟันดาบ และวีลแชร์เทนนิส
ซึ่งผลงานทัพนักกีฬาพาราไทยในการแข่งขัน “เอเชียนพาราเกมส์ 2018” ครั้งที่ผ่านมา ที่ประเทศอินโดนีเซีย ทำผลงาน 23 เหรียญทอง 32 เหรียญเงิน 50 เหรียญทองแดง จบการแข่งขันในอับดับที่ 7