จุดรวมพลคนพิการ สู่พาราลิมปิกเกมส์

จุดรวมพลคนพิการ สู่พาราลิมปิกเกมส์

จบไปแล้วกับ “ขแมร์ซีเกมส์” ครั้งที่ 32 คราต่อไป ถึงคิว “ประเทศไทย” เป็นเจ้าภาพที่กรุงเทพฯ ชลบุรี สงขลา ปี 2568... และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็เพิ่งสิ้นสุดการแข่งขันกีฬาคนพิการนานาชาติ “พารา แบดมินตัน อินเตอร์เนชั่นแนล” ที่สวนนงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี

ครั้งนี้มีนักกีฬาผู้พิการหัวใจเหล็ก 320 คน เจ้าหน้าที่ 100 คนจาก 34 ประเทศเข้าร่วมชิงชัย...นัยว่าวอร์มอัปเตรียมรับ “อาเซียนพาราเกมส์” หลังจบซีเกมส์ในไทย

ประเด็นสำคัญมีว่า “ผู้บกพร่องทางร่างกาย”...องค์การอนามัยโลก (ฮู) สะท้อนข้อมูลไว้ว่า ขณะนี้โลกมีประชากรราว 7.5 พันล้านคน เป็นคนพิการ 15% คำนวณคร่าวๆก็ราว 800 ล้านคน แต่ละคนมีต้นเหตุแตกต่างกัน แต่แยกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่...คือ “พิการโดยกำเนิด” กับ “เกิดอุบัติเหตุขึ้นภายหลัง”

คนเหล่านี้...พบว่าเดิมน่าห่วงใยในพฤติกรรม คือชอบเก็บตัวเงียบไม่สู้จะออกมาใช้ชีวิตในโลกกว้าง...ต่อมาเมื่อเริ่มเข้าใจวิถีและเลิกพ่ายแพ้ต่อเกมชีวิตกลับไม่ยอมเป็นภาระแก่สังคม เพียงแต่ช่วยสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้...แค่นั้นเป็นพอ

ตัวอย่างคนประเภทเดียวกันในแต่ละประเทศมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลถึงกัน เช่น ความพร้อมทางลาดสำหรับวีลแชร์รองรับการเดินทางและอาคารสถานที่ให้บริการโดยไม่รบกวนผู้ใด...พวกเขาจึงยินดีตัดสินใจจะไปเยือนทันที

ตอกย้ำด้วยข้อมูลจากงานวิจัยถึงมูลค่านักท่องเที่ยวกลุ่มผู้พิการตลาดยุโรป ซึ่งเป็นนิชมาร์เกตขนาดใหญ่ของไทย คาดแนวโน้มอยู่ที่ 160 ล้านคนปี 2025 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า โดย 70% คือคนรักการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แม้ร่างกายจะไม่อำนวยแต่ไม่ใช่อุปสรรคกับพวกเขา

แน่นอนว่าธุรกิจนำเที่ยวรายใหญ่มีเป้าหมายให้ความสำคัญ เพราะส่วนใหญ่เป็นโอนเนอร์ธุรกิจที่มีกำลังซื้อสูง สร้างรายได้ท่องเที่ยวถึงปีละ 160.6 พันล้านยูโรหรือ 5.94 พันล้านบาท มากกว่าคนปกติถึง 1.16 เท่า...และเขาเหล่านี้ไม่นิยมเดินทางลำพังจะไปพร้อมเพื่อนหรือญาติตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป

เอาเป็นว่าบ้านเราก็เคยสนใจตลาดนี้...ลงทุนออกแคมเปญเอาใจ “ท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” สุดปังด้วย “ทัวริซึ่ม ฟอร์ ออล” บอกไม่มีช่องว่างในหมู่มวลมนุษย์สัญญาจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง...แล้วไฟก็ไหม้ฟางไปกระพือใส่ตลาด “แอลจีบีทีคิว” แทน

น่าสนใจอีกว่าตลาดนี้นอกจากจะเป็นทัวริสต์คุณภาพแล้ว...การเล่นกีฬาผู้พิการก็ถือว่ามีค่ายิ่งต่อการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบัน ด้วยว่าหลายๆคนอดทนฝึกฝนจนคนทั้งโลกยอมรับ

อาทิ ทริสซา ซอร์น เงือกสาวผู้พิการสายตาสหรัฐฯ โยนาส ยาค็อปสัน หนุ่มนักแม่นปืนบนวีลแชร์ชาวสวีเดน เบียทริซ เฮสส์ เงือกสาวชาวฝรั่งเศสผู้พิการสมองและร่างกาย เจ้าของเหรียญทอง 50 เหรียญในมหกรรมกีฬาต่างๆ โดยเฉพาะพาราลิมปิกเกมส์ครั้งที่ผ่านมา

ตัดกลับมาที่ “ไทยแลนด์ พารา แบดมินตัน อินเตอร์ฯ” สวนนงนุชพัทยา พิพัฒน์ จันทระไพจิตร เลขาธิการสมาคมกีฬาแบดมินตันคนพิการแห่งประเทศไทย ในฐานะรองผู้ควบคุมการแข่งขัน บอกว่า

ครั้งนี้ได้รับการรับรองจากสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ (บีดับเบิลยูเอฟ) โดยเป็นการเก็บสะสมคะแนนรายการที่ 4 จาก 12 รายการ เพื่อนำไปสู่ความฝันในการแข่งขัน “พาราลิมปิกเกมส์ 2024” ปีหน้า ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส

“ทั้งนี้ คัดเอาผู้พิการอวัยวะแขนหรือขา ผู้เคลื่อนไหวบนวีลแชร์ และร่างกายเตี้ย แคระแกร็น ทำคะแนนสะสมได้อันดับ 1 ถึง 6 จาก 6 รายการ 34 ประเทศ 320 คน เป็นคนไทย 37 คน นอกนั้นเป็นเจ้าหน้าที่กรรมการและแชมป์พาราลิมปิกโตเกียว 2020 รวม 3,000 คน ร่วมอีเวนต์”

พิพัฒน์ ย้ำว่า ครั้งนี้เราต้องบิดการเป็นเจ้าภาพชนะคู่แข่งแคนาดามาได้ด้วยเหตุผล กรรมการทุกฝ่ายเห็นถึงความพร้อมและมีมาตรฐานสากลคือ มีสนามแข่ง 6 ซ้อม 4 นักกีฬาและผู้ร่วมงานพักที่เดียวกัน ค่าลงทะเบียนนักกีฬาคนละ 150 เหรียญยูเอสฯ ตลอดการซ้อมและแข่งขัน 10 วัน...

ที่สำคัญต้นปีหน้าสหพันธ์แบดมินตันโลกจะจัดแข่ง “เวิลด์ พารา แบดมินตัน แชมเปียนชิป” ที่สวนนงนุชพัทยานี้อีกเช่นกัน

กัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา เสริมว่า เราเคยได้รับการคัดเลือกเป็นสถานที่แข่งขันกีฬานานาชาติ เช่น ปิงปอง ชกมวย และกีฬาอินดอร์หลายชนิดมาก่อน

สำหรับกีฬาคนพิการหนนี้เป็นครั้งแรกแต่ไม่มีปัญหา เพราะมีห้องพักสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ รับได้ 127 ห้อง ที่นงนุชบูติค-เทรดดิชั่นรีสอร์ท และผู้เกี่ยวข้องพักที่โรงแรมนงนุชและนงนุชรีสอร์ทอีก 110 ห้อง

ส่วนสนามแข่งขันมีอาคารศูนย์ประชุมนานาชาติพื้นที่ 5,760 ตารางเมตร เป็นสถานแข่งขัน 10 สนามได้สบายๆ พร้อมอุปกรณ์เช่น เครื่องมือสื่อสารดิจิทัล จอมอนิเตอร์รายงานผลการแข่งขัน ห้องประชุมแถลงข่าว

นอกจากนี้ ยังมีสระว่ายน้ำเพื่อคนพิการและห้องฟิตเนสออกกำลังกาย ห้องเลี้ยงอาหารและบุคลากรบริการเพียงพอกับสวนรีแลกซ์หลังจบการแข่งขันแต่ละวัน

ไค หยี ลิน นักกีฬาพิการแคระสูงเพียง 123 เซนติเมตร นักศึกษาวิชาบริหารธุรกิจชั้นปี 4 จากไทเป ไต้หวัน เล่นแบดมินตันมา 3 ปีตระเวนแข่งมาแล้วทั้งที่ญี่ปุ่น มาดริด ดูไบ บราซิล จีน และไทย ยอมรับ...สถานที่แข่งขันครั้งนี้สวยกว้างขวาง ที่พักหรูสบาย อาหาร เอเชียไม่แตกต่างกัน

อีกอย่างเคยมาแข่งเมืองไทยแล้ว 2 ครั้งจึงรู้สึกคุ้นเคย

“ที่ผ่านมาชอบญี่ปุ่นตรงสะอาดสะดวกและปลอดภัย เมืองไทยเสียอย่างเดียวอากาศร้อน ตอนแข่งขันต้องตบแป้งถึงหลายครั้ง แต่ชอบที่สุดคือการนวดแผนไทย” ไค หยี ลิน ว่า

ถึงตรงนี้อาจจะกล่าวได้ว่า... “โอเคนัมเบอร์วัน” ศัพท์วัยรุ่นหมายถึง “ได้เลย” หรือ “จัดมาเลย” กับการส่งเสริมคนหัวใจเหล็กเหล่านี้ให้มีที่ยืนผงาดได้ในสังคม

ด้วยการใช้กีฬาบ่งบอกถึงความสามารถเฉพาะตัวเฉกเช่นคนปกติ...

ขณะเดียวกันกับการที่บ้านเราได้รับความไว้วางใจ ให้เป็นประเทศเจ้าภาพจัดกีฬาระดับนานาชาติ ย่อมเป็นการยืนยันชาวโลกถึงเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองที่พอมี ไร้ซึ่งปัญหาเรื่องการก่อการร้ายหรือเหตุจลาจลกลางเมือง...และมีศักยภาพสูงด้านสถานที่แข่งขัน

ทั้งสองสิ่งนี้บอกได้เลย...มีคุณค่ามหาศาลกับ “ผู้พิการ” ไทยทั้งในระบบและนอกระบบร่วม 3.7 ล้านคน ในประชากรผู้พิการโลก 800 ล้านคน อันจะนำไปสู่ความจริงที่ว่า...“สัจธรรมแห่งความเสมอภาคของมนุษย์เท่านั้น-ที่จะค้ำจุนโลก”.

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/news/local/2710428

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 19 ก.ค.66
วันที่โพสต์: 19/07/2566 เวลา 14:43:07 ดูภาพสไลด์โชว์ จุดรวมพลคนพิการ สู่พาราลิมปิกเกมส์