ผ่าชีวิต "แชมป์โลกเพาะกายพิการ" ไม่ใช่เหล็กแค่แข้ง แต่ใจก็แกร่งด้วย!!
เส้นทางชีวิตสุดรุ่งโรจน์ของ “ตู่-สมศักดิ์” จากสตั๊นต์แมน-นักแสดง-นายแบบ กลับต้องพลิกผันมาเจออุบัติเหตุรถแหกโค้ง ถูกตัดขาจนกลายเป็นคนพิการ รับสภาพร่างกายตัวเองไม่ได้ ถึงขั้นฆ่าตัวตายด้วยการกินยาเกินขนาด กระทั่งคำพูดของแม่ ได้ฉุดให้เขาเปลี่ยนความคิดอีกครั้ง และสามารถคว้าแชมป์โลกทั้งการยกน้ำหนัก และเพาะกายมาได้สำเร็จ
ซิ่งบิ๊กไบค์! อุบัติเหตุเปลี่ยนชีวิต
จากชีวิตสตั๊นต์แมนมือโปร ร่วมงานระดับอินเตอร์ของฮ่องกงมามากมาย รวมทั้งงานแสดงในวงการบันเทิงไทย และยังรับงานนายแบบ จนชีวิตประสบความสำเร็จถึงขีดสุด แต่ชายกล้ามโตร่างใหญ่ ต้องเผชิญกับชีวิตที่พลิกผันอีกครั้งด้วยการใช้ชีวิตสุดเสี่ยง พารถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์คู่ใจ แหกโค้งหักศอก ที่จังหวัดกาญจนบุรี ในวันที่ 13 ส.ค.2544 จนต้องโดนตัดขาทิ้งเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้
เป็นผลให้เขารับสภาพตัวเองไม่ได้ทันทีและยังต้องรู้สึกว่าเป็นภาระของครอบครัว จึงได้ตัดสินใจกินยาเกินขนาดเพื่อฆ่าตัวตาย ไม่แค่นั้นชีวิตเขายังเล่นอะไรแผลงๆ กับบรรดาสัตว์ไม่มีทางสู้ จึงคิดว่าเป็นผลกรรมที่ทำให้ตัวเองได้รับความเจ็บปวดทรมานแทน
“ภาพของกรรมที่เราทำมันออกมาหมดเลย ตั้งแต่ชนหมา จับลูกหมาเหวี่ยงไปกลางอากาศ ตอนนั้นตัวเราก็เหวี่ยงเหมือนกัน ส่วนความเจ็บปวดอีกอย่างเราบดขยี้ปลิง มันดูดเลือดเรา ก็จับโยนไปที่ถนนให้รถสิบล้อเหยียบ ความทรมานก็คงไม่ต่างกัน แล้วขาหักก็เหมือนตอนเด็กๆ ไปยิงนกให้เขาขาหักครับ แล้วขาที่ผมโดนเฉือนทิ้งบ่อยๆ ก็คือจะเอาปลาไหลไปทำกิน แล้วสุดท้ายเวรกรรมมันตามมา เราโดนเฉือนทุกวัน เข็นเตียงไปเฉือนหั่นเนื้อที่เสียทุกวัน สร้างความเจ็บปวดทรมานทุกวันครับ”
ตู่-สมศักดิ์ ค้าขึ้น วัย 39 ปี เปิดใจสนทนากับทีมMGR Live จากชีวิตการงานที่กำลังรุ่ง ถึงช่วงวินาทีแห่งความเป็นความตาย หลังจากสู้กับความเจ็บปวดเขาได้ตัดสินใจลงแข่งยกน้ำหนักจากคำแนะนำของเพื่อน จนได้ “แชมป์โลกยกน้ำหนัก” รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 80 กิโลกรัม ที่อินเดีย
แต่หลังจากการลงแข่งยกน้ำหนักหลายรายการ เขาเริ่มมีอาการบาดเจ็บเรื่องข้อต่อ จึงหันมาเน้นเรื่องของการสร้างกล้ามเนื้ออย่าง “กีฬาเพาะกาย” แทน
กลายเป็นว่าการตัดสินใจยอมรับสภาพร่างกายตัวเองได้สลัดความอายทิ้งทั้งหมด ไม่ว่าเราจะทำอะไร เขาไม่ต้องอายแล้ว และยังมีความกล้าเข้ามาแทนที่อีกด้วย
“หลังจากประสบอุบัติเหตุผมก็พยายามไม่ใช่ชีวิตประมาทมากขึ้น ต้องคิดก่อน ไม่เอาเหมือนแต่ก่อนที่ค่อยคิดทีหลัง ไม่สนใจอะไร หลังๆ มาก็กลายเป็นต้องคิดก่อน วางแผนทุกอย่าง ต้องคอยดูหน้าดูหลัง คอยระวังตลอดว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเกิดมันผิดพลาดเราจะต้องทำยังไง จะต้องคอยแก้ไขยังไง คือกลายเป็นคนที่มีการวางแผนมากขึ้น เป็นการวางระบบของตัวเองมากขึ้นครับ
ก่อนเกิดอุบัติเหตุกับหลังเกิดอุบัติเหตุ ผมว่าความสบายมันต่างกัน ตอนนี้เราอาจจะไม่มีความประมาท แต่ตอนที่เป็นปกติความประมาทมันเยอะ ไม่สนใจใคร กลายเป็นต้องวางแผนในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้นแล้วก็ไม่ประมาท ทุกก้าวแม้กระทั่งการเดินผมจะค่อยๆ เดิน เพราะว่าจะระวังตัวมาก มันมีสติมากขึ้น ถ้าเราล้มครั้งหนึ่งมันก็เจ็บครับ”
สลัด "ความอาย" เอาชนะความคิด "ฆ่าตัวตาย"
หลังจากเหตุการณ์รถแหกโค้ง ทำให้เขาคิดว่าตัวเองเป็นภาระทางบ้าน จึงคิดสารพัดวิธีฆ่าตัวตาย แต่ก็ยังรอดตายมาได้ แต่นั่นเป็นเหมือนกับการได้ชดใช้กรรมด้วยความทรมานในร่างกายทั้งหมดแทน
“พอผมเจอแม่อีกรอบ แม่ก็เลยบอกว่า ถ้าคิดจะตาย ขอให้แม่ตายก่อน แล้วลูกค่อยตายทีหลัง เพราะแม่เขาอาจจะทำใจไม่ได้ จากนั้นผมก็เลยเปลี่ยนเป็นความคิดของผมใหม่เลย ทำอะไรก็ได้ที่มันดีขึ้น ที่ไม่ทำให้ทางบ้านเขาคิดมาก คือเราก็อยากให้แม่มีความสุข ถ้าไม่ตายก็คงต้องทำอะไรที่ดีให้กับตัวเอง แล้วก็ครอบครัว
ก่อนหน้านั้นวิธีแรกคิดว่าจะเดินไปข้างนอกให้รถชนตาย กลายเป็นมีความกลัวว่าเดี๋ยวศพมันจะเละ ส่วนผูกคอตาย ถ้าเชือกขาด ตกมาเจ็บตัว กลายเป็นเจ็บแต่ไม่ตายเลย อีกหนทางได้เอายาจากเพื่อนๆ ที่อยู่ในโรงพยาบาลที่ไม่กิน เขาให้ผมเอาไว้ ผมก็เก็บไว้เป็นยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ผมเก็บมาเกือบ 100 เม็ด ยัดใส่ปาก แล้วเอาเพลงอุดหู แล้วก็นอนไปเลย ก็เกือบตายครับ”
หลังจากตัดสินใจกินยาฆ่าตัวตาย คนเป็นแม่ได้เห็นความผิดปกติของลูกชาย จึงได้เข้ามาปลุกกระทั่งเห็นขวดยา จึงเรียกให้คนมาช่วยนำตัวส่งโรงพยาบาล และหากมาช้ากว่านี้อาจจะไม่รอดแล้ว
“แม่ก็คอยให้กำลังใจอยู่ข้างๆ ตลอด ในระยะเวลาที่ผมอยู่ในโรงพยาบาล แม่ทิ้งการค้าขายที่อยู่ที่บ้านหมดเลย แล้วก็ไปอยู่กับผม เพื่อดูแลใจผมด้วย เพราะผมทำอะไรไม่ได้ ต้องนอนอยู่แต่ในเตียง ยังขยับตัวไม่ได้ เส้นเลือดใหญ่มันขาด แล้วจากตัวเองตัวใหญ่ๆ ก็ผอมเหลือแต่กระดูกเลย มันก็เลยทำให้ผมยังไม่มีแรง แม่เขาก็เลยต้องคอยช่วย เพราะไม่มีใครไปเฝ้า พ่อเราก็เสียไปแล้ว ก็เหลือแต่แม่คนเดียว น้องก็ยังเรียนอยู่”
ไม่แค่นี้ ชีวิตของเขายังเฉียดตายมาแล้วถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่วัยเด็กจากการกินเห็ดเมาทำให้ต้องไปล้างท้องที่โรงพยาบาล ช่วงต่อมาอายุ 14 หัวฟาดพื้นเพราะตกน้ำตกเย็บไปเกือบ 30 เข็ม และครั้งต่อมา รถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์แหกโค้งจนต้องตัดขา ส่วนครั้งสุดท้ายก็ได้ตัดสินใจกินยาฆ่าตัวตาย แต่สามารถรอดมาได้อย่างเหลือเชื่อ
สำหรับการใช้เวลาปรับตัวนั้น ช่วงแรกยังมีอาการที่รับอะไรไม่ได้ เขาจึงเริ่มเอาธรรมะเข้าช่วย ทั้งท่องคาถาชินบัญชร นั่งสมาธิ ฟังธรรม ทำให้เริ่มปลงสังขารมากขึ้น คิดว่าของในร่างกายไม่ใช่ของๆ ตัวเอง ก็ต้องปล่อยไป แล้วทำให้ดีที่สุด ไม่ต้องไปสนใจมาก
“แรกๆ ผมก็ยังมีความละอายโดยที่เรายังขาขาด ใส่ขาเทียม ไปไหนมาไหน คนต้องถาม ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ แต่ก่อนผมไม่เคยใส่ขาสั้นเลย ใส่แต่ขายาว ทุกคนจะเห็นว่าผมเดินไปไหนก็ขาเจ็บแค่นั้นเอง แต่ไม่รู้เลยว่าผมเป็นคนพิการ จะขึ้นรถเมล์ จะขึ้นแท็กซี่ ทุกคนจะเห็นผมเป็นคนแค่ขาเจ็บ ซึ่งมันก็ทำให้หลายๆ คนอาจจะไม่ได้ให้นั่งอยู่แล้ว อย่างบนรถเมล์ บนรถไฟฟ้า คนไม่รู้ใช่ไหม ก็ไม่ได้ให้เรานั่ง
ตั้งแต่นั้นมา ผมมองทุกอย่างเริ่มปลงหมดแล้ว ทุกอย่างไม่ใช่ของๆ เรา พอมาเล่นกล้าม ร่างกายเปลี่ยนแปลง คนมองแต่ส่วนบน เขาไม่ได้ให้ความสนใจส่วนล่างแล้ว ผมก็เลยมองว่าโอเค ทำจุดนี้ให้มันเป็นจุดเด่นแทนที่จุดด้อยตรงนี้ให้มันตัดทิ้งไป ตั้งแต่นั้นผมก็เลยลองตัดกางเกงขายาวทุกตัวเลย แล้วก็ใส่แต่ขาสั้น ใครอยากถาม ถามเลย”
เมื่อการเอาชนะตัวเองยอมรับกับสภาพร่างกายได้สำเร็จ ทำให้เขาได้หันไปรับงานถ่ายแบบ ตั้งแต่ถ่ายแบบชุดว่ายน้ำ ถ่ายแบบศิลปะ ซึ่งเป็นงานศิลปะที่จะเอาไปโชว์ไปประกวด แม้กระทั่งผลงานของนักศึกษาที่ติดต่อให้ไปเป็นต้นแบบ
“ถ่ายนู้ดก็มี ทุกอย่างเป็นศิลปะหมด ผมมองเป็นศิลปะ แล้วก็หารายได้ เป็นการสืบทอดศิลปะให้กับคนอื่นรู้ว่าร่างกายเราสามารถที่จะทำได้อีกเยอะ ไม่ใช่ว่าพอสูญเสียขาไปแล้วไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย ร่างกายเรามันสามารถที่จะหาเงินเลี้ยงตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น
ถ้าเราทำรูปร่างเราดีมันจะกลายเป็นศิลปะครับ เพราะมวลกล้ามเนื้อต่างๆ มันคือศิลปะ มันอยู่ที่ความคิดของคนมากกว่าว่าถ้ามองโป๊ก็โป๊ ถ่ายแบบนู้ดต้องโชว์หมดเลย เรือนร่าง ผมคิดว่างานศิลปะก็คืองานศิลปะครับ เราเกิดมาเรายังไม่มีเสื้อผ้ามาเลย ถ้ามองเป็นศิลป์ก็คืองานทั้งนั้นเลยที่เลี้ยงเราได้ ศิลปะไม่มีการแบ่งแยกครับ มองดีก็ดี มองไม่ดีก็ไม่ดี อยู่ที่คนมองเท่านั้นเอง”
จาก “ขาเหล็ก” สู่ “แชมป์โลก”
หลังจากที่รู้สึกตัวว่าไม่อยากจะเป็นภาระใครอีกต่อไป เขาจึงอยากมีอาชีพทำมาหากิน มีเงินเลี้ยงตัวเองก่อน ซึ่งไม่เป็นภาระทางบ้าน บรรดาเพื่อนๆ จึงได้แนะนำว่ามีกีฬาของคนพิการ และเขาก็ได้มาสมัครเป็นนักกีฬาคนพิการ เป็นตัวแทนลงแข่งขันของกรุงเทพมหานครไปแข่งกีฬายกน้ำหนัก
“ตอนแรกผมก็เล่นกล้ามทั่วไป เพื่อให้หุ่นดีในการเล่นหนัง แสดงหนัง พอหลังจากประสบอุบัติเหตุแล้ว มาเล่นเพาะกายตอนหลังยกน้ำหนัก ตอนแรกยกน้ำหนักอยู่ประมาณ 10 กว่าปี พอหลังจากนั้นรู้สึกว่าร่างกายมีปัญหาเรื่องข้อต่อต่างๆ ผมเลยพักจากยกน้ำหนัก มาเพาะกายแทน”
ช่วงนั้นจะมีการเปิดโอกาสให้คนพิการขึ้นมาเป็นนักเพาะกาย เขาได้เริ่มไดเอท และลองฝึกการโชว์ครั้งแรก จนมีผลตอบรับที่ดี หลังจากนั้นก็เริ่มไปศึกษาว่าจะทำยังไงให้กล้ามเนื้อสวย ทำยังไงถึงให้กล้ามเนื้อดูดีคมชัดมากยิ่งขึ้น
“ผมเริ่มไปเป็นลูกน้องเขา ในยิมต่างๆ ให้เขาฝึกให้ ซึ่งจะได้ความรู้จากตรงนั้นมา โดยที่เรายังไม่ต้องไปเอาทฤษฎี เราขอปฏิบัติก่อนว่าทำยังไงที่จะให้กล้ามเนื้อมันสวยงามจริงๆ ทำยังไงให้มันมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน เพราะผมเองถ้าไปนั่งเรียนทฤษฎีเดี๋ยวก็หลับ ผมชอบทางการปฏิบัติมากกว่า มันรู้จริงเห็นจริง รู้ว่าตรงไหนเจ็บตรงไหนปวด สามารถรู้องศาได้
ตอนแรกผมตัวอ้วนๆ เลยนะ เพราะผมเล่นยกน้ำหนักมา ตัวใหญ่เป็นหมีเลย พอไดเอทครั้งแรกก็เกือบ 1 ปีเลยครับ ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ปรับอาหารใหม่หมดเลย เพื่อให้ร่างกายเปลี่ยนไปอีกคน”
ทั้งนี้ ยังต้องมีระเบียบวินัยอย่างมาก รวมทั้งต้องอดทนต่ออาหารที่ไม่ค่อยมีรสชาติ อย่างอาหารคลีน ซึ่งจะต้องกินแบบนี้กินซ้ำๆ ในช่วงระยะเวลาที่ควบคุมน้ำหนักเพื่อไปคว้าเหรียญทองยกน้ำหนักคนพิการชิงแชมป์โลกที่อินเดีย
จากนั้นก็เขาก็มาได้เหรียญทองในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ที่มาเลเซีย และที่ประเทศอินโดนีเซีย จนหันไปหาความท้าทายใหม่อย่างกีฬาเพาะกาย มิสเตอร์ไทยแลนด์ จัดโดยสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย และคว้าแชมป์มาครองได้ รวมทั้งการคว้าแชมป์โลกในการแข่งขันมิสเตอร์ ยูนิเวิร์ส ปี 2014 แน่นอนว่ารางวัลที่ได้มาล้วนเกิดขึ้นจากความตั้งใจในการฝึกซ้อมและตั้งเป้าหมายเอาไว้อย่างจริงจัง
“ตั้งเป้าหมายไหม ตั้งครับ ซ้อมมาทั้งทีต้องเป็นที่ 1 อย่างเดียว ในจินตนาการผม จะมองอย่างเดียวคือเราต้องไปยืนอยู่ตรงนั้น เราจะต้องเป็นแชมป์อย่างเดียว ถ้าไม่ได้ก็ต้องมาขยันฝึกจนได้ครับ ผมพลาดแค่ 2 ครั้ง ในอาเซียนพาราเกมส์ 2 ครั้งนั้นผมได้แค่เหรียญเงิน
คิดว่าเราฝึกซ้อมแล้วไม่ได้พักมากกว่า ทำให้อาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าบางทีการฝึกซ้อมตลอด มันไม่มีการพักเลย แต่เป็นการทำลายอย่างเดียว”
ดังนั้นเขาจึงเริ่มรู้ว่าไม่ใช่แค่ฝึกอย่างเดียว แต่ต้องมีการพักด้วย เพื่อไม่เป็นการไปทำลายกล้ามเนื้อ หรือทำลายข้อต่อต่างๆ ที่ทำให้ตัวเองไม่พัฒนา
“ผมก็เลยมาฝึกเองโดยไม่ได้อาศัยโค้ช เพราะว่าโค้ชบางคนเขาเป็นโค้ชรุ่นเก่าอาจจะไม่ได้ศึกษาเพิ่มเติม ส่วนผมเป็นคนที่ชอบอะไรที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต เข้าไปดูเขาเป็นแบบนี้ เขาใช้แบบนี้ หาความรู้ตลอด เลยทำให้ตัวเองพัฒนาขึ้นเร็วมากกว่าคนอื่น เขาอาจจะพัฒนาแค่ตรงจุดนั้น แต่ของเรากระโดดข้ามขั้นไปเลย
วินัยกับความขยันที่ทำให้เราสำเร็จ เรามีเป้าหมายเราตั้งเป้าหมาย ก่อนที่เราจะไปแข่งเราต้องตั้งเป้าหมาย มีจินตนาการว่าเราจะต้องชนะ ตรงนั้นสำคัญครับ ถ้าคนเราเล่นๆ ไปอย่างเดียว ไม่มีทางครับ อย่าคิดว่าเล่นๆ อย่างเดียว ไม่งั้นมันไม่สมควรเป็นนักกีฬาครับ”
"เทรนเนอร์ขาเหล็ก" ใครๆ ก็อยากเรียนด้วย
ผ่านบทบาทการเป็นนักกีฬาขาเหล็กคว้าเหรียญทองมาหลายรายการ แต่อีกบทบาทที่เขามีความตั้งใจเช่นกันก็คือการเป็นเทรนเนอร์ดูแลรูปร่างให้กับคนที่สนใจเรื่องกีฬาและสุขภาพ
“ตอนแรกๆ ผมก็ยังไม่กล้ารับหรอก ต่อให้ตัวผมเองประสบความสำเร็จก็จริง แต่ผมก็ยังไม่กล้ารับเลย จนลูกค้าบอกว่าเมื่อไหร่พี่จะรับเทรน พี่ทำตัวเองได้ ทำไมพี่ไม่เทรนคนอื่น ผมก็เลยบอกว่ายังไม่มั่นใจ คิดว่าอาจจะทำตัวเองได้ แต่คงทำให้คนอื่นไม่ได้
แต่หลังจากนั้นที่ผมไปอบรมเป็นโค้ช ผมค่อยกลับมาเทรนให้เขา เพราะเราไม่รู้ว่าวิธีการเทรนจริงๆ วิธีการนั่งคำนวณสารอาหารให้เขามันทำยังไง ผมก็เลยต้องไปอบรม แล้วค่อยไปรับเทรน พอเราได้ใบประกาศนียบัตรตรงนั้นในการเป็นโค้ช เป็นผู้ฝึกสอนแล้ว ผมถึงจะมาเทรนได้”
เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามถึงประเด็นที่ว่าหากมีความรู้แน่น แต่กล้ามเล็กจะกลายเป็นข้อครหาไหม เขาก็ตอบตรงไปตรงมาว่าสมัยนี้ต้องเปิดใจกว้าง ผู้ฝึกสอนอาจมีความรู้เยอะ แต่เป็นไปได้ที่จะไม่มีเวลาดูแลตัวเอง
“ผมมาเข้าใจตอนที่ผมมีลูกค้าเยอะ ว่าเราไม่มีเวลาแม้กระทั่งกินข้าว ไม่มีเวลาแม้กระทั่งเล่นเหล็ก มันก็เลยทำให้เราอ้วนได้ ทำให้เรากลับไปเหมือนเดิมได้ เพราะเราไม่มีเวลา คือไม่มีเวลาจริงๆ เวลาจะกินเวลาจะนอนยังลำบากเลย เช้ามาต้องรีบ อาหารก็ไม่สามารถจะทำกินเองได้เหมือนแต่ก่อนครับ เพราะเทรนไม่ต่ำกว่า 10 คนต่อวัน
การเพิ่มกล้ามเนื้อ คุณต้องดูว่าในแต่ละวันคุณควรจะทานอาหารอะไรบ้าง ที่เหมาะสมกับพลังงานในการใช้ในแต่ละวัน ไม่ใช่กินเกิน หรือว่าคุณจะกินมั่วไปหมด แรกๆ ผมไม่เข้าใจเหมือนกัน ผมกินมั่วเหมือนกัน หุ่นมันก็กลายเป็นหมีไปหมด พอเราเริ่มรู้ว่าอาหารสำคัญมาก กินยังไงที่ไม่สามารถปรุงแต่งได้เยอะ มันจะทำให้เราเริ่มหุ่นดีขึ้น เพราะเรากินอาหารคลีน ไม่ใช่คลีนแบบปรุงแต่ง”
ไม่แค่นั้น การทำให้สำเร็จไม่ใช่การออกกำลังกายอย่างเดียว แต่ส่วนสำคัญคือเรื่องของอาหาร ควรเข้าใจเรื่องอาหารก่อน จะง่ายต่อการเปลี่ยนหุ่นให้ดีขึ้น เพราะบางคนเล่นมานานแต่ยังไม่เปลี่ยน เนื่องจากไม่ได้ควบคุมอาหารไปด้วย
“อยู่ที่เป้าหมายของลูกค้าด้วยครับว่าลูกเทรนแต่ละคนเขาอยากได้แบบไหน บางคนอยากได้แค่ลดน้ำหนักอย่างเดียว บางคนอยากได้แค่หุ่นเฟิร์ม อยากได้กล้ามเนื้อ เราก็จะมีเทคนิคการฝึกสอนต่างๆ เริ่มจากศูนย์เลยไม่ใช่มานั่งเล่นกันหนักๆ โหดๆ แบบนั้นไม่ใช่เลย
คนที่ไม่เคยเล่น ก็ให้หัดจากศูนย์เลย เริ่มจากเบาๆ เพราะหลายคนจะเข็ดในการเล่นครั้งแรก เหมือนกับเป็นไข้กันหมดครั้งแรก เพราะกล้ามเนื้อมันไม่ถูกการใช้งาน พอหลังจากถูกการใช้งานแล้ว ก็มีการระบมกับอักเสบช่วงแรก หลังจากนั้นคุณทำไปก่อนสักอาทิตย์สองอาทิตย์ แล้วร่างกายมันจะปรับ พอปรับแล้วคุณจะเริ่มชิน แล้วคราวนี้คุณจะติดมันแล้ว”
อย่าตัดสินคนพิการ!! ด้วยคำว่าสงสาร
“ผมพยายามให้คนมองคนพิการว่า ควรเปิดโอกาสให้เขาไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่เขาถนัดหรือไม่ถนัด คุณลองเปิดโอกาสให้เขาก่อน เพราะเขามีสิ่งที่เขาถนัดได้ เขาสามารถที่จะมีอาชีพรองรับเขาได้ อย่าเอาความสงสารไปตัดสินเขาก่อน คุณต้องดูความสามารถของเขาก่อนว่าเขาทำอะไรได้ แล้วค่อยส่งเสริมเขาดีกว่าครับ”
สิ่งที่แชมป์โลกพิการคนนี้ต้องการเห็นแน่นอนว่า คือการเปิดโอกาสให้ผู้พิการอีกมากได้มีอาชีพในด้านต่างๆ ที่สามารถดึงความสามารถออกมาใช้ได้อย่างมีคุณค่า
“ผมว่าที่เข้าใจผิดเรื่องของคนพิการคือสงสาร คิดว่าเขาคงเป็นภาระหรือเปล่า แต่ถ้าคุณเห็นเขาในจุดที่ความสามารถเขาเลี้ยงตัวเองได้คุณจะทึ่งมากกว่า ผมว่าให้เขาเป็นจุดประกายในการต่อสู้ของทุกๆ คนดีกว่า เขายังทำได้ คุณก็เป็นคนปกติ คุณก็สามารถที่จะทำได้เหมือนกัน”
นอกจากนี้ เขามองว่า คนพิการในไทยควรมีเส้นทางให้แก่ผู้ใช้วีลแชร์ที่สะดวก เพราะในบางพื้นที่จะมีปัญหาเรื่องสิ่งกีดขว้าง หรือทางที่ควรจะต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งงานที่สามารถรองรับ มีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ โดยที่ไม่เป็นภาระของคนอื่น
“บางที่ผมเดินข้ามนานมาก แล้วบางทีจุดมันไม่สอดคล้องกัน อย่างผมเดินเหนื่อยมาก จะไปที่ตรงนั้นที ตรงนี้ที ผมเห็นแล้วต้องข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งมันยุ่งยากมาก ผมว่าเขายังไม่เข้าใจมากกว่าว่าคนพิการจะต้องเดินเส้นทางแบบไหนที่เขาสามารถจะไปได้สะดวก เขาเรียกว่าไม่มีอุปสรรคในการเดิน ในการสัญจร อย่างนี้ดีกว่า
ตัวผมเองยังขับรถมอไซค์อยู่แล้วก็ฝากถึงคนที่ขับรถใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรถอะไรก็ตาม พยายามยึดกฎจราจรให้มากหน่อย ครับ เพราะว่ารถเล็กมันอันตราย จะไปไหนก็แล้วแต่ ไฟเลี้ยวพยายามเปิดให้เห็นว่าคุณจะเลี้ยว ไม่ใช่คุณอยากจะเลี้ยวคุณก็เลี้ยว คนพิการเขาระวังอยู่แล้ว แต่พวกคุณไม่ระวังเลย”
ดังนั้น การใช้กฎจราจรจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก หากมีไฟเลี้ยวควรกระพริบไฟเลี้ยวทุกครั้ง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาอาจกลายเป็นภาพที่มักเห็นกันในโลกโซเชียลฯ ที่มีการใช้กำลังกับคนพิการเกิดขึ้น
“หลายๆ คนผมเห็นแล้วที่มีเรื่องกับคนพิการ เพราะคุณดูแข็งแรงกว่า เขาทำอะไรไม่ได้เขาเป็นโปลิโอไง เขาเดินไม่ได้ไง คุณสามารถแกล้งเขาได้ไง
แล้วผมเจอเยอะมากครับ อยากจะเลี้ยวตรงไหนเลี้ยว โดยที่ไม่เปิดไฟไว้ก่อนเลย แล้วบางทีเราเปิดไฟอยู่แล้ว คุณจะเลี้ยวมา คุณจะมาเบียดผม ผมเป็นรถเล็กอันตรายอยู่แล้วครับ ผมต้องตายก่อนแน่นอน หลายคนเขาประมาทก็ถือว่าเขาขับรถใหญ่ แล้วเขาสามารถจะเบียดใครก็ได้ ผมไม่เห็นด้วยครับ
จริงๆ ความพิการมันก็ลำบากในการใช้ชีวิตมากกว่า ในการสัญจรไปในที่ต่างๆ มันจะเป็นอุปสรรคมากกว่า เพราะว่าจะเหนื่อยกว่าปกติ ใช้พละกำลังมากกว่าปกติในการจะเอาร่างกายออกไปใช้ในชีวิตประจำวัน ก็จะมีอุปสรรคด้านนี้ครับ”