Access Earth แอพพา“คนพิการ” ท่องโลก
สวัสดีค่ะ หลายคนคงมีโอกาสได้ใช้แอพพลิเคชั่นแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อย่าง TripAdvisor และเว็บไซต์อื่นๆ อีกมากมาย
ซึ่งไม่ต้องบอกคุณผู้อ่านก็คงได้เห็นอยู่แล้วว่าแอพและเว็บไซต์เหล่านี้เข้ามาพลิกโฉมตลาดการท่องเที่ยวไปมากแค่ไหน แต่กับคนกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งนั่นคือ “กลุ่มผู้พิการ” นั้น คงจะเป็นการดีไม่น้อยหากมีบริการพิเศษสำหรับพวกเขาโดยเฉพาะใช่ไหมคะ
วันนี้ขอพาคุณผู้อ่านมาทำความรู้จักกับกิจการเพื่อสังคมรายหนึ่งที่เป็นน้องใหม่จากไอร์แลนด์ นั่นก็คือแอพที่มีชื่อว่า Access Earth ที่ได้เริ่มเปิดตัวให้บริการเมื่อไม่นานมานี้ และความพิเศษของแอพที่ว่านี้คือการรวบรวมจัดทำแผนที่และสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการ ที่ไม่ใช่แค่เมืองใดเมืองหนึ่งโดยเฉพาะแต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทั่วโลกเลยทีเดียวค่ะ
โดย Access Earth จะมีข้อมูลที่เกี่ยวกับการเดินทางไปโรงแรม ร้านอาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่ครอบคลุมทั่วโลกโดยวัดจากเรตติ้งที่กลุ่มผู้พิการด้วยกันเป็นคนรีวิว และรายได้หลักของแอพนี้ก็มาจากส่วนแบ่งที่ได้จากการจองที่พักหรือร้านอาหารที่ผู้ใช้ผ่านแอพนี้เข้ามาใช้บริการนั่นเอง
“แมทท์ แมคคานน์” ผู้ก่อตั้ง Access Earth เล่าว่า จุดเริ่มต้นของความคิดในการพัฒนาแอพของเขามาจากการที่เขาสังเกตุคนรอบๆ ตัวและพบว่าคนพิการนั้นมักจะมีปัญหาที่ไม่สามารถเดินทางออกไปจากถิ่นที่อยู่ได้อย่างสะดวกมากนัก ดังนั้น Access Earth จึงมุ่งให้บริการอย่างครอบคลุมทั่วโลก แม้อาจจะยังต้องใช้เวลาเพราะเพิ่งเปิดตัวได้ไม่นานก็ตาม
“เท่าที่เราเปิดตัวมา ก็นับว่าได้รับการตอบรับที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา รวมถึงในแถบแสกนดิเนเวีย และออสเตรเลีย ก็นับว่าสมชื่อ Access Earth ที่เราตั้งไว้ได้ดีทีเดียว” เขาให้สัมภาษณ์ไว้ในเว็บไซต์ independent.ie
ปัจจุบันแอพ Access Earth มีผู้สมัครใช้บริการประมาณ 5,000 รายที่ได้ร่วมกันเรตสถานที่แล้วกว่า80,000 แห่งทั่วโลก นอกจากนี้ Access Earth ยังได้รับเลือกเป็นตัวอย่างของการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 40 อันดับแรก (Top 40 Accessibility Practices) จากสหประชาชาติเมื่อต้นปีที่ผ่านมาอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังผ่านเข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขัน Best Young Entrepreneur โดยได้รับรางวัล Google Award และได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Adopt a Startup ในเดือนสิงหาคมนี้
เขาเล่าว่า ในอีกมุมหนึ่ง กุญแจสู่ความสำเร็จของ Access Earth คือการเป็น Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคมที่นิยามคือการทำธุรกิจเพื่อให้บริการที่จำเป็นหรือเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคม แต่สำหรับแมทท์นั้น เขาเริ่มต้นจากการตีโจทย์ก่อนว่าควรทำเป็นการกุศลหรือควรทำเป็นธุรกิจทั่วๆ ไปดี
แน่นอนว่าแมทท์เป็นหนึ่งในผู้พิการเช่นกัน เขาป่วยด้วยโรคสมองพิการซึ่งทำให้เสียการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายและทำให้เขาต้องใช้ชีวิตบนรถเข็น ไอเดียในการเริ่มธุรกิจของเขามาจากประสบการณ์อันเลวร้ายที่เขาเผชิญในลอนดอน โดยเขาจองที่พักออนไลน์และเห็นจากรูปภายนอกว่าน่าจะเดินทางไปได้ แต่พอเอาเข้าจริงเขากลับพบว่ามันมีบันไดหลายขั้นกว่าจะขึ้นไปถึงทางเข้าที่พัก ซึ่งทำให้เขาไม่สามารถเข็นรถเข็นขึ้นห้องพักได้
เมื่อเขาสำเร็จการศึกษทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ธุรกิจ Access Earth จึงเกิดขึ้น และเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน เขาจึงตัดสินใจทำในรูปแบบของธุรกิจ ไม่ใช่ not for profit หากแต่เป็น profit with purpose ซึ่งทำให้มีโอกาสหาเงินทุนได้มากกว่า
“คนที่เข้ามาใช้บริการ เห็นว่าเราทำอะไรและเข้าใจเหตุผลของเรา เราจึงทำให้พวกเขาเห็นว่าเราต้องการทำธุรกิจนี้ให้มีความยั่งยืน และนอกจากนี้เรายังเปิดโอกาสสำหรับพันธมิตรหรือความร่วมมือต่างๆ ในทุกรูปแบบ” แน่นอนว่าการหาเงินทุนตั้งต้นนั้นไม่ง่าย แมทท์เล่าว่าความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดคือการเขียนโครงการทั้งหมดลงบนหน้ากระดาษอย่างไรให้มีความน่าสนใจ ทำให้นักลงทุนมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่แฝงอยู่และอยากร่วมเป็นพันธมิตรด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว
ธุรกิจของเขาปัจจุบันมีพนักงานพาร์ทไทม์เพียงสองคนที่ช่วยงานเขา แต่เขาก็หวังว่าจะเพิ่มทีมงานเป็น 5 คนได้ภายในสิ้นปีนี้
ถึงแม้ว่าแอพ Access Earth ต้องพึ่งพาข้อมูลจากผู้ใช้งานที่ร่วมกันรีวิวเป็นหลัก แต่เขาก็กำลังพัฒนาหาทางนำเทคโนโลยีต่างๆ อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยตรวจสอบข้อมูลในอนาคต และยังมีแผนการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ เพื่อขอแบ่งปันข้อมูลของท้องถิ่นหรือชุมชนนั้นๆ รวมถึงยังมีแผนการเข้าไปพาร์ทเนอร์กับมหกรรมกีฬาคนพิการที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือ “พาราลิมปิกส์” อีกด้วยไม่แน่ว่าต่อไป Access Earth ของเขาอาจได้รับการตอบรับจากผู้พิการทั่วโลก จนกลายเป็น TripAdvisor หรือ Google Maps เวอร์ชั่นแสนสะดวกของผู้พิการก็ว่าได้
นับเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ผลที่ได้นั้นอาจยิ่งใหญ่ และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการได้อีกนับล้านคนทั่วโลกทีเดียวค่ะ