เทคโนโลยีช่วย “คนพิการ” เทรนด์ธุรกิจเพื่อสังคม
การเดินทางของผู้พิการในหลายเมืองของโลกในปัจจุบันเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย จากปัญหาการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกและความสลับซับซ้อนของผังเมือง ด้วยเหตุนี้ภาคธุรกิจจึงเริ่มหันมาสนใจการออกแบบเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับผู้พิการมากขึ้น ทั้งเพื่อช่วยเหลือผู้พิการและเปิดโอกาสทางธุรกิจ
ตามรายงานของ “ซีเอ็นเอ็น” มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในปัจจุบันเป็นจำนวนมาก เช่น “รถเข็นผู้พิการที่สามารถขึ้น-ลงบันไดได้” พัฒนาโดย Scewo บริษัทสตาร์ตอัพสัญชาติเยอรมัน ซึ่งสามารถเดินทางได้ในภูมิประเทศที่หลากหลาย และมีกลไกสำหรับไต่ขั้นบันไดได้ ทั้งยังสามารถควบคุมผ่านสมาร์ทโฟนได้ด้วย
เบิร์นฮาร์ด วินเทอร์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Scewo ระบุว่า “เราไม่สามารถรอที่จะสร้างทางลาดทั้งหมดได้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงพัฒนาสิ่งนี้เพื่อที่จะให้อิสระและความคล่องตัว” ทั้งนี้ รถเข็นผู้พิการของ Scewo จะเริ่มออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการภายในปีนี้
ขณะที่ในสวิตเซอร์แลนด์มีการพัฒนาขาเทียม โดยบริษัท MyoSwiss พัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ที่หัวเข่าและสะโพกของผู้ใช้งาน เข้ากับสิ่งทอจำลองกล้ามเนื้อขามนุษย์ ซึ่งมีน้ำหนักรวมแล้วไม่ถึง 5 กิโลกรัม แต่สามารถรองรับน้ำหนักตัว และให้ความมั่นคงในการทรงตัวได้มากขึ้น และสามารถปรับสภาพของขาเทียมให้สอดรับกับการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ได้
เจม ดูอาร์ต ซีอีโอของ MyoSwiss ระบุว่า เทคโนโลยีดังกล่าวพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้การเดินขึ้นลงบันไดและการลุกขึ้นยืนสะดวกยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่ยังมีความสามารถในการก้าวเดิน โดยปีนี้ขาเทียมของ MyoSwiss ถูกใช้โดยผู้พิการ 2 รายเพื่อเข้าร่วมในกิจกรรมวิ่งมาราธอนที่เมืองซูริกด้วย
นอกจากนี้ วิศวกรของ “Young Guru Academy” หรือ “YGA” ในตุรกีได้ออกแบบไม้นำทางสำหรับผู้พิการทางสายตา โดยร่วมกับบริษัท WeWalk ในการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์อัลตราโซนิก ตรวจจับสิ่งกีดขวางและทำงานร่วมกับกูเกิลแมปและเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนในการนำทาง
“เคอร์ซาต เคย์แลน” ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง WeWalk ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตาแต่กำเนิด กล่าวว่า “ในฐานะผู้พิการทางสายตา ผมไม่รู้เลยว่าทางออกของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่ตรงไหน รถเมล์คันไหนกำลังจะมาถึง หรือมีร้านค้าใดอยู่รอบ ๆ บ้าง แต่ข้อมูลเหล่านี้เราสามารถรู้ได้จาก WeWalk”
ส่วนใน “ญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นประเทศชั้นนำทางด้านเทคโนโลยีของเอเชีย ได้ออกแบบรถเข็นอัตโนมัติสำหรับผู้มีปัญหาในการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัท Whill Inc. และ Mitsubishi Electric โดยรถเข็นนี้สามารถนำผู้ใช้งานไปยังจุดที่ต้องการได้โดยอัตโนมัติ รวมถึงมีระบบป้องกันอุบัติเหตุจากการชนสิ่งกีดขวาง ซึ่งได้เริ่มทดลองใช้แล้วในกรุงโตเกียว คาดว่าจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 2020
นอกจากนี้มี “เกาหลีใต้” ที่บริษัท LG U+ ร่วมกับบริษัท Naver เปิดบริการเรียกรถแท็กซี่ ผ่านเครื่องมือรับคำสั่งเสียงในโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ผู้พิการ ทั้งยังพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับการอ่านอีบุ๊กเพื่อผู้พิการทางสายตาอีกด้วย
ในแง่ของธุรกิจรายงานของ “Zion Market Research” และ “Coherent Market Insights” ประเมินว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกทั่วโลกจะเพิ่มมูลค่าขึ้นจาก 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2015 เป็น 30,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025
อย่างไรก็ตาม แอนนา ลอว์สัน ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาคนพิการแห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ ชี้ว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ยังมีราคาแพงมาก และผู้พิการส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ผู้ผลิตจึงควรคำนึงถึงการออกแบบให้ครอบคลุมและเข้าถึงได้ง่าย ด้วยราคาที่ไม่แพงมากนัก
อย่างไรก็ตาม การหันมาให้ความสำคัญต่อการออกแบบเทคโนโลยีเหล่านี้ นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่โลกเริ่มให้ความสนใจต่อผู้พิการ และช่วยให้ผู้พิการไม่ถูกละเลยจากสังคมรอบข้าง และแม้ว่าประเทศไทยจะยังก้าวไปไม่ถึงจุดที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยสำหรับผู้พิการ แต่การที่หลายหน่วยงานเริ่มหันมาใส่ใจในทางลาดที่ได้มาตรฐาน การมีลิฟต์
สำหรับผู้พิการ รวมถึงรถเมล์ชานต่ำ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกต่อการเดินทางสำหรับผู้พิการไทยในอนาคต