'นวัตกรรมอวัยวะเทียม'ระดับพรีเมี่ยม ตัวช่วย 'ผู้พิการ'
จุฬาฯเปิด "นวัตกรรมอวัยวะเทียม"ระดับพรีเมี่ยม มาตรฐานสากล ช่วย"ผู้พิการ" เคลื่อนไหวร่างกาย เพิ่มคุณภาพชีวิต
จากข้อมูลกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้พิการในประเทศไทย (ข้อมูล ณ เดือนมี.ค.2564) พบว่า มี"ผู้พิการ"ทั้งหมด 2,092,595 คน โดยเป็น"ผู้พิการ"เพศชาย 1,091,845 คนหรือ 52.18% และเพศหญิง1,000,750 คน หรือ 47.82% โดยในจำนวนดังกล่าว มี "ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย" 1,043,192 คน หรือ49.87%
"ผู้พิการ"มากขึ้นทุกปี สะท้อนปัญหาสังคม
ทั้งนี้ คนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15 - 59 ปี) มี 857,253 คน แบ่งเป็น คนพิการในวัยทำงานที่ประกอบอาชีพ 207,169 คน 24.17 % ของจำนวนคนพิการวัยทำงานทั้งหมด คนพิการในวัยทำงานที่สามารถประกอบอาชีพได้แต่ยังไม่ได้ประกอบอาชีพ จำนวน 72,466 คน 8.45% คนพิการในวัยทำงานที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ (เนื่องจากพิการมากช่วยเหลือตนเองไม่ได้) 53,479 คน 6.24%
ด้วยจำนวน"ผู้พิการ"มากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะ "ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย" และส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน ปัญหาที่ตามมาจึงไม่ใช่เพียงงบประมาณในการดูแลรักษา ช่วยเหลือ"ผู้พิการ"เท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การขาดคนวัยแรงงานถือเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนประเทศ และที่สำคัญการนำเครื่องมือทางการแพทย์ อย่าง อวัยวะเทียม นำเข้าจากต่างประเทศ ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
"เครื่องมือทางการแพทย์และสุขภาพ"ที่นำเข้าจากต่างประเทศ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ครุภัณฑ์ และชุดตรวจ จากการสำรวจโครงสร้างอุตสาหกรรม"เครื่องมือทางการแพทย์และสุขภาพ"ไทยในปี 2563 สถาบันพลาสติก พบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย มีอยู่ราว 513 ราย โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ (จากผู้ให้ข้อมูล 494 ราย) ส่วนใหญ่เป็นวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ 245 ราย (43%) ครุภัณฑ์ทางการแพทย์159 ราย (28%) การบริการสนับสนุน 37 ราย (6%) น้ำยาและชุดวินิจฉัย 36 ราย (6%) และอื่นๆ 96 ราย (17%) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการบางรายมีการประกอบธุรกิจมากกว่า 1 ประเภท และ 1 ผลิตภัณฑ์ จึงอาจเกิดการนับซ้ำ
วิศวะจุฬาฯ“นวัตกรรมอวัยวะเทียม"คุณภาพพรีเมี่ยม
ในงานเสวนา CHULA the Impact ครั้งที่ 4 "นวัตกรรมอวัยวะเทียม"ระดับโลกฝีมือคนไทย เพื่อนำเสนอนวัตกรรมอวัยวะเทียม จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ผู้ร่วมพัฒนานวัตกรรมอวัยวะเทียมจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงนวัตกรรม “เท้าเทียมไดนามิก” ว่า“เท้าเทียมไดนามิก”เป็นผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่พัฒนาขึ้น อยู่ในช่วงการทดลองทางคลินิก (clinical trial) ระยะที่2 ซึ่งเป็นเท้าเทียมที่มีข้อเท้า ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติกว่าเท้าเทียมที่ผลิตจากไม้ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
“จากการสำรวจข้อมูลและลงพื้นที่ พบว่า มีผู้พิการขาและเท้าประมาณ 40,000 กว่าคน และ 99% จะใส่เท้าเทียมที่คุณภาพไม่ดี โดยเป็นเท้าเทียมที่ทำจากไม้ หุ้มด้วยยางและไม่มีข้อเท้า ทำให้การใช้งานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพเหมือนคนปกติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จึงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และศิริราชพยาบาล คิดค้นพัฒนาเท้าเทียมไดนามิก หรือเท้าเทียมพรีเมี่ยม ที่จะทำให้ผู้สวมใส่สามารถกระดกเท้า หมุนเท้า เดินวิ่งได้เหมือนคนปกติ ช่วยในการเคลื่อนไหวร่างกายทำให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้มีคุณภาพ ทำงาน ช่วยเหลือตัวเองได้”ผศ.ดร.ไพรัช กล่าว
ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ใช้ "เท้าเทียมไดนามิก" ประมาณ 1% ของประชากรผู้พิการ นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมดราคาค่อนข้างสูง ขณะที่ผู้พิการเท้าส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย “เท้าเทียมไดนามิก” ที่คิดค้นขึ้น เป็นการใช้วัสดุที่ได้มาตรฐาน มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา มีการออกแบบดีไซต์ให้หมุนข้อเท้าได้ ผ่านการทดสอบในคนและได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO10328 จากห้องแล็ปจากประเทศเยอรมนี และมาตรฐานอื่นๆ ซึ่งในขณะนี้ได้มีการใช้งานจริงในหลากหลายโรงพยาบาล
ทั้งนี้ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เน้นการออกแบบเครื่องมือแพทย์เพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยต้องเป็นอุปกรณ์ที่เน้นความปลอดภัย มาตรฐานสากล ระดับโลก มีการพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์ทั้งในและนอกร่างกาย โดยขณะนี้มีการพัฒนากลไกข้อเข่า“เท้าเทียมไดนามิก” และข้อสะโพกเทียมสำเร็จแล้วแต่ไทยยังไม่มีสถาบันที่รับรองเครื่องมือแพทย์มาตรฐานระดับโลก ต้องส่งเท้าเทียมไปตรวจมาตรฐานที่เยอรมนีต้องใช้เงินประมาณ 5-10 ล้าน รวมถึงต้องผ่านมาตรฐาน การรับรองในทุกขั้นตอนซึ่งต้องใช้เวลานาน หากไทยสามารถผลิตเท้าเทียมได้เอง จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าจากต่างประเทศได้ถึง 10 เท่า
นวัตกรรม "3D Printing" ผลิตอวัยวะเทียม
ด้าน ผศ.ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร จากภาควิชาวิศวกรรมโลหการ "คณะวิศวกรรมศาสตร์" และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทMeticuly ได้นำนวัตกรรม กะโหลก ใบหน้าและขากรรไกรเทียม ที่ผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยี "3D Printing"มานำเสนอโดยเน้นไปที่กระบวนการการผลิตกระดูกเทียมที่มีความแข็งแรง ออกแบบด้วยความแม่นยำสูง เพื่อให้เข้ากับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของคนไข้ ช่วยยกระดับ"นวัตกรรมทางการแพทย์"ของไทยให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างทัดเทียม
“ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ต้องใช้กะโหลก ใบหน้าและขากรรไกรเทียมมากกว่า 1 แสนราย และมีการนำผลิตภัณฑ์อวัยวะเทียม ไปใช้แล้วกว่า 350 ราย เพราะการผลิตด้วยเทคโนโลยี3D Printing แม้จะได้ไซต์ตามที่ต้องการเหมาะกับผู้ป่วยไม่ต้องไปพึ่งพาไซต์จากต่างประเทศ แต่ต้องใช้เวลาในการในการออกแบบให้เหมาะสม น้ำหนักเบา มีความแข็งแรงและเหมาะกับการใช้ชีวิตของคนๆ นั้น ซึ่ง Meticuly จะมุ่งเน้นเรื่องของการพัฒนานวัตกรรม และความเป็นไปได้อื่นๆในการใช้เทคโนโลยี "3D Printing"เพื่อการผลิตกระดูกเทียมในอนาคต อันนำไปสู่การรักษาโรคที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายแม่นยำ และเหมาะกับสรีระของผุ้ป่วย อวัยวะเทียมจึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ป่วย”ผศ.ดร.เชษฐา กล่าว
แพทย์ผู้ใช้งาน นพ.ชินดนัย หงสประภาส จากภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่ามีความจำเป็นอย่างมากในการใช้ "นวัตกรรมกระดูกเทียม"ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก ซึ่งปัจจุบันทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นำนวัตกรรมจากต่างประเทศ ราคาประมาณ 400,000-500,000 บาทต่อชิ้น จึงรักษาได้เฉพาะกลุ่ม การที่ไทยจะผลิต "นวัตกรรมอวัยวะเทียม" นอกจากลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วย ผู้พิการได้เข้าถึงอวัยวะเทียมมากขึ้น
“นวัตกรรมชิ้นส่วนทดแทนกระดูก มีประโยชน์อย่างมากในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก โดยต้องผ่าตัดกระดูกบริเวณที่เป็นมะเร็งออกไปและต้องหาวัสดุมาทดแทนที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ วัสดุที่ได้รับการยอมรับกันคือการใช้ข้อโลหะเทียมชนิดพิเศษซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยใช้งานแขนหรือขาได้ทันที แต่วัสดุดังกล่าวต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาที่สูงมาก รวมถึงไม่สามารถเบิกจ่ายจากสิทธิการรักษาได้ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาวิธีนี้ นวัตกรรมชิ้นส่วนทดแทนกระดูกที่คิดค้นและพัฒนาขึ้น จึงเป็นทางเลือกที่ดีมาก ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงวัสดุทดแทนกระดูกที่มีคุณภาพ ในราคาที่สมเหตุผล”นพ.ชินดนัย กล่าว