นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อผู้สูงวัยและคนพิการ ปฏิวัติคุณภาพชีวิตด้วยไอเดียสร้างสรรค์

นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อผู้สูงวัยและคนพิการ ปฏิวัติคุณภาพชีวิตด้วยไอเดียสร้างสรรค์

สำรวจไอเดียดิจิทัลจากเวทีประกวด JUMP THAILAND HACKATHON 2024 ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการ

ถ้าคุณเป็นผู้พิการทางสายตา “ไม้เท้าขาว” ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมือหนึ่งเดียวเพื่อช่วยนำทาง นั่นเพราะ ไม้เท้ายาว ยืดหยุ่น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคนตาบอดนี้ ช่วยให้พวกเขารอดพ้นจากสิ่งกีดขวางท่ามกลางพื้นผิวอันแตกต่างในชีวิตการเดินทาง

หรือถ้าในครอบครัวมีใครสักคนเป็นผู้สูงอายุ คุณคงหนีไม่พ้นกับการกังวลว่าพวกท่านจะลื่นล้ม ยิ่งถ้าพวกท่านต้องอยู่คนเดียวเพียงลำพัง แค่หยิบโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือรถพยาบาลให้ทันเวลา ยังเป็นเรื่องที่ลูกหลานไม่ค่อยมั่นใจ

ในระหว่างที่สังคมกำลังเดินหน้า ผู้สูงอายุ-คนพิการ ราวกับเป็นกลุ่มเปราะบางที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และถ้าหากจะพูดว่านวัตกรรมส่วนใหญ่ช่วยเสริมประสิทธิภาพให้กับผู้ที่มีสุขภาพร่างกายที่ดี ให้ชีวิตได้สบายขึ้น สะดวกขึ้น คงไม่ผิดนัก ทว่ากลับกันที่จำนวนแพลตฟอร์มมากมายที่เกิดขึ้นนี้ มักไม่ได้มองกลุ่มคนพิการ-ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเป้าหมาย

เราจะสร้างเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร? จึงเป็นโจทย์และความท้าทายให้นักนวัตกรรมเร่งหาคำตอบ

JUMP THAILAND HACKATHON 2024 คือชื่อกิจกรรมที่เปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมออกไอเดีย เพื่อลบจุดด้อย และเสริมพลังให้กับกลุ่มคนเปราะบาง โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นแพลตฟอร์มเครื่องมือ และเกิดเป็นผลงานที่ใช้ได้จริง

นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อผู้สูงวัยและคนพิการ ปฏิวัติคุณภาพชีวิตด้วยไอเดียสร้างสรรค์

เปิด 3 ไอเดีย ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ-ผู้สูงอายุ

บนเวทีรอบสุดท้าย JUMP THAILAND HACKATHON 2024 เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา จิรา พิทักษ์วงศ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) หัวหน้าทีม PATHSENSE เจ้าของโปรเจค PATHSENSE ซึ่งพัฒนา AI เซนเซอร์เพื่อคนตาบอด อธิบายว่า เขาและเพื่อนร่วมทีมสำรวจพบจุดด้อยของ “ไม้เท้าขาว” เครื่องนำทางเพียงหนึ่งเดียวของผู้พิการทางสายตา และต้องการทดแทนการนำทางด้วยนวัตกรรม โดยมี AI เป็นเทคโนโลยีหลัก

“ไม้เท้าจะ Detected อุปสรรคที่อยู่ใต้หัวเข่าเป็นต้นไป และโดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นวัตถุที่มีขนาดใหญ่พอที่ไม้เท้าจะไปสัมผัสเจอ แต่ในสภาพความเป็นจริง วัตถุมีหลายสภาพมากว่านั้น และบางครั้งก็ไม่สามารถจำแนกได้ว่าวัตถุที่กีดขวางเคลื่อนที่ไปทางไหน เช่น ไม้เท้าอาจจะไปสัมผัสกับคนที่เดินสวนกันไปมาในที่ชุมชน”

จึงเป็นไอเดียตั้งต้นของการคิดเครื่องมือเพื่อนำทางและสื่อสารกับคนตาบอด ด้วยการออกแบบอุปกรณ์ที่ มีกระเป๋าสะพายซึ่งมีการติดตั้งกล้องซึ่งฝั่งระบบเซ็นเซอร์เข้ากับกล้องเลนส์ Wide ซึ่งมีขนาดกว้าง และจะทำให้ระบบ สามารถตรวจจับสิ่งต่างๆได้ละเอียดขึ้น ทั้ง บันได ประตู กำแพง และอื่นๆ ซึ่งอยู่ด้านหน้าของผู้สวมใส่ แล้วทำการแจ้งแก่ ผู้สวมใส่ผ่านทางหูฟังหรือลำโพงโทรศัพท์ โดยทั้งหมดจะเป็นการทำงานของระบบเซนเซอร์กับ AI ประมวลผล ก่อนจะส่งสัญญาณผ่านเสียงซึ่งใช้ระยะเวลาสั้นเพียง 0.125 วินาทีโดยเฉลี่ย”

“อุปกรณ์มีน้ำหนักเบาและพกพาง่าย สามารถทำงานได้ทั้ง Online และ Offline หากอยู่ในที่อับสัญญาณ ระบบก็จะเปลี่ยนจากการทำงานออนไลน์เป็น Offline โดยมีระยะเวลาประมวลผลเป็น 0.5 วินาที ซึ่งไอเดียนี้ทีมมองว่า เป็นอุปกรณ์ใช้งานได้ตรงกับวิถีชีวิตของผู้พิการทางสายตา ยิ่งเมื่อคำนวนต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2,000-3,000 บาทต่อ 1 ชิ้น ซึ่งสามารถลดน้อยลงได้อีก หากผลิตในจำนวนมากซึ่งเหมาะกับการต่อยอดไปสู่ธุรกิจแบบ B2B ระหว่างองค์กรที่ร่วมระดมทุนในการผลิตกับกลุ่มองค์กรทางสังคมที่ช่วยเหลือคนตาบอด มีอุปกรณ์ช่วยให้พวกเจาดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีได้” “ตัวแทนทีม PATHSENSE ผู้ชนะเลิศ อธิบาย

ไอเดียถัดมาคือโปรเจค Aunity ของทีม AUTISM ซึ่งร่วมตัวนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยพวกเขา โฟกัสกลุ่มออทิสติก ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางด้านพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสาร การเข้าสังคม การมีความสนใจซ้ำ หรือมีรูปแบบการกระทำเป็นแบบแผนจำกัดในเรื่องเดิม

นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อผู้สูงวัยและคนพิการ ปฏิวัติคุณภาพชีวิตด้วยไอเดียสร้างสรรค์

“กลุ่มคนออทิสติก เป็นผู้ทีมีสุขภาพแข็งแรงในภายนอก มีสติปัญญาที่สามารถใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ หากได้รับการฝึกฝน มีผลการศึกษาที่อธิบายว่า คนกลุ่มนี้มีความสามารถเฉพาะด้าน เช่นมีความละเอียด สามารถทำกิจกรรมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้ดี ดังนั้นท่ามกลางมุมมองด้านลบ พวกเราจึงคิดว่าจะมีสิ่งใดที่จะช่วยให้คนกลุ่มนี้ทำงานได้ง่ายขึ้น” เมฆินทร์ วงศ์ศรีลา ตัวแทนทีม AUTISM อธิบาย

โปรเจคของ Aunity จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยี AI ประมวลผล และบอกขั้นตอนการทำงานที่ผู้ลงทะเบียนกรอกข้อมูล เช่น การขึ้นแจ้งเตือนเป็นลำดับขั้นตอนในการทำงาน การใช้ระยะเวลาทำงาน การรายงานผล ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ใช้งานโฟกัสในสิ่งที่ตัวเองทำ โดยมี AI ควบคุมการทำงาน และวางแผนในภาพรวมให้เพื่อลดขั้นตอนการผิดพลาด ทั้งยังมีโหมดความบันเทิงเพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น การใส่หูฟังเพื่อป้องกันเสียงรบกวน การเพิ่มสมาธิในการทำงาน

“เรามองคนกลุ่มออทิสติกเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ หากพวกเขาค้นพบความถนัด และมีตัวช่วยในสิ่งที่เขามองเป็นอุปสรรคในการทำงาน คนกลุ่มนี้จะกลับมาเป็นเป็นกลุ่มแรงงานที่ดี และช่วยเพิ่มคุณค่าให้เขาพึ่งพาตัวเองได้ อยู่ในสังคมนี้ได้” ตัวแทนทีมเจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ซึ่งโฟกัสการพัฒนานวัตกรรมแพลตฟอร์มสื่อสารการทำงานสำหรับผู้มีภาวะออทิสติก (Autism spectrum disorder: ASD) อธิบาย

ขณะที่โปรเจค Akong Amah Alert ของทีมหลานม่า ซึ่งได้รางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 2 พัฒนาจากการรวมตัวของนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนานวัตกรรมเข็มขัดตรวจจับการล้มกระตุ้น AirBag พร้อมติดต่อญาติ หรือรถโรงพยาบาล ผ่านสัญญาณ Cellular , DevioBeacon ของ LINE OA

ศศิภา ภูขีด หัวหน้าทีม อธิบายว่า บริเวณเข็มขัดที่ถูกผู้สูงอายุสวมใส่ จะมีเข็มตรวจจับเป็นส่วนเซนเซอร์ ที่จะคอยตรวจจับแรงกระแทกและเข้ามารองที่สะโพก ซึ่งเป็นส่วนที่มีการสำรวจว่าผู้สูงอายุจะเกิดอุบัติเหตุและได้รับผลกระทบในส่วนนี้มากที่สุด คล้ายกับอุปกรณ์ถุงลมนิรภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุบน

“จากนั้นสัญญาณจะส่งต่อไปยังสายด่วน และญาติ เพื่อแจ้งเตือนว่า เกิดการล้มกระแทกขึ้นที่บริเวณไหนของบ้าน ขณะนี้อาการเป็นอย่างไร ถ้าจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลใกล้ๆบ้าน ระบบก็จะช่วยติดต่อกับรถพยาบาลให้การเดินทางง่ายขึ้น”

ปัจจุบัน สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตประชากร โดยโครงสร้างประชากรของไทยมีการเปลี่ยนแปลง เด็กเกิดน้อยลง วัยแรงงานแบกรับภาระการดูแลเพิ่มมากขึ้น การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 13.06 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด เช่นเดียวกับกลุ่มผู้พิการทั้งร่างกายและสติปัญญา ที่นับวันโอกาสทางสังคมที่จะทำให้เขาอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรียิ่งน้อยลงๆ ทุกที

ทั้งหมด คือไอเดียที่กลุ่มนักศึกษาลงมือทำการสำรวจ คิดค้น และหาโมเดลธุรกิจเพื่อให้เกิดขึ้นจริง โดยมีทักษะดิจิทัล เช่น การสร้างแพลตฟอร์ม ,พัฒนา AI, UX Design, Data Communication, Cybersecurity และอีก ฯลฯ เป็นเส้นหลักเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เวที JUMP THAILAND HACKATHON 2024 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง AIS ACADEMY และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้การสนับสนุน โดยการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสะดวก และเท่าเทียมกับคนทั่วไป เพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย 5 ข้อเสนอ ได้แก่ เสริมพลังวัยทำงาน, เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน, สร้างพลังผู้สูงอายุ, เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าคนพิการ และสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อความมั่นคงของครอบครัว

ขอบคุณ... https://ngthai.com/education/70823/jump-thailand-hackathon-2024/

ที่มา: ngthai.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 26 ก.ค. 67
วันที่โพสต์: 26/07/2567 เวลา 14:21:09 ดูภาพสไลด์โชว์ นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อผู้สูงวัยและคนพิการ ปฏิวัติคุณภาพชีวิตด้วยไอเดียสร้างสรรค์