ถึงเวลาองค์กรต่างๆ ร่วมยกระดับอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการเปลี่ยนโควตาการจ้างงานผู้พิการให้เป็นโค้ช AI

ถึงเวลาองค์กรต่างๆ ร่วมยกระดับอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการเปลี่ยนโควตาการจ้างงานผู้พิการให้เป็นโค้ช AI

อุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด Vulcan Coalition (วัลแคน โคอะลิชั่น) ผู้ประกอบการธุรกิจปัญญาประดิษฐ์โดยผู้พิการ ทั้งด้านอุตสาหกรรมและงานวิจัย ผนึกกำลังสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ยกระดับอุตสาหกรรม AI ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพผู้พิการให้มีโอกาสก้าวสู่การเป็น AI Trainer หรือโค้ช AI และเปลี่ยนโควตาการจ้างงานผู้พิการตามกฎหมายเป็นโครงการนวัตกรรมสังคมที่สร้างสรรค์ หรือเป็นซีเอสอาร์ยุคใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่ธุรกิจและจริยธรรม

________________________________________

นายภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ กลุ่มโครงการพิเศษและศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา depa มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลต่างๆ ของประเทศไทย ให้มีศักยภาพทัดเทียมระดับโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ล่าสุด depa มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ Vulcan Coalition ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้่ของประเทศไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาการขาดแคลนชุดข้อมูล (Dataset) ปริมาณมาก ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการฝึกสอนปัญญาประดิษฐ์ ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันทั่วโลก รวมถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ในการทำธุรกิจที่จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจ พร้อมกับสอดรับความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ถึงเวลาองค์กรต่างๆ ร่วมยกระดับอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการเปลี่ยนโควตาการจ้างงานผู้พิการให้เป็นโค้ช AI

ด้าน นายนิรันดร์ ประวิทย์ธนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Vulcan Coalition ให้ข้อมูลว่า ภารกิจของบริษัทฯ คือการสร้างงานและรายได้ที่แท้จริงให้กับคนพิการ เพื่อให้สามารถมีรายได้เลี้ยงตัวเองอย่างยั่งยืน ขณะที่วัตถุประสงค์ที่ทางบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับทาง depa นั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้พาร์ทเนอร์หรือผู้ที่สนใจที่จะขับเคลื่อนสังคมด้วยปัญญาประดิษฐ์จากผู้พิการ นอกจากนี้ ยังขยายขอบเขตไปถึงการนำ AI มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงการสร้างเทคโนโลยี AI ตลอดจนการสร้าง Open Dataset (ชุดข้อมูลเปิดที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้โดยอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำไปเผยแพร่ได้โดยใครก็ตาม) ที่เป็นหัวใจสำคัญของการสร้าง AI และการสร้าง Dataset จากผู้พิการ

น่าเสียดายที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขีดจำกัดในการพัฒนาโอกาสในอุตสาหกรรม AI เพราะยังขาดชุดข้อมูลในการที่จะพัฒนา AI ให้มีความชาญฉลาดและสามารถแข่งขันได้ในโลกสากล กอปรกับการที่ผู้พิการในไทยจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสทำงาน การส่งเสริมให้ผู้พิการเหล่านี้ให้มีงานทำ มีรายได้ และมีความภาคภูมิใจในตัวเอง ในฐานะผู้จัดเตรียมข้อมูล เพื่อพัฒนา Open Dataset ดังกล่าว จึงเป็นทิศทางที่จะทำให้ประเทศไทยเติบโตอุตสาหกรรมนี้ได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้พิการยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งได้ด้วยลำแข้งของตัวเองด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยการจ้างงานคนพิการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 ซึ่งมีผลบังคับใช้กับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ เพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ด้วยการคุ้มครองการมีงานทำของคนพิการ เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสในการใช้ความสามารถเช่นเดียวกับคนทั่วไปในการพึ่งพาตนเอง ในการที่จะหารายได้ ช่วยลดภาระของครอบครัวและสังคม โดยกำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ ต้องรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 33 ซึ่งกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน โดยกำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงานจำนวน 100 คน จ้างคนพิการ 1 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 100 : 1 และหากบริษัทใดมีพนักงาน 200 คน ก็จ้างคนพิการ 2 คน แต่ถ้าหากมี 500 คน ก็จ้างคนพิการ 5 คน แต่หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่ประสงค์จะจ้างงานคนพิการ ก็สามารถส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา 34 แทนการจ้างงานคนพิการได้ หรือให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการแทนได้ ตามมาตรา 35

ถึงเวลาองค์กรต่างๆ ร่วมยกระดับอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการเปลี่ยนโควตาการจ้างงานผู้พิการให้เป็นโค้ช AI

ทำไมถึงเชื่อมั่นในศักยภาพคนพิการ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Vulcan Coalition ระบุว่า เมื่อบางส่วนของร่างกายหรือสมองที่ขาด ถูกเติมเต็มด้วยส่วนอื่นให้พิเศษกว่าปกติ การโอนถ่ายพื้นที่ของสมองในส่วนอวัยวะที่พิการ เพื่อช่วยอวัยวะที่ไม่พิการ และการใช้ประสาทสัมผัสอื่นทดแทนประสาทสัมผัสที่พิการซ้ำๆ จะส่งผลให้คนพิการแต่ละประเภท มี ‘ศักยภาพเฉพาะตัว’ ที่โดดเด่นกว่าคนทั่วไป เช่น กลุ่มคนตาบอด สามารถประมวลข้อมูลเสียง ได้รวดเร็วกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า ขณะที่ กลุ่มคนหูหนวก สามารถมองเห็นในกว้างและมองรายละเอียดได้ดีกว่าคนทั่วไป ส่วนกลุ่มออทิสติก สามารถจับแพทเทิร์นได้ดีและมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่พวกเขาสนใจสูงมาก

นอกจากนี้ Vulcan Coalition ได้เชิญชวนผู้ที่สนใจ และองค์กรต่างๆ เข้าร่วมโครงการเปลี่ยนโควตาคนพิการขององค์กรเป็น Open Dataset เพื่อแก้ไขข้อจำกัดที่สำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรม AI ของประเทศไทย แบบไม่มีค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียวตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยการลงทะเบียนที่นี่ https://ran621220.typeform.com/to/DodT4oUi เพื่อเปลี่ยนโควตาการจ้างงานคนพิการตามกฎหมายเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม (1+100 for Better Society) หรือโครงการซีเอสอาร์ที่สร้างสรรค์ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการลดภาระงานด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานคนพิการทั้งหมดอีกด้วย

ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทยล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2564 โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ประเทศไทยมีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ จํานวน 2,092,595 คน คิดเป็นสัดส่วน 3.21% ของประชากรทั้งประเทศ แบ่งเป็นคนพิการเพศชายจํานวน 1,091,845 (52.18%) และเพศหญิงจํานวน 1,000,750 คน (47.82%) และแบ่งตามประเภทความพิการ ดังนี้ ทางความเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 49.85% ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 18.84% ทางการมองเห็น 9.12% ทางจิตใจหรือพฤติกรรม 7.80% ทางสติปัญญา 6.82% พิการมากกว่า 1 ประเภท 5.94% ออทิสติก 0.78% ทางการเรียนรู้ 0.63% และข้อมูลรอการยืนยัน 0.23% โดยมีคนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน อายุระหว่าง 15 – 59 ปี จำนวน 857,253 คน คิดเป็นสัดส่วน 40.97% ของจำนวนคนพิการทั้งหมดในประเทศไทย และมีคนพิการที่ได้รับการศึกษา จำนวน 1,593,948 คน คิดเป็นสัดส่วน 76.17% ของคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ

ถึงเวลาองค์กรต่างๆ ร่วมยกระดับอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการเปลี่ยนโควตาการจ้างงานผู้พิการให้เป็นโค้ช AI

AI ยังมาแรง ไม่เคยแผ่ว

สำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหัวข้อของจินตนาการของผู้คน และเนื้อเรื่องหลักของภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์มานานหลายทศวรรษ ทุกวันนี้กลับไม่ใช่นิยายเพ้อฝันอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันของผู้คน

AI หมายถึง ความสามารถของคอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักรในการเลียนแบบความสามารถของจิตใจมนุษย์ ซึ่งมักจะเรียนรู้จากประสบการณ์ก่อนหน้านี้ เพื่อทำความเข้าใจและตอบสนองต่อภาษา การตัดสินใจ และปัญหา โดยความสามารถของ AI ถูกใช้อยู่่ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นในการนำ AI ไปใช้งานองค์กร ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและโทรคมนาคม บริการทางการเงิน การดูแลสุขภาพ และเภสัชกรรม

ปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกอยู่ที่่ 327.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังคงเติบโตแรงหนุนจากการไหลเข้าของเงินลงทุน จากในช่วงปี 2558-2563 ที่การลงทุนรวมของบริษัททั่วโลกที่ลงทุนใน AI ในแต่ละปี เพิ่มขึ้น 55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การเพิ่มขึ้นของการลงทุนในอุตสาหกรรม AI ประกอบกับความต้องการผู้มีความสามารถด้าน AI ที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลายบริษัทได้ประกาศเปิดรับสมัครตำแหน่งงานด้านนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ หลายประเทศยังพบว่าอัตราการจ้างพนักงานที่มีความรู้ความสามารถด้าน AI เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ขอบคุณ... https://www.salika.co/2021/09/21/ai-trainer-disabilities-quota/

ที่มา: salika.co /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 21 ก.ย.64
วันที่โพสต์: 22/09/2564 เวลา 10:45:47 ดูภาพสไลด์โชว์ ถึงเวลาองค์กรต่างๆ ร่วมยกระดับอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการเปลี่ยนโควตาการจ้างงานผู้พิการให้เป็นโค้ช AI