หุ่นยนต์บริการในร้านกาแฟ บังคับด้วยผู้พิการนอนติดเตียง ต้นแบบการใช้นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นได้จริง
ในตอนนี้เชื่อว่าทุกคนยอมรับกันแล้วว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์ หรือ Robotic มีประโยชน์กับการใช้ชีวิตของมนุษย์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด หุ่นยนต์ ก็ยิ่งเข้ามามีบทบาทช่วยมนุษย์ในหลากหลายด้านมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ หุ่นยนต์บริการ ซึ่งในปัจจุบันพบเห็นได้ทั้ง หุ่นยนต์บริการในร้านอาหาร และ หุ่นยนต์บริการในร้านกาแฟ ที่ทำหน้าที่ช่วยงานมนุษย์ ตอบโจทย์ทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานช่วงวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 และยังช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคให้กับมนุษย์อีกด้วย
ล่าสุด เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ยังได้รับการนำปรับใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ และสร้างสังคมที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยเรื่องเล่าที่มาเป็นต้นแบบของ หุ่นยนต์บริการในร้านกาแฟ ซึ่งบังคับโดยผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงที่ทำงานจากที่บ้าน เกิดขึ้นแล้วที่ประเทศญี่ปุ่น
Dawn Avatar Robot Café เป็นคาเฟ่ที่เปิดขึ้นที่ญี่ปุ่น และใช้ หุ่นยนต์บริการในร้านกาแฟ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะหุ่นยนต์บริการถูกนำมาใช้แทนบริกรที่ทำหน้าที่เสิร์ฟอาหารในร้านอาหาร ร้านกาแฟ กันไม่น้อยแล้ว ยิ่งตั้งแต่เกิดวิกฤตโรคระบาด ที่เกิดปัญหาการขาดแคลนคนงาน รวมถึงมีเหตุผลด้านการป้องกันการกระจายของเชื้อไวรัสโควิด
ทว่า สิ่งที่ทำให้ หุ่นยนต์บริการในร้านกาแฟ ของที่นี่มีความแปลกใหม่และมีคุณค่า สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนที่ได้ยินเรื่องราว นั่นคือ หุ่นยนต์แต่ละตัวเป็นเหมือน “ร่างอวตาร” ของพนักงานผู้พิการ ที่ทำหน้าที่ควบคุมหุ่นยนต์ระยะไกลจากที่บ้าน เพื่อพูดคุย รับออเดอร์ เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มให้กับลูกค้าภายในร้าน
Dawn Avatar Robot Café เปิดเป็น pop-up café มาแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2018 และเพิ่งจะเปิดเป็นร้านถาวรที่ย่านนิฮงบาชิในโตเกียวเมื่อมิถุนายน ปีที่ผ่านมา และในปัจจุบันมีพนักงานที่เป็นผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงที่ทำงานจากที่บ้านเกือบ 60 คน
ผู้ก่อตั้งร้านเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทหุ่นยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ปณิธานของเขาไม่ได้ต้องการให้หุ่นยนต์มาแทนที่หรือแย่งงานมนุษย์ แต่อยากใช้มันเพื่อเพิ่มโอกาสให้คนที่ขาดโอกาส ร้านกาแฟนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ของโอกาส ให้ผู้พิการสามารถทำงานและทำกิจกรรมเชื่อมโยงกับสังคมภายนอกได้
มัสสะ เป็นหนึ่งในพนักงานรุ่นแรกๆ ของทางร้าน เขาเป็นผู้พิการติดเตียงที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์นอกกรุงโตเกียว แม้จะมีความพิการขั้นรุนแรง แต่เขาก็สามารถควบคุมหุ่นยนต์ผ่านดวงตา (eye tracking) ให้ทำหน้าที่พนักงานร้านกาแฟได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
การได้ทำงานนี้ ทำให้ชีวิตบนเตียงอันโดดเดี่ยวของเขาเปลี่ยนไป มัสสะมองเห็นความหวัง เขามีโอกาสได้สื่อสารกับผู้คนมากมาย ได้รับรู้ความเป็นไปของโลกภายนอก ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ยิ่งเมื่อได้เห็นว่าการบริการของเขาทำให้ลูกค้าพอใจและมีความสุข “มันทำให้ผมรู้สึกมีความมั่นใจขึ้นมากๆ”
นอกจากนี้ “การงานแห่งชีวิต” ที่ มัสสะได้ทำนี้ ยังเป็นการใช้เทคโนโลยี อย่าง หุ่นยนต์บริการในร้านกาแฟ มาช่วย “กำจัดความเปลี่ยวเหงาของมนุษย์” ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้ก่อตั้งร้านด้วย
Ory Yoshifuji ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง Ory Laboratory เจ้าของไอเดียการเปิด Dawn Avatar Robot Café กล่าวไว้ว่า
“ทั้งที่เราอยู่ในยุคซึ่งมีเทคโนโลยี นวัตกรรม หลากหลายที่มาส่งเสริมให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้ยืนยาวกว่าเดิม ทว่า ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ถูกละเลย ถูกมองข้ามไป ทำให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตแบบจำยอม หนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำนี้อย่างเด่นชัด คือ กลุ่มผู้พิการที่ต้องนอนติดเตียงอยู่กับบ้าน”
ในปี 2021 Yoshifuji ได้ตั้งคำถามเพื่อเป็นสมมุติฐานในการก้าวเดินต่อของธุรกิจของเขาว่า
OriHime จะเป็นคำตอบให้กับผู้คนในการเข้าถึง “ชีวิตที่ดีขึ้น” และรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ในยุคแห่งโรคระบาดนี้ได้อย่างไร?
กลุ่มผู้พิการสามารถมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีโอกาสในการพบปะผู้คนใหม่ๆ แม้กระทั่งนอนอยู่บนเตียง และหารายได้มาจุนเจือตัวเขาและครอบครัวได้อย่างไร
เราจะสร้าง ชุมชนสร้างสรรค์ ที่มีส่วนช่วยกลุ่มคนด้อยโอกาสในสังคมได้อย่างไร?
เราจะปิดช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำ ระหว่างผู้พิการและคนปกติ แล้วพัฒนาให้เป็น ความเชื่อมโยง ช่วยเหลือ เกื้อกูล กันได้ในทางใดบ้าง?
“เพราะภายใต้สถานการณ์ที่ทุกคนเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เส้นขีดแบ่งระหว่าง ผู้พิการ กับ คนปกติ ยิ่งมีความพร่ามัว ทำให้ทุกคำถามที่เราตั้งขึ้นข้างต้น ยิ่งจำเป็นต้องหาคำตอบให้ด้วยการกระทำ ด้วยการสร้างเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้เกิดขึ้นให้ได้”
“เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของคนที่ทำให้เส้นขีดแบ่ง กางกั้น แบ่งแยกระหว่าง คนสองกลุ่มนี้ หายไป แล้วสร้างสังคมใหม่ที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยใช้แรงจาก “คนปกติ” ที่สามารถคิดค้น สามารถเดินหน้าทำสิ่งดีๆให้กับ ผู้พิการ ที่แค่ไม่สามารถเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตได้อย่างพวกเรา”
“การเดินทาง เพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ของเราจะเริ่มขึ้น กรุณาติดตามการผจญภัยของเราในครั้งนี้กันด้วย”
โดยโปรเจ็กต์ The “Avatar Robot Café” เป็นต้นแบบ (Prototype) ของการทำธุรกิจ Ory Laboratory ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้พิการ ที่อาจนอนติดเตียงมาเป็นหนึ่งในพนักงานของ Dawn Avatar Robot Café โดยทางร้านจะเรียกพนักงานกลุ่มนี้ว่า “Pilots” ผู้มาทำหน้าที่ควบคุม หุ่นยนต์ให้บริการในร้านกาแฟ หรือ Avatar robots “OriHime and OriHime-D””
“แน่นอนว่า จุดประสงค์ของโปรเจกต์นี้ นั่นคือ การมอบโอกาสให้ผู้พิการที่อยากทำงานได้ทำงานอย่างที่ตนเองตั้งใจ โดยไม่มีข้อจำกัดในด้านร่างกายหรืออาการเจ็บป่วยเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยการนำเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ มาช่วยลบข้อจำกัดตรงนั้นออกไป”
“เป้าหมายสำคัญที่เราตั้งไว้ คือการปรับใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์กับผู้คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าทำได้ ย่อมช่วยแก้ปัญหาที่คนกลุ่มด้อยโอกาสในสังคมถูกทอดทิ้ง และช่วยทำให้สังคมและโลกใบนี้น่าอยู่ขึ้นได้ในระยะยาว” Yoshifuji ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง Ory Laboratory กล่าวในที่สุด
ขอบคุณ... https://www.salika.co/2022/01/18/service-robot-in-cafe-support-disable-person/