ระบบสั่นแจ้งเตือนคนตาบอด - บอกระยะของสิ่งกีดขวางได้ ไม่ต้องใช้ไม้เท้าอีกต่อไป !!
ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาช่วยให้ผู้พิการที่สูญเสียอวัยวะ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้นไม่ต่างจากคนปกติ และล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งมิวนิก ได้พัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาทราบถึงสิ่งกีดขวางตรงหน้าโดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าอีกต่อไป
อุปกรณ์ดังกล่าวจะประกอบด้วย 2 วงจร อย่างแรกคือแว่นตาที่ทำขึ้นจากเครื่องพิมพ์ 3D พร้อมใส่กล้องอินฟราเรดไว้สำหรับจับภาพสิ่งกีดขวาง ตัวแว่นจะเชื่อมต่อไปยังปลอกแขนที่สามารถสั่นได้โดยสวมไว้ในแขนข้างหนึ่ง ซึ่งจะทำงานประสานกันเพื่อแจ้งให้ผู้สวมใส่ทราบว่าขณะนี้อยู่ใกล้สิ่งกีดขวางตรงหน้าขนาดไหน
กลไกการทำงานของอุปกรณ์นี้ เริ่มจากแว่นตาอินฟราเรดจะจับภาพแบบ 3D เพื่อระบุความชัดลึกของมิติตรงหน้าของผู้สวมใส่ หากพบสิ่งกีดขวางตรงหน้าหน่วยประมวลผลภายในจะแปลงภาพสัญญาณ ส่งไปยังระบบของปลอกแขน ซึ่งในส่วนของปลอกแขนจะมีมอเตอร์สั่นด้วยกัน 25 หน่วย ความแรงของการสั่นจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผู้สวมใส่เดินเข้าใกล้สิ่งกีดขวาง
ระบบการสั่นที่ตอบสนองต่อสิ่งกีดขวาง โดยมีการปรับความแรงของการสั่นตามระยะทางนี้เรียกว่า Haptic feedback ทั่วไปแล้วนิยมใช้เป็นระบบตอบสนองในการเล่นเกม เช่น ระบบสั่นของสมาร์ตโฟน หรือระบบสั่นในคอนโทรลเลอร์ของเครื่องเกมคอนโซล เป็นต้น ซึ่งจะมีการตอบสนองของการสั่นมาก-น้อยก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ถูกตั้งค่าไว้ นักวิทยาศาสตร์จึงนำ Haptic feedback นี้มาปรับใช้กับอุปกรณ์สำหรับผู้พิการทางสายตาชิ้นนี้นั่นเอง
จุดเด่นของอุปกรณ์นี้คือผู้พิการทางสายตาไม่จำเป็นต้องพกไม้เท้า เพราะโดยปกติแล้วพวกเขาเหล่านั้นมักจะใช้ไม้เท้าช่วยควานหาตำแหน่งของสิ่งกีดขวางตรงหน้า ทำให้มือข้างหนึ่งต้องคอยกำไม้เท้าไว้เสมอจึงไม่สะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวันสักเท่าไร แต่เมื่อสวมอุปกรณ์นี้พวกเขาจะสามารถใช้มือและแขนทั้งสองข้างได้อย่างอิสระ แต่ยังสามารถเดินไปไหนมาไหนได้โดยไม่ชนสิ่งกีดขวาง
จากการทดสอบกับอาสาสมัครพบว่าพวกเขาสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้อย่างแม่นยำถึง 98% ในขณะที่แขนและมือทั้งสองข้างเป็นอิสระก็สามารถทำงานต่าง ๆ เสร็จได้รวดเร็วขึ้นด้วย
ทั้งนี้ มีนักวิทยาศาสตร์คณะอื่น ๆ ที่พยายามคิดค้นอุปกรณ์พิเศษที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตากลับมามองเห็นได้อีกครั้ง อย่างการสวมแว่นตาที่มีกล้องติดอยู่ด้านหน้า กล้องนี้จะส่งภาพเข้าสู่ชิปประมวลผลที่ติดอยู่ในสมองส่วนการมองเห็น เพื่อประมวลผลภาพให้ผู้สวมใส่ได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านเส้นประสาทดวงตา เรียกว่าการบายพาสดวงตา
ทว่า เทคโนโลยีการบายพาสนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาและยังต้องใช้ระยะเวลาในการทดลองอีกนานกว่าจะนำมาใช้งานในมนุษย์ได้อย่างแพร่หลาย ในเวลานี้อุปกรณ์บอกตำแหน่งและระยะของสิ่งกีดขวางผ่าน Haptic feedback ของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งมิวนิก จึงเป็นตัวเลือกที่ดีในขณะนี้และน่าจะมีการนำมาใช้กับผู้พิการทางสายตาในอีกไม่กี่ปีอย่างแน่นอน