แอปพลิเคชันและฟีเจอร์ของ Google ที่ช่วยให้ผู้พิการได้เข้าถึงและใช้เทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม
ในวันที่ 18 พฤษภามนี้ เป็นวันตระหนักรู้ถึงการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม (Global Accessibility Awareness Day) ซึ่งจากข้อมูลเดือนมีนาคม 2566
มีคนพิการทั่วโลกอยู่ 16% หรือประมาณ 1.3 พันล้านคน เทียบเท่ากับ 1 ใน 6 คน นอกจากความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพแล้ว สิ่งที่ผู้พิการต้องเผชิญยังมีอีกมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเข้าถึงเทคโนโลยี และเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงโลกดิจิทัล Google ได้พัฒนาแอปพลิเคชันและฟีเจอร์ต่างๆ โดยเน้นให้เกิดการใช้งานที่สะดวก และมีการเข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
Action Blocks สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเพื่อให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันบน Android ได้ง่ายขึ้นด้วยปุ่มที่ปรับแต่งได้บนหน้าจอหลักเพียงปุ่มเดียว โดยผู้ใช้สามารถเปิดใช้ Action Blocks และเลือกกิจกรรมจากรายการที่มีอยู่ภายในแอป หรือพิมพ์กิจกรรมเพิ่มลงไปในการตั้งค่าด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำกิจกรรมเหล่านั้นได้ด้วยการกดเพียงปุ่มเดียว เช่น วิดีโอคอลกับคนสำคัญ ตรวจสอบสภาพอากาศ หรือเปิดคลิปวิดีโอที่ชื่นชอบ
Reading mode หรือโหมดการอ่านบนอุปกรณ์แอนดรอยด์ ที่มาพร้อมตัวเลือกหน้าจอที่ปรับแต่งได้ เช่น คอนทราสต์ รูปแบบของฟอนต์ และขนาด และฟังก์ชั่นการอ่านออกเสียงข้อความที่สามารถกำหนดความเร็วได้ ยังช่วยให้ผู้ที่ประสบปัญหาทางการมองเห็น เช่น ตาบอด สายตาเลือนราง หรือมีภาวะผิดปกติทางด้านการอ่าน สามารถติดตามคอนเทนต์ที่ชื่นชอบได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
Live Transcribe ที่สามารถแปลงเสียงพูดให้กลายเป็นข้อความแบบเรียลไทม์ได้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการสนทนาในชีวิตประจำวันของคนหูหนวก หรือผู้ที่มีปัญหาในการได้ยิน ซึ่งมีภาษาให้เลือกกว่า 80 ภาษา และสลับระหว่าง 2 ภาษาได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ใช้สามารถตั้งค่าโทรศัพท์ให้สั่นเมื่อชื่อของผู้ใช้ถูกเรียก มีตัวเลือกในการเพิ่มคำศัพท์ สถานที่ และสิ่งต่างๆ ลงใน Live Transcribe ของผู้ใช้ รวมไปถึงคำที่ไม่มีในพจนานุกรม และฟีเจอร์ที่ช่วยค้นหาการถอดเสียงที่ผู้ใช้บันทึกไว้ รวมไปถึงการแจ้งเตือนเสียงที่มีคุณลักษณะแจ้งเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อาจมีความเสี่ยงและสถานการณ์ส่วนบุคคลโดยพิจารณาจากเสียงที่ดังขึ้นที่บ้าน เช่น เสียงสัญญาณเตือนควัน เสียงไซเรน เสียงเด็กทารก
Sound Amplifier เป็นโปรแกรมขยายเสียงที่ช่วยให้เสียงบนสมาร์ทโฟน Android ชัดเจนขึ้น ช่วยตัดเสียงรบกวนรอบข้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ปรับเสียงให้ดังเกินไป พร้อมด้วยการตั้งค่าที่ให้คุณปรับแต่งตามความต้องการได้ และยังเพิ่มความสามารถในการใช้ Sound Amplifier ให้เป็นโปรแกรมขยายเสียงแบบพกพาด้วยหูฟังบลูทูธ ซึ่งหมายความว่าคุณสามารถวางอุปกรณ์ของคุณใกล้กับแหล่งกำเนิดเสียงและเพิ่มระดับเสียงโดยไม่รบกวนผู้อื่น นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขยายเสียงสำหรับแอปอื่นๆ ในสมาร์ทโฟน Pixel เช่น YouTube และ Spotify ได้อีกด้วย
ผู้ใช้งาน Google Maps ในประเทศไทย สามารถดูข้อมูลสถานที่ที่รองรับเก้าอี้รถเข็น (Accessible Places) หรือสถานที่ที่สามารถใช้รถวีลแชร์ได้บน Google Maps เช่น ที่นั่ง ทางเข้าออก ห้องน้ำ ลิฟท์ และที่จอดรถ เป็นต้น รวมทั้งผู้ประกอบการก็สามารถตั้งค่าแอตทริบิวต์ของวีลแชร์เพื่อแสดงให้ผู้ใช้บริการเห็นการช่วยเหลือพิเศษดังกล่าว
ผู้ใช้งาน YouTube สามารถเพิ่มคำบรรยาย ประกอบด้วยข้อความที่มีการพูดในวิดีโอ ซึ่งฟีเจอร์นี้มีประโยชน์มากสำหรับผู้ชมที่มีปัญหาในการได้ยิน
นอกจากนี้ YouTube ยังเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้กับทุกคนในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ ปัจจุบัน มีครีเอเตอร์พิการหลายคนได้ใช้ YouTube เป็นช่องทางแสดงความสามารถที่น่าทึ่งด้วยเช่นกัน ได้แก่ ช่อง GOLF NO HANDS channel (39.7K)
GOLF NO HANDS channel (39.7K) “กอล์ฟ” ภราดร รุ่งเรื่อง อายุ 19 ปี กับฉายาสตรีมเมอร์ไร้แขน เด็กหนุ่มผู้บกพร่องทางร่างกายที่สูญเสียทั้งแขนและขาจากอุบัติเหตุ แต่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ใช้ความชอบและความสามารถทางร่างกายเล่นเกม และสร้างช่อง YouTube โชว์สกิลการเล่นเกมด้วยปาก โชว์ทักษะที่ไม่เป็นรองใคร
“กอล์ฟ” มีความฝันที่อยากจะเป็นนักกีฬาฟุตบอล แต่กลับประสบอุบัติเหตุไฟช็อตจากเสาไฟฟ้าแรงสูง จนไฟไหม้ทั่วร่างกาย ทำให้สูญเสียขาและแขนทั้ง 2 ข้างไป อุบัติเหตุครั้งนั้นได้เปลี่ยนแปลงชีวิตกอล์ฟในวัยเพียงแค่ 13 ปีเท่านั้น แต่กอล์ฟก็ไม่ย่อท้อ ถึงแม้ว่าร่างกายจะพิการ แต่กอล์ฟก็ยังอยากมีงานทำเพื่อให้มีรายได้ และช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว คุณแม่ของกอล์ฟเล่าว่ากอล์ฟพยายามทุกอย่างเพื่อให้มีรายได้มาแบ่งเบาภาระในครอบครัว พยายามมองหาสิ่งที่ตัวเขาพอจะทำได้ด้วยตัวเองและพัฒนามาเรื่อยๆ จนในที่สุดกอล์ฟได้พบกับจุดเปลี่ยนของชีวิตอีกครั้ง จุดเริ่มต้นการสตรีมเกมของกอล์ฟเริ่มจากน้าชายที่ชื่อ “นิรันดร์ รุ่งเรือง” ที่เห็นกอล์ฟใช้ปากบังคับปากกาเล่นเกม จึงชวนกอล์ฟมาเล่นเกม PUBG จนได้เห็นถึงความสามารถในการเล่นเกมของกอล์ฟที่สามารถเล่นกับคนปกติได้ดี น้านิรันดร์จึงตัดสินใจชวนกอล์ฟมาลองสตรีมอย่างจริงจัง ครั้งแรกของการสตรีมเกมครั้งนั้นมีคนเข้ามาดูสดถึง 7,000 คน และเมื่อจบการสตรีมก็มียอดการเข้าชมสูงกว่า 2 แสนคน ซึ่งมีกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ชม ทำให้กอล์ฟมีกำลังใจที่จะทำต่อไป จากความรู้สึกดีนั้นได้ส่งผลต่อสภาพจิตใจ ของกอล์ฟอีกด้วย ทำให้เรื่องราวของกอล์ฟเป็นที่รู้จักจากคนทั่วไป กอล์ฟได้กำลังใจ ได้ฝึกภาษา และสามารถสร้างรายได้จากการสตรีมเกมใด้วย สิ่งที่กอล์ฟและน้านิรันดร์ภูมิใจที่สุดคือการเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ที่มีความพิการสามารถหาเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวได้ ปัจจุบันกอล์ฟ เป็นนักสตรีมเกมส์ผู้พิการที่มีชื่อเสียงจาก GOLF NO HANDS Channel ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 3.97 หมื่น คน
Hello Harley (132K) “ฟ้า” วิญธัชชา ถุนนอก พิการตั้งแต่กำเนิดจากความผิดปรกติที่มดลูกของแม่ เหลือเท้าน้อยๆ เพียงข้างเดียวติดกับร่างกายช่วงล่างสั้นๆ ตั้งแต่ช่วงเอวลงไป
ถึงฟ้าจะมีร่างกายที่ไม่ปกติเช่นคนอื่นๆ แต่ “ฟ้า” ก็สามารถให้กำเนิดลูกสาวได้ปกติ ซึ่งในช่วงของการตั้งครรถ์จนก่อนถึงกำหนดคลอด ฟ้าต้องเผชิญกับความยากลำบากต่างๆ เช่น ในประเทศไทยไม่ค่อยมีข้อมูลสำหรับการตั้งครรภ์ของพิการว่าเมื่อตั้งครรภ์แล้วต้องทำอย่างไรบ้าง
ฟ้ามีจิตใจที่เข้มแข็ม คิดบวก ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขแม้จะเกิดมาพิการโดยกำเนิด และมีปัญหามากมายในการใช้ชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก แต่เพราะคุณแม่ที่มักปลูกฝังความคิดเชิงบวกให้เสมอจึงทำให้ฟ้าเติบโตโดยไม่รู้สึกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ตอนเด็กๆ ฟ้าโดนเพื่อนแกล้งบ่อยๆ แต่แม่ก็จะปลอบใจทุกวัน
หลังจากเติบโตจนถึงวัยเข้ามหาวิทยาลัย ฟ้าได้ทุนการศึกษาจนจบปริญญาตรี คณะสังคมและอาชญากรรม ที่ MMU แมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ฟ้าอยากจะเปลี่ยนมุมมองและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับทุกๆ คนโดยไม่เลือกปฏิบัติว่า และส่งต่อแรงบันดาลใจในการมองโลกในแง่ดี ฟ้ามีความตั้งใจที่อยากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกเพื่อพัฒนาสังคมไทย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอเอง
ขอบคุณ... https://www.dailygizmo.tv/2023/05/18/google-feature-for-disable/