คนดีต้องมีที่ยืน โลกต้องดีกว่า : "นวัตกรรมทางสังคม" สร้างโลกสีขาวให้ "คนพิการ" บนอิสรภาพที่ไร้ข้อจำกัดและยั่งยืน
จากความมุ่งมั่นที่จะช่วยผู้พิการให้มีงานทำอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนโดยนักธุรกิจที่อยากเห็นชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนพิการ
TNN ชวนมารู้เรื่องราวเหล่านี้ จากมุมมองของคุณอภิชาติ การุณกรสกุล มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม
ครอบครัวชาวเขาจำนวนมากเด็กเล็กที่เกิดมามีความพิการซ้ำซ้อน
คุณอภิชาติ เล่าว่า มีครอบครัวชาวเขาจำนวนมากที่มีเด็กเล็กเกิดขึ้นมา แล้วอยู่ในสภาพความพิการและพิการซ้ำซ้อนในเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก ไม่รู้ว่าจะสามารถมีชีวิตได้ยาวสักแค่ไหน อาชีพการงานก็ไม่ค่อยได้มี เพราะฉะนั้นการที่จะมีเงินมีทองไปดูแลอาหารการกิน หรือเรื่องยากับลูกก็ยิ่งเป็นโจทย์ใหญ่มาก เขาก็รวมกันอยู่ที่ชมรมคนพิการของเขา ความรู้สึกจะเรียกว่าหดหู่ห่อเหี่ยวก็ได้ ที่เห็นสภาพการชีวิตของครอบครัวจำนวนมากโดยเฉพาะเด็กเล็กที่แทบจะไม่มีความหวัง ไม่มีอนาคต
"อันนั้นเป็นความรู้สึกจับใจที่ทำให้รู้สึกว่า เรื่องนี้ปล่อยไว้แบบนี้โดยที่เราไม่ได้ไปสัมผัสไม่ได้แล้ว เราก็ได้เชื่อมโครงการลงไปสนับสนุนให้เกิดการประกอบอาชีพบนเขาของเขาผ่านกลไกมาตรา 35 การจ้างงานเชิงสังคมเป็นครั้งแรก แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือได้เห็นประกายแววตาความหวังของพ่อแม่ทั้งหลาย
ได้เห็นว่าชีวิตเด็กๆ จำนวนมากกำลังจะมีโอกาสที่จะดีขึ้นได้ สัมผัสได้ถึงความหวังตรงนั้นจากแววตาจากคำพูดตรงนั้นของเขากับสิ่งที่มันกำลังจะเกิดขึ้น ทั้งบอกกับตัวเองก็บอกกับผู้คน ณ เวลาตรงนั้นนะว่าก็จะพยายามทำเรื่องนี้ให้อย่างพูดง่ายๆ สุดชีวิตสุดจิตใจ ดีใจแล้วก็ภูมิใจที่ก็จนถึงวันนี้ก็ยังได้ทำตามคำสัญญานั้นอยู่"
ภายใต้ความพิการที่สามารถแสดงศักยภาพได้หลากหลาย เพียงแค่คุณมองเห็นโอกาสของพวกเขาก็จะมาถึง มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม มุ่งมั่นที่จะช่วยผู้พิการให้มีงานทำอย่างยั่งยืน ถูกขับเคลื่อนโดยนักธุรกิจที่อยากเห็นชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนพิการ
สิ่งที่คนอื่นมองว่าเรื่องเล็ก เขากลับมองว่าคือโอกาสที่ยิ่งใหญ่ แต่การเปลี่ยนความคิดวิธีการของคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะภาพจำในอดีตเรื่องเงินกับคนพิการอาจเป็นภาพจำที่ไม่ประทับใจนัก ทั้งเรื่องการจ่ายเงิน โกงเงิน เรื่องสีเทา ทำให้คุณอภิชาติต้องเจอคำถามมากมาย เขาผ่านไปได้อย่างไร ใช้วิธีไหนในการเปลี่ยนความคิดคนจ้างงาน
แนวความคิดที่อยากจะหาคนพิการป้อนเข้าสู่การทำงานให้ได้เต็มที่มากขึ้น
คุณอภิชาติ เล่าว่า เป็นแนวความคิดที่อยากจะหาคนพิการ เข้ามาป้อนเข้าสู่การทำงานสถานประกอบการให้ได้เต็มที่มากขึ้น เพราะตัวเลขของคนพิการทั่วประเทศ ณ ตอนเราเริ่มเคลื่อนงานประมาณล้านเจ็ดแสนคน ประมาณสักครึ่งหนึ่งแปดแสนกว่าคนอยู่ในวัยทำงาน ในขณะที่ความต้องการตามกฏหมายที่ต้องจ้างคนพิการให้ครบยังขาดอยู่ประมาณสักสองหมื่นกว่าเท่านั้นเอง มันน่าจะเป็นไปได้ แต่พอเริ่มทำงานแล้วจริงแล้ว พบบริบทจริงที่สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ในจำนวนที่น้อยมากและยากมาก เกินเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เหมือนกันอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากแหล่งงาน
อันที่สองพื้นฐานการศึกษาไม่เอื้อ เพราะเข้าไปสู่การทำงานสถานประกอบการก็เลยยิ่งยากมาก แต่เราไปได้ยินเสียงคนพิการในพื้นที่ บอกว่าความจริงแล้วสิ่งที่จะตอบโจทย์ชีวิตเขาได้ทันที แล้วตรงกับบริบทชีวิตมากกว่าคือการมีงานทำในพื้นที่ใกล้บ้าน แล้วก็เป็นงานที่สอดคล้องกับพื้นฐานทักษะเท่าที่เขามีอยู่
คนพิการจะไปทำงานได้จริงไหม จ่ายแล้วไปตกเบี้ยใบ้รายทางกับใครหรือเปล่า?
คุณอภิชาติ เล่าให้ฟังอีกว่า ตอนเราตั้งต้นแบบนี้ก็เห็นว่าคอนเซ็ปต์แนวคิดนี้ดีมาก คือการที่คนพิการได้ทำงานในภูมิลำเนาของตัวเองแล้วก็เป็นงานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน แล้วหน่วยงานชุมชนนั้นได้คนพิการไปช่วยงาน โดยที่ไม่มีภาระงบประมาณ บริการชุมชนดีขึ้น โดยบริษัทเป็นคนช่วยจ่ายค่าจ้าง แล้วบริษัทที่จ่ายค่าจ้างก็ไม่ได้ใช้เงินเพิ่ม เพราะเป็นเงินซึ่งเดิมเคยส่งเข้ากองทุน แต่ตอนเริ่มต้นก็ต้องยอมรับว่ากลไกแบบนี้มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มันจะเกิดการจ้างงานจริงๆ เหรอนั่นก็เป็นคำถามที่หนึ่งนะ
"คนพิการจะไปทำงานในหน่วยงานได้จริงๆ เหรอ หรือเป็นการจ้างงานหลอกๆ จ่ายเงินไปแต่ไม่ได้ไปทำงานหรอกเป็นการสงเคราะห์ นั่นก็เป็นคำถามที่หนึ่งว่าคนพิการจะไปทำงานได้จริงไหม แล้วตังค์ที่จ่ายไปมันจ่ายไปแบบไหน จ่ายแล้วไปตกเบี้ยใบ้รายทางกับใครหรือเปล่า เกิดประโยชน์กับคนพิการเต็มที่หรือเปล่า"
ก็มีคำถามหลากหลายแบบนี้ แล้วจริงๆ แล้วในกลไกจ้างงานทำนองนี้ ก็ต้องบอกว่ามันก็มีเหตุเกิดขึ้นบ้างในเรื่องการเอาเปรียบคนพิการ ทำอย่างไม่ถูกต้องมันมีแฝงอยู่ ทั้งโดยหน่วยงานเอกชนเอง เจ้าหน้าที่รัฐบางคน หรือแม้แต่คนพิการกันเอง เพราะฉะนั้นมันก็มีเรื่อง สีเทาๆ เรื่องความไม่น่าวางใจ เกิดขึ้นเป็นต้นทุนก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว
จากคำพูดแนวคิด สู่การลงมือปฏิบัติแล้วเกิดผล
นี่เป็นเรื่องสำคัญมากในช่วงสองสามปีแรกที่มูลนิธิฯ ต้องทำให้เกิดความชัดเจนและผลลัพธ์ที่ทุกคนวางใจได้ว่าสิ่งนี้ มันเกิดประโยชน์ตามนั้นจริง เพราะฉะนั้นมูลนิธิฯดำเนินการโดยได้ทุนจาก สสส. หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ มูลนิธิฯไม่มีความจำเป็นจะต้องหาทุนจากช่องทางไหน เพราะฉะนั้นสามารถดำเนินการเหล่านี้ พูดง่ายๆ ฟรีๆ ให้กับทั้งคนพิการทั้งหน่วยงานในพื้นที่และบริษัท
เราก็จะผ่านข้อพิสูจน์ขั้นที่หนึ่งแล้วว่ามันไม่มีการเรียกเก็บผลประโยชน์ต่อใคร เพราะว่ากระบวนการพอทำแล้วนี่คือ แต่ละเดือนคนพิการได้รับเงินเดือน จะเป็นการโอนโดยตรงจากบริษัทที่ว่าจ้างสนับสนุนไปให้บัญชีคนพิการโดยตรง แต่ละคนทุกเดือน
เพราะฉะนั้นตัดปัญหาข้อที่หนึ่งไปได้ว่าเงินมันตกข้างทางที่กระเป๋าใครยังไงไหม เพราะว่ามีหลักฐานยืนยันชัดเจนตามกฎหมายและคนพิการก็ได้รับตรงนั้น การทำงานก็เกิดขึ้นอย่างชัดเจนว่าหน่วยงานพื้นที่อย่างเช่นจะเป็น รพ.สต. หรือโรงเรียนหรือสมาคม มูลนิธิอะไรก็แล้วแต่ เขาจะเป็นคนเปิดหน้าที่งานที่มีความจำเป็นต่อหน่วยงานของเขา แล้วกำหนดคุณสมบัติของคนพิการที่เขาคิดว่าตอบโจทย์ได้แล้วเปิดรับสมัครเองในพื้นที่
ฉะนั้น ก็แน่ใจได้ว่าคนพิการเป็นคนพิการที่มาตอบโจทย์งานและทำงานได้ ใช้เวลาประมาณสักสามปีในการที่สิ่งเหล่านี้จากคำพูดแนวคิดไปสู่การลงมือปฏิบัติแล้วก็เกิดผลที่ไปตรวจสอบได้
จากความรู้สึกหมดหวัง ไม่มีคุณค่า กลายเป็นเสาหลักสำคัญของครอบครัว
ผลลัพธ์ที่เราเห็นในพื้นที่จริงๆ เห็นว่าการที่คนพิการคนหนึ่ง คนพิการในครอบครัวหนึ่งจากเดิมที่ไม่มีรายได้เลย แล้วเขาต้องพึ่งพาครอบครัวที่เหลือของเขาประคับประคอง เขารู้สึกว่าตัวเองมันขาดคุณค่า ขาดความหมาย แล้วก็ต้องรอพึ่งพาคนอื่นตลอด พอเขาได้รับการเชื่อมให้มีโอกาสงานและอาชีพ เขาสามารถไปทำงานทุกวันได้ เวลาไปทำงานทำจนกระทั่งเข้าไปทำที่รพ.สต. ทำไปสักพักใหญ่ๆ ชาวบ้านก็เรียกเป็นคุณหมอ ไปช่วยงานที่โรงเรียนทำไปสักพักหนึ่งเด็กๆ ก็เรียกว่าเป็นคุณครู
"ประกายความรู้สึกของความมีคุณค่าแบบนี้ ที่เราไปพบในพื้นที่เองเวลาพูดคุยกับเขา อันนี้ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ว่า เห็นชีวิตคนๆ หนึ่งที่ขยับจากความรู้สึกหมดหวัง ไม่มีคุณค่า กลายเป็นคนที่มีพลังไปทำงานที่มีประโยชน์ต่อชุมชนทุกวัน แล้วรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าขึ้นมา ไม่เพียงแค่นั้นเขากลายเป็นเสาหลักสำคัญของครอบครัวกลับขึ้นมาอีก ชีวิตที่เปลี่ยนไปแบบนี้ผมว่าผมเอง ทีมงานเอง ได้สัมผัสอยู่ต่อเนื่อง
ผมว่าอันนี้เป็นพลังขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่มากๆ เติมพลังให้เราอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่เราทำมันมีคุณค่ากับชีวิตคนอย่างมาก คนพิการได้ทำงานหนึ่งคนหมายถึงว่าครอบครัวหนึ่งครอบครัว หลายชีวิตได้ยกระดับขึ้นมา แล้วมีความหวังแล้วเป็นพลังของสังคมได้"
คุณอภิชาติ เล่าต่อว่า คือเวลาเราทำงานโดยเฉพาะงานที่มันจะเกี่ยวเนื่องกับผู้คนหมู่มาก บางครั้งมันก็จะมีเรื่องที่เขาไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำหรือเห็นต่างไม่เห็นด้วย ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ในฐานะคนทำงานภาคสังคมที่จะต้องยอมรับว่าเห็นต่างมีได้ ความไม่เข้าใจอาจจะเกิดจากเราได้เสียงหรือแรงกระทบจากสิ่งเหล่านี้ เราอาจจะต้องเผชิญกับมันได้
คำถามคือเผชิญกับมันด้วยทัศนคติแบบไหน ทัศนคติแบบถูกกระทบแล้วรู้สึกสั่นสะเทือนหมดแรงหรือถูกกระทบด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน ผมว่าตัวนี้เป็นจุดสำคัญแล้วข้อสำคัญที่สุดก็คือการเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ สิ่งที่เกิดด้วยตัวของเราเอง โดยไม่ได้หวังพึ่งว่าคนข้างนอกจะเห็นสิ่งนั้นเท่าเราหรือตรงกับเรา มันถึงจะมีพลังที่เราเคลื่อนไปด้วยตัวเอง ในขณะเดียวกันสิ่งที่เราทำมันสามารถเป็นสิ่งที่ดีได้ แต่บางครั้งมันอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบหรือสิ่งที่สมบูรณ์แบบมันอาจจะไม่มีอยู่
การทำงานด้วยความเต็มใจ ทุ่มเท เกิดผลลัพธ์ที่เปลี่ยนชีวิตคนจริงได้
เพราะฉะนั้นในการทำงานเราอาจะมีข้อตกหล่น ข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดได้ แต่ตราบใดที่ข้อตกหล่น ข้อผิดพลาดมันไม่ได้มาจากความ ตั้งใจไม่ดี ไม่ได้มาจากการทุจริต หรือไม่ได้มาจากเจตนาที่มันไม่เหมาะสม แต่เป็นไปตามความตั้งใจที่ดี ผมว่าเราก็มีสิ่งนั้นเป็นที่ยึดเหนี่ยวเอาไว้ได้ ก็จะทำให้เราเคลื่อนงานไปได้โดยที่แรงปะทะแรงกระแทกต่างๆ มันไม่บั่นทอนเรา ฉะนั้นคนที่นี่ทุกคนทำงานเต็มที่เพราะรู้ว่างานที่ทำส่งผลต่อชีวิตคนจริงๆ โดยที่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ เพียงแต่เขาจะพูดหรือได้สะท้อนให้เราได้รับรู้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
"ความภาคภูมิใจของตัวผมเองแล้วผมคิดว่าก็พูดแทนคนของเราที่นี่ได้ ก็คือความภาคภูมิใจในฐานะคนที่ทำงานเพื่อคนอื่นอย่างแท้จริง แล้วก็เป็นการทำงานด้วยความเต็มใจ ทุ่มเท แล้วก็เป็นเกิดผลลัพธ์ที่เปลี่ยนชีวิตคนได้จริง อันนั้นน่าจะเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดที่มีอยู่"
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของคุณอภิชาติ การุณกรสกุล นักธุรกิจหัวใจโตที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อคนพิการ จนคนพิการสามารถประกาศอิสรภาพ ได้ทำงานอย่างยั่งยืนและเปลี่ยนภาพจำความเลื่อมล้ำในอดีตให้เป็นความจริงที่ตรวจสอบได้ โดยมีวิธีการจ่ายเงินตรงให้คนกับพิการ สามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส เปลี่ยนคนหมดหวังให้เห็นคุณค่าของตนเองกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว เปลี่ยนความเห็นต่างให้เป็นการมีส่วนร่วม