พังงา เปิดศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จโรงพยาบาลตะกั่วป่า
พังงา เปิดศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จโรงพยาบาลตะกั่วป่า อำนวยความสะดวกออกบัตรประจำตัวคนพิการให้เข้าถึงสวัสดิการของรัฐอย่างเท่าเทียม
วันที่ 21 ก.พ.66 นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธานพร้อมตัดริบบิ้นเปิดศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จโรงพยาบาลตะกั่วป่า โดยมีนาวาตรีหญิงโนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา นายวุฒิภากรณ์ จันทร์ทับ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพังงา นายแพทย์สมชาย บัวสด รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตะกั่วป่า ประธานสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดพังงา องค์กรคนพิการ บุคลากร และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาตะกั่วป่า ร่วมในพิธีเปิด
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้มอบเงินสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ จากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มอบรถเข็นวีลแชร์ มอบบัตรประจำตัวคนพิการ มอบนมผงสำหรับเด็ก พร้อมเยี่ยมชมดครงการออกหน่วยให้บริการเคลื่อนที่ (Mobile Unit) สำหรับคนพิการจังหวัดพังงา เยี่ยมศูนย์บริการคนพิการ และเยี่ยมชมสถานที่จำหน่ายสินค้าที่คนพิการนำมาจำหน่ายด้วย
ด้วยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพังงา ร่วมกับโรงพยาบาลตะกั่วป่า ได้จัดทำประกาศจังหวัดพังงา เรื่อง กำหนดให้โรงพยาบาลตะกั่วป่า เป็นศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service For Persons With Disabilities) เพื่อให้ศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จในโรงพยาบาล มีหน้าที่อำนวยความสะดวกการออกเอกสารรับรองความพิการและสามารถอออกบัตรประจำตัวคนพิการ ณ สถานพยาบาลได้ และเพื่อส่งเสริมให้คนพิการที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงการมีบัตรประจำตัวคนพิการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 สามารถเข้ารับสิทธิ สวัสดิการ การคุ้มครองและความช่วยเหลือพื้นฐานจากภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม ครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งมีหลักประกันทางสังคมเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ได้จัดบริการให้คนพิการรวมทั้งเปิดศูนย์จำหน่ายสินค้าคนพิการในโรงพยาบาลตะกั่วป่า สามารถนำผลิตภัณฑ์ ผลิตผล สินค้า และพืชผักมาจำหน่าย
ทั้งนี้ โรงพยาบาลตะกั่วป่ามีแพทย์เฉพาะทางที่สามารถประเมินความพิการเพื่อออกเอกสารรับรองความพิการได้ทุกประเภทความพิการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย รองลงมาคือพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ตั้งแต่ปี 2563 – 2564 มีคนพิการที่จดทะเบียนแล้ว จำนวน 1,161 คน ซึ่งแยกเป็น 7 ประเภทความพิการ ดังนี้ 1.พิการทางการเห็น จำนวน 53 คน พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จำนวน 329 คน พิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย จำนวน 543 คน พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม จำนวน 117 คน พิการทางสติปัญญา จำนวน 78 คน พิการทางการเรียนรู้ จำนวน 22 คน พิการทางออทิสติก จำนวน 18 คน และพิการซ้ำซ้อน จำนวน 12 คน
ขอบคุณ... https://bit.ly/3YO4eNo (ขนาดไฟล์: 149)