ดีแทคคอลเซ็นเตอร์ ภารกิจเพื่อผู้พิการทางการได้ยิน

ดีแทคคอลเซ็นเตอร์ ภารกิจเพื่อผู้พิการทางการได้ยิน

“ดีแทค” ขยายบริการดีแทคคอลเซ็นเตอร์สู่กลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน ภายใต้ความร่วมมือกับสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การบริการครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่มในสังคม ตามแนวทาง “ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกันทุกคน” พร้อมกับผลักดันให้คอลเซ็นเตอร์ภาษามือเป็นต้นแบบของการให้โอกาสเพื่อผู้พิการที่จะสามารถดำรงชีวิตทัดเทียมกับคนปกติทั่วไปในสังคม

“วิรัช จารุโชคทวีชัย” ผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่มงานบริการลูกค้าคอลเซ็นเตอร์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคตระหนักถึงภารกิจในการส่งเสริมคนทุกกลุ่มเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสารตามหลักสิทธิมนุษยชน

ซึ่งคอลเซ็นเตอร์ภาษามือนี้เป็นบริการส่วนขยายที่ต่อยอดมาจากบริการคอลเซ็นเตอร์เพื่อผู้พิการทางการมองเห็นที่ดำเนินการมานานกว่า 6 ปีแล้ว ปัจจุบันมีพนักงานผู้พิการทางการมองเห็น 15 คน ทั้งยังมีสถานะเป็นพนักงานประจำทำให้เขามีโอกาสทำเรื่องขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้เหมือนกับคนอื่น ๆ

ส่วนคอลเซ็นเตอร์ภาษามือเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 โดยก่อนที่จะเปิดบริการเราอบรมพวกเขาให้มีความพร้อมและคุ้นเคยทั้งในแง่ของเทคโนโลยีต่าง ๆ ข้อมูลเกี่ยวกับโปรโมชั่นและบริการ พร้อมติดตั้งระบบการจัดการคอลเซ็นเตอร์เต็มรูปแบบ

โดยผู้ต้องการใช้บริการสามารถเพิ่มเพื่อนทางไลน์ดีแทค คอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้บริการแบบวิดีโอคอล ที่สำคัญ ยังเป็นการให้บริการลูกค้าผู้พิการทุกค่ายไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นลูกค้าดีแทคเท่านั้น โดยจะเปิดให้บริการวันจันทร์-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.

“ตอนนี้พนักงานคอลเซ็นเตอร์ภาษามือมีอยู่ 3 คน ทำงานภายใต้การดูแลของพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษาที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงาน โดยมีล่ามจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยคอยให้ความช่วยเหลือในเรื่องการสื่อสารระหว่างที่ปรึกษา และพนักงานด้วย”

“วิรัช” กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่เปิดให้บริการมีผู้เข้าขอรับบริการแล้วประมาณ 50-60 ราย ส่วนใหญ่จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโปรโมชั่น แพ็กเกจโทรศัพท์มือถือ สอบถามเกี่ยวกับวิธีการใช้งาน การจัดตั้งคอลเซ็นเตอร์ภาษามือในครั้งนี้นับว่ามีความท้าทายกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้พิการทางการได้ยินเพียง 25% เท่านั้นที่ได้รับการศึกษาภาษามือแบบเป็นทางการ

“ดังนั้น เราจะพยายามอย่างเต็มความสามารถ เพราะสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการที่แท้จริง คือ โอกาส และการยอมรับจากสังคม อย่างไรก็ตาม การให้บริการคอลเซ็นเตอร์แก่ผู้พิการทางการได้ยิน ทางดีแทคได้แยกส่วนนี้ออกมาเพื่อให้ทางสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยช่วยดูแลโดยเฉพาะ”

“วิทยุต บุนนาค” นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยกล่าวเสริมว่า ปัจจุบันผู้พิการทางการได้ยิน (หูหนวก) ในประเทศไทยมีประมาณ 400,000 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่พิการตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดจากกรรมพันธุ์ กับกลุ่มที่เป็นโรค

เช่น โรคหัดเยอรมันตั้งแต่เด็ก หรือได้รับเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทำให้ไม่ได้ยิน หรือได้ยินเสียงที่ต่ำกว่า 20 เดซิเบล ซึ่งกลุ่มหลังมีจำนวนมากขึ้น และทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

สำหรับกลุ่มที่เป็นโรค หรือได้รับอุบัติเหตุ ทำให้ไม่สามารถได้ยินอย่างคนปกติ บางคนยังสามารถสื่อสารได้ เพราะเคยเรียน เคยพูด หรือสื่อสารมาก่อน แต่สำหรับผู้ที่พิการแต่กำเนิด บางครั้งพ่อแม่ไม่สอนหรือฝึกฝนพัฒนาการในการใช้ภาษามือเพื่อสื่อสาร

แต่จะพยายามสอนให้พูดหรือการอ่านปากแบบปกติ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล และไม่เกิดการพัฒนา ทั้งยังทำให้ขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิต เมื่อไม่ได้มีการพัฒนาการเรียนรู้ที่ถูกต้องสำหรับผู้พิการทางการได้ยินตั้งแต่เด็ก ทำให้การพัฒนาศักยภาพไม่ได้เต็มที่ในด้านการศึกษา

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนโสตศึกษา 21 แห่ง แต่ส่วนใหญ่จะมีผู้ที่เรียนถึงระดับปริญญาตรีมีไม่มาก ด้วยอุปสรรคต่าง ๆ การประกอบอาชีพก็มีจำกัด เช่น ค้าขาย, เก็บเอกสาร, ครู, รับจ้าง หรือทำธุรกิจครอบครัวเป็นหลัก ปัจจุบันภาครัฐมีการดูแลสวัสดิการคนพิการ โดยจ่ายเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท หากมีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จะจ่ายผ่านบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเพิ่มอีก 200 บาท

ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชนมีการดูแลลดค่าโดยสารรถประจำทางครึ่งราคา หรือเดินทางโดยรถไฟฟ้าได้ฟรีทั้งบีทีเอส และ MRT แต่นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับความสามารถในการสื่อสาร ซึ่งเป็นประตูสำคัญในการดำรงชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป

“ทั้งนี้ งานคอลเซ็นเตอร์ภาษามือถือเป็นประตูสู่การพัฒนาศักยภาพทางการได้ยิน หรือความช่วยเหลืออื่น ๆ เช่น การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล, การค้าขายออนไลน์ นอกจากจะช่วยทำให้คนพิการทางการได้ยินทำงานที่มีคุณค่า ทำให้เกิดความมั่นใจและภาคภูมิใจที่ได้พึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือองค์กรและสังคมได้ สิ่งที่ผู้พิการทางการได้ยินต้องการมากที่สุดคือการยอมรับจากสังคมในฐานะคนคนหนึ่งที่มีความสามารถในการทำงาน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป”

“ผมคิดว่าการให้บริการคอลเซ็นเตอร์ภาษามือมีความท้าทายอย่างหนึ่ง คือ แต่ละท้องถิ่นจะมีภาษามือที่แตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับภาษาอีสาน, ภาษาเหนือ, ภาษาใต้ หรือถ้าภาษามือระดับสากลก็จะแตกต่างกันออกไปเช่นกัน

ดังนั้น ทางสมาคมต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อพัฒนาภาษามือให้มีความเป็นกลางให้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการให้บริการล่ามเพื่อให้ถึงเป้าหมายอย่างเต็มที่ เพราะต้องไม่ลืมว่าผู้พิการทางการได้ยินต้องการการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเหมือนเช่นคนทั่วไป

ซึ่งเรื่องนี้สำคัญเพราะผู้พิการทางการได้ยินจะเสียเปรียบตรงที่ไม่สามารถรับรู้ข่าวสารได้หลากหลายเหมือนคนทั่วไป เราจึงพยายามจะพัฒนาตรงนี้ให้ดีที่สุด”

ขณะที่คอลเซ็นเตอร์ภาษามือทั้ง 3 คน คือ นิว, ไกด์ และบุ้ง อธิบายการทำงานด้วยภาษามือ โดย “นิว” บอกว่ารู้สึกดีใจที่ได้ใช้ภาษามือสื่อสารให้ความช่วยเหลือกับเพื่อนผู้พิการทางการได้ยินเช่นเดียวกับตนเอง

โดยส่วนตัว “บุ้ง” บอกว่าคือความท้าทายอย่างหนึ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ส่วน “ไกด์” เสริมว่า นอกจากจะได้ทำงานที่เหมาะสมกับความสามารถของตนเองแล้ว ในแต่ละวันยังได้เรียนรู้ภาษามือใหม่ ๆ เพิ่มเติม

“เพราะมีโอกาสสื่อสารกับคนหลากหลาย เพื่อจะนำสิ่งที่ได้มาแชร์ให้กับเพื่อนร่วมงานต่อไปด้วย”

ขอบคุณ... https://www.prachachat.net/csr-hr/news-908989

ที่มา: prachachat.net/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 18 เม.ย.65
วันที่โพสต์: 18/04/2565 เวลา 10:51:59 ดูภาพสไลด์โชว์ ดีแทคคอลเซ็นเตอร์ ภารกิจเพื่อผู้พิการทางการได้ยิน