มข. ผลิต 'หนังสือเสียง' หนุนการเรียนรู้เท่าเทียม แก่ผู้พิการทางสายตา
สำนักหอสมุด ม.ขอนแก่น ร่วมกับ โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด และ ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาคนตาบอด ขอนแก่น ผลิตหนังสือเสียงเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมแก่ผู้พิการทางสายตา เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 60 ปี มข.
ในวาระครบรอบ 60 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2567 ที่จะถึงนี้ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ผสานความร่วมมือกับโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด และศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาคนตาบอด ขอนแก่น เพื่อสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่มีความพิการทางสายตา หรือ มีความบกพร่องด้านการมองเห็นให้สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) ได้อย่างเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป ผ่านการผลิตหนังสือเสียงที่มีคุณภาพระดับสากล และได้ส่งมอบหนังสือเสียงที่ผลิตแล้วให้กับโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ณ ชุมชนโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด ขอนแก่น
รศ.นพ.สุพัชญ์ สีนะวัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานในการจัดงาน กล่าวว่า สำนักหอสมุดในฐานะศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับทุกคน (Learning center for all) มีเป้าหมายจะสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้กับประชาชน ทุกเพศ ทุกวัย และได้ตระหนักถึงข้อจำกัดและความต้องการ ที่หลากหลายของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่ม จึงได้พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานหรือชุมชนต่าง ๆ ทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านนวัตกรรมการบริการใหม่ๆ
"และในโอกาสครบรอบ 60 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักหอสมุดจึงได้ร่วมกับโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด และศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาคนตาบอด จังหวัดขอนแก่น เพื่อผลิตหนังสือเสียงสำหรับเป็นเครื่องมือที่ช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงความรู้และข้อมูลข่าวสารของผู้ที่มีความบกพร่องด้านการมองเห็น เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมในการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง"
โครงการสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยหนังสือเสียงนี้ มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ จำนวน 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนแรก เป็นกระบวนการรับฟังความต้องการของผู้พิการทางสายตา (need assessment) พบว่า หนังสือเสียง (audiobook) เป็นสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ สำหรับผู้พิการทางการมองเห็น และทำให้ทราบหัวข้อการเรียนรู้ที่ยังขาดแคลน และมีความประสงค์ที่จะรับการสนับสนุน
ขั้นตอนที่ 2 เป็นการจัดการอบรมทักษะและความรู้ในการผลิตหนังสือเสียงที่ได้มาตรฐาน ให้แก่บุคลากรของสำนักหอสมุด มข. โดยได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาคนตาบอด จังหวัดขอนแก่น ได้ส่งทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในการผลิตหนังสือเสียงมาช่วยในการอบรม ทำให้บุคลากรของสำนักหอสมุด มข. ได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการผลิตหนังสือเสียง และเตรียมความพร้อมในการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการผลิตหนังสือเสียง (audiobook coach) ให้กับจิตอาสา หรือผู้สนใจเข้ามีส่วนร่วมในการผลิตหนังสือเสียงต่อไป
ขั้นตอนที่ 3 เป็นการผสานความร่วมมือกับจิตอาสา ซึ่งประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา บุคลากร และ ประชาชน ทั่วไป ที่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้และอยากมีส่วนร่วมในการส่งมอบโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนและประชาชนที่ด้อยโอกาสเนื่องจากความพิการทางการมองเห็น ผ่านการผลิตหนังสือเสียง โดยในขั้นตอนนี้ บุคลากรของสำนักหอสมุด จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการผลิตหนังสือเสียง (audiobook coach) ผ่านการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมให้จิตอาสา มีทักษะในการร่วมสร้างสรรค์หนังสือเสียงอย่างมีคุณภาพสำหรับส่งมอบให้ผู้พิการทางสายตาต่อไป จากนั้น จิตอาสาทุกคน ก็ ได้ร่วมบันทึกเสียง เพื่อผลิตหนังสือเสียงตามมาตรฐาน
กิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยหนังสือเสียงที่จัดขึ้นในวันนี้ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของโครงการดังกล่าว โดยเป็นการส่งมอบหนังสือเสียง (Audiobook) ที่จัดทำแล้วเสร็จ ให้กับโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดขอนแก่น เพื่อนำไปใช้เป็นสื่อสนับสนุนการเรียนรู้สำหรับนักเรียน ตลอดจนผู้สนใจที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นต่อไป โดยกิจกรรมในวันนี้ได้รับเกียรติ จาก นายโกมล มาลัยทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดขอนแก่น และ นายสนอง จวนสาง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาคนตาบอด มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการร่วมรับมอบหนังสือเสียงที่สำนักหอสมุด มข.ร่วมกับจิตอาสาได้ผลิตขึ้น โครงการสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยหนังสือเสียงนี้ เป็นหนึ่งในหลากหลายโครงการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ริเริ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมให้สังคมมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566
ขอบคุณ... https://www.bangkokbiznews.com/health/education/1082588