จากนิทรรศการ ‘Livable scape…for. . all :)’ สู่ ‘ศูนย์ฝึกกีฬาสำหรับผู้พิการทางสายตา’
จากนิทรรศการ ‘Livable scape…for. . all :)’ สู่ ‘ศูนย์ฝึกกีฬาสำหรับผู้พิการทางสายตา’ อาคารต้นแบบที่ตอกย้ำว่า ‘ความเท่าเทียมเกิดขึ้นได้ผ่านการออกแบบที่คิดเพื่อคนทุกคน’ [ADVERTORIAL]
HIGHLIGHTS
• สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย จัดนิทรรศการ ‘Livable scape…for. . all : ) คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี เพื่อทุกคน’ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความแตกต่างของการเข้าถึง ‘สิทธิ’ ที่พึงมีของคนตาบอด และนำเสนอโอกาสในการเปลี่ยนแปลงชีวิตด้วย ‘กีฬา’
• อำนวย กลิ่นอยู่ นายกสมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย เชื่อเสมอว่ากีฬาสามารถเปลี่ยนภาระของสังคมให้กลับมาเป็นพลังของสังคมได้ การผลักดันให้เกิดศูนย์ฝึกกีฬาฯ จะทำให้ผู้พิการได้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง และกลับมายืนหยัดด้วยตัวเองได้อีกครั้ง
• ณรงศักดิ์ ตามสุนทรพานิช สถาปนิกผู้ออกแบบศูนย์ฝึกกีฬาคนตาบอด ตัวแทนของการเรียกร้องสิทธิเพื่อให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตที่ดีขึ้น “เป้าหมายคือ สุดท้ายแล้วคนในสังคมทุกคนได้อยู่ร่วมกัน 20 ล้านคนต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น ในจำนวนนี้ 4 ล้านคนอาจเป็นผู้พิการ และคนที่เหลือคือคนรอบตัวเขาทั้งหมด”
‘Livable scape…for. . all : ) คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี เพื่อทุกคน’ นิทรรศการที่ชวนให้คนตาดีได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ชีวิตของผู้พิการทางสายตา ไปพร้อมๆ กับสร้างความตระหนักรู้ถึงความแตกต่างของการเข้าถึง ‘สิทธิ’ ที่พึงมีของคนตาบอด และนำเสนอโอกาสในการเปลี่ยนแปลงชีวิตด้วย ‘กีฬา’ ที่จัดโดย สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในงาน Bangkok Design Week 2024 ที่สวนรมณีนาถ เมื่อวันที่ 28 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น หนึ่งในโซนจัดแสดงที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมชมงานเป็นอย่างยิ่ง คือโซนจัดแสดงศูนย์ฝึกกีฬาสำหรับผู้พิการทางสายตา (Thailand Sport Center for Blind Athletes) ที่มีการพรินต์ผังอาคารแต่ละชั้นเป็น 3D เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้สัมผัสถึงความพิเศษของตัวอาคาร พร้อมติดตั้งอักษรเบรลล์และคิวอาร์โค้ดให้สามารถฟังข้อมูลได้
THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ อำนวย กลิ่นอยู่ นายกสมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย ถึงแนวคิด วัตถุประสงค์ และความมุ่งหวังของการก่อสร้างศูนย์ฝึกกีฬาสำหรับผู้พิการทางสายตา รวมถึงทัศนะจาก ณรงศักดิ์ ตามสุนทรพานิช สถาปนิกผู้บริหารของบริษัท ARCHIPLAN ผู้ออกแบบศูนย์ฝึกกีฬาฯ แห่งนี้
เล่าก่อนว่า ตลอดระยะเวลากว่า 26 ปี สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการส่งเสริมและพัฒนานักกีฬาผู้พิการทางสายตา ด้วยความเชื่อที่ว่า กีฬาเป็นเครื่องมือที่เสริมสร้างทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้สังคมเห็นว่าผู้พิการทางสายตาก็มีศักยภาพในการพัฒนาเหนือความบกพร่องทางร่างกาย
อำนวยพาเราย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดนิทรรศการในงาน Bangkok Design Week 2024 ก็เพื่อเป็นสื่อกลางส่งต่อความเข้าใจให้ทุกคนได้เห็นสิทธิที่พึงมีของผู้พิการทางสายตา ผ่านโครงการศูนย์ฝึกกีฬาสำหรับผู้พิการทางสายตา
“เชื่อหรือไม่ว่า ทีมฟุตบอลคนตาบอดทีมชาติไทยอยู่อันดับที่ 4 ของโลก เป็นรองแค่อาร์เจนตินา บราซิล และญี่ปุ่น แต่ทุกวันนี้เรายังต้องเช่าสนามฝึกซ้อม เนื่องจากคนตาบอดเล่นและซ้อมกีฬาผ่านเสียง จึงเล่นในสถานที่ที่มีคนหลายๆ คนไม่ได้ อีกทั้งอุปกรณ์ก็ไม่เอื้อต่อการฝึก อย่างกีฬาว่ายน้ำ นักกีฬาเราคว้าเหรียญทองมาหลายสนาม แต่บางครั้งเราถูกผู้ดูแลสนามปฏิเสธที่จะให้ใช้ เข้าใจว่าเขาเองก็กังวลเรื่องความปลอดภัย หรือกีฬาบางประเภทต้องฝึกซ้อมในที่ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เพราะต้องใช้ความเงียบ อุปกรณ์การเล่นก็ต่างจากคนทั่วไป ข้อจำกัดเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ผมผลักดันให้เกิดศูนย์ฝึกกีฬาสำหรับผู้พิการทางสายตา”
อาคาร 8 ชั้นบนพื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร ไม่เพียงออกแบบให้เป็นศูนย์ฝึกกีฬาสำหรับทุกประเภทกีฬา แต่ยังตั้งใจให้เป็นสถานที่ที่สนับสนุนการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมของผู้พิการ ไม่จำกัดแค่คนตาบอด และไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬาอาชีพ ภายในครบครันด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ออกแบบมาเฉพาะทางเพื่อส่งเสริมให้สามารถใช้ชีวิตในศูนย์ฯ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในทุกพื้นที่
“เราตั้งใจให้พื้นที่ที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาที่ต้องการมาฝึกซ้อม หรือผู้พิการที่ไม่ได้เป็นนักกีฬาแต่อยากมาออกกำลังกาย หรือแม้แต่ครอบครัวคนพิการที่ต้องการมาเล่นกีฬากับผู้พิการในครอบครัว พูดง่ายๆ ก็คือที่นี่จะเป็นสถานที่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม
“หลายคนเข้าใจว่า พอเป็นผู้พิการแล้วจะไม่สามารถทำอะไรได้อีก ชีวิตหมดความหวัง แม้แต่ครอบครัวของผู้พิการเองบางครั้งก็คิดเช่นนั้น แต่จริงๆ แล้วเมืองไทยมีผู้พิการที่สามารถเอาชนะข้อจำกัดจนสามารถเป็นนักกีฬาได้ ผมเองหัดวิ่งมาราธอนตอนอายุ 40 กว่าๆ จนสามารถไปวิ่งในรายการนิวยอร์กมาราธอนสำเร็จ ถ้าผมทำได้ ทุกคนก็ทำได้”
อำนวยเชื่อว่า กีฬาสามารถเปลี่ยนภาระของสังคมให้กลับมาเป็นพลังของสังคมได้
“ศูนย์ฝึกกีฬาฯ แห่งนี้จะทำให้พวกเขาได้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง และกลับมายืนหยัดด้วยตัวเองได้อีกครั้ง ไม่เป็นภาระครอบครัวและสังคม ยิ่งถ้าคุณเป็นนักกีฬาทีมชาติยังช่วยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศด้วย อย่างที่เขาบอก กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ
“บางทีความสำเร็จของผู้พิการทางสายตา ยังสามารถส่งต่อกำลังใจให้กับคนตาดีที่กำลังท้อแท้ หมดหวังในชีวิต ให้กลับมาฮึดสู้ต่อ” อำนวยเชื่อเช่นนั้น
“ภายในอาคารจะมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงประวัติและเรื่องราวของนักกีฬาคนพิการ เพื่อส่งต่อกำลังใจให้กับคนพิการ ให้เขารู้ว่าเขาสามารถใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิเหมือนทุกคน ขณะเดียวกัน เราอยากสร้างกำลังใจให้คนตาดีที่กำลังท้อแท้หมดหวังในชีวิต ให้กลับมาฮึดสู้ต่อ”
ณรงศักดิ์ ตามสุนทรพานิช สถาปนิกผู้ออกแบบศูนย์ฝึกกีฬาคนตาบอด เชื่อมั่นว่า การสร้างศูนย์ฝึกกีฬาฯ จะเป็นอุปลักษณ์ (Metaphor) ของการเรียกร้องสิทธิที่ต้องมีเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นสำหรับผู้พิการหรือคนทั่วไป
“เวลาพูดถึง ‘เมืองที่ดี’ มันควรจะเป็นเมืองที่ได้รับการออกแบบให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทุกอย่างได้อย่างเท่าเทียม ทั้งการเดินฟุตปาธ รถสาธารณะ ห้องน้ำ การเข้าออกอาคาร ต้องเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน กฎหมายควรจะควบคุมสิ่งเหล่านี้ พอไม่มีกฎหมายที่ควบคุมในเมืองไทย เราจึงไม่ค่อยเห็นการออกแบบที่เอื้อต่อผู้พิการ การได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทำให้ผมเข้าใจทันทีว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิที่ต้องได้ มันไม่ใช่การเรียกร้องความเมตตา แต่นี่คือสิทธิที่พวกเราจะต้องได้โดยไม่ควรมีอะไรขวางกั้น”
ณรงศักดิ์เล่าว่า การออกแบบของโครงการยึดถือตามแนวทางข้อกำหนดจากกฎหมายควบคุมอาคารของกฎหมายว่าด้วยคนพิการแห่งสหรัฐอเมริกา (Americans with Disabilities Act: ADA) ซึ่งปกป้องผู้พิการจากการถูกเลือกปฏิบัติ ด้วยการออกแบบที่เข้าถึงพื้นที่ทั้งหมด รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยเท่าเทียมตามมาตรฐานที่กำหนด
ตัวอย่างที่แอริโซนาเขามีศูนย์กีฬาและฟิตเนสสำหรับคนพิการที่ใหญ่และดีที่สุดในสหรัฐฯ ชื่อว่า Ability360 ซึ่งเป็นองค์กรที่มีปณิธานในการยกระดับความสามารถของผู้พิการผ่านโปรแกรมพัฒนาตนต่างๆ ให้มีพลังในการเปลี่ยนแปลงชีวิตและเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิตอิสระ (Independent Lifestyle) ในสังคมมายาวนานกว่า 40 ปี
“อีกประเด็นที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้คนภายนอกเห็นว่าแท้จริงแล้วเราต้องการทำอะไร และผลที่ได้จะเป็นแบบไหน การออกแบบเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการกีฬาเพื่อผลักดันให้พวกเขาไปสู่เป้าหมายก็ส่วนหนึ่ง แต่มากไปกว่านั้น เราต้องการใช้การออกแบบนี้เรียกร้องสิทธิที่พึงมีให้กับผู้พิการ เพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น คาดหวังให้การออกแบบครั้งนี้เป็น ตัวอย่างของการสนับสนุน (Advocacy) ที่ประสบความสำเร็จ เพราะโครงการนี้จะเปลี่ยนชีวิตพวกเขาได้จริง ไม่ใช่แค่เรื่องของการได้รับสิทธิและให้โอกาสพวกเขาได้เห็นโลกแบบที่เราได้เห็น“
ณรงศักดิ์เสริมว่า การออกแบบโครงการยังได้รับแรงบันดาลใจจาก www.bemyeyes.com ซึ่งพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันให้กับคนตาบอด หรืออาสาสมัคร (ผู้มีสายตาปกติ) สามารถนำไปใช้แทนดวงตาได้ เช่น เวลาไปซื้อของที่ซูเปอร์สามารถเปิดแอปฯ แล้วสแกนไปที่สินค้า มันจะบอกได้ทันทีเลยว่า นมกล่องนี้หมดอายุเมื่อไร มีส่วนผสมอะไรบ้าง เขาหวังให้องค์ประกอบต่างๆ ของโครงการเป็นเสมือนดวงตาที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เช่นกัน
“พื้นที่แห่งนี้ต้องทำให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย เหมือนกับว่าอาคารเป็นอวัยวะ เป็นดวงตา เป็นแขนขา เพราะนอกจากการออกแบบแล้วจะต้องมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต และมีอิสรภาพในการพัฒนาทักษะของตัวเองเท่าเทียมกัน”
ศูนย์ฝึกกีฬาสำหรับผู้พิการทางสายตา ปักหมุดก่อสร้างที่จังหวัดสมุทรปราการบนพื้นที่ 20 ไร่ โดยปัจจุบัน การออกแบบร่างขั้นต้น (Preliminary Design) แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรอคอยงบประมาณเพื่อเริ่มพัฒนาแบบก่อสร้างและดำเนินการก่อสร้างต่อไป
คณะทำงานเชื่อตรงกันว่า โครงการศูนย์ฝึกกีฬาเพื่อผู้พิการทางสายตาจะเป็นดั่งสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมกันเพื่อคนทุกคน