คนพิการคนทั่วไปไร้รอยต่อ
“รายงานวันจันทร์”-ไต้หวันเมืองตัวอย่างสาธารณูปโภค
ทั้งๆ ที่ปัจจุบันประเทศไทยมีบทบัญญัติตามกฎหมาย กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มคนพิการ เพื่อความเท่าเทียมกันในการให้บริการของรัฐต่อประชาชนทุกๆคน แต่ในความเป็นจริง การจัดสาธารณูปโภคของรัฐต่อกลุ่มคนพิการอย่างเท่าเทียมยังเป็นแค่ความฝัน
ตัวอย่างล่าสุด คือ การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายองค์กรด้านคนพิการ เพื่อเรียกร้องให้ ขสมก.แก้เงื่อนไขการประกวดราคา หรือทีโออาร์ โครงการจัดซื้อรถเมล์ ขสมก.เอ็นจีวี 3,183 คัน เพราะเห็นว่าสเปกของรถเมล์ที่ ขสมก.กำหนดไม่เอื้อต่อการให้บริการแก่ผู้พิการโดยเฉพาะรถธรรมดา หรือรถร้อน ที่กำหนดระดับความสูงไว้ถึง 70 ซม. ที่ ขสมก.อ้างว่าเพื่อเตรียมรถไว้วิ่งลุยน้ำท่วม??? เทียบกับกลุ่มผู้พิการ แล้ว ได้ให้เหตุผลที่น่าฟังกว่า ว่า การเรียกร้องของพวกเขา ไม่ได้มุ่งเน้น หรือทำเพื่อผู้พิการอย่างเดียว แต่ยังทำเพื่อคนแก่ คนป่วย คนท้อง เด็กเล็ก และประชาชนทุกๆคนสามารถใช้บริการรถเมล์ได้อย่างสะดวกสบายขึ้น จนล่าสุดกระทรวงคมนาคมต้องตัดสินใจให้ ขสมก.ปรับปรุงสเปกรถตามคำขอของกลุ่มคนพิการ...
เห็นความเหลื่อมล้ำ ต่อคนพิการในบ้านเราที่ต้องรอให้มีการเรียกร้องกันแล้ว เมื่อลองหันไปดูเพื่อนบ้านใกล้เคียงของเราก็พบว่า ในหลายๆประเทศให้ความสำคัญผู้พิการมาก หรือบางแห่งให้มากกว่าคนธรรมดาด้วยซ้ำ โดยที่ผู้พิการไม่ต้องออกมาเรียกร้องสิทธิต่างๆ ตัวอย่างเช่น ประเทศไต้หวัน ไต้หวัน ขนาดเล็กกว่าไทย 4 เท่า มีประชากร 23 ล้านคน ผู้พิการมีไม่มาก แต่รัฐบาลให้ความสำคัญไม่ต่างกับคนธรรมดาทั่วไป สังเกตจากสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน และสถานที่ต่างๆจะมีป้ายสัญลักษณ์ผู้พิการติดกำกับไว้เกือบทุกแห่ง
ผู้พิการที่ไต้หวันจึงสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนธรรมดาได้ตามปกติ อาทิ ทางเท้า จะทำทางราบเรียบสำหรับให้รถวีลแชร์ผู้พิการผ่านได้สะดุด เมื่อถึงจุดทางข้าม หรือทางม้าลายก็จะลดระดับทำเป็นทางลาดต่ำให้รถวีลแชร์ลงจากทางเท้าเพื่อถนน ได้สะดวก
สำหรับรถเมล์ที่นี่จะเป็นรถปรับอากาศทั้งหมด พื้นต่ำระดับความสูงเกือบเท่ากับทางเท้า เพื่อความสะดวกในการเดินขึ้นลง รวมถึงผู้พิการก็สามารถเข็นรถวีลแชร์ขึ้นเองได้ด้วย ไม่ต้องตะกายบันไดเหมือนรถเมล์บ้านเรา ส่วนภายในก็จะจัดที่สำหรับผู้พิการที่นั่งรถวีลแชร์ไว้โดยเฉพาะ ในส่วนของรถไฟฟ้าของที่นี่ซึ่งมีให้บริการจำนวน 6 เส้นทาง ก็จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการไว้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นช่องจำหน่ายตั๋ว ช่องเสียบตั๋ว ทางเดินภายในสถานี เก้าอี้นั่งสำหรับผู้พิการ ส่วนการขึ้นลงรถไฟฟ้าจะมีพนักงานคอยดูแลผู้พิการเป็นพิเศษ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงจะจัดตู้โดยสารและห้องน้ำสำหรับผู้พิการไว้ด้วย
ด้านการประกอบอาชีพของคนที่นี่ บางอย่างจะสงวนไว้ให้ผู้พิการเท่านั้น เช่น อาชีพหมอนวด ถ้าคนธรรมดาจะทำอาชีพนี้ หรือเปิดร้านนวดสารพัดจุด จะต้องเปิดเป็นร้านเสริมสวยแทน
เห็นตัวอย่างบ้านเขาแล้ว เปรียบเทียบกับบ้านเรา พูดได้สั้นๆมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง!!!!!
ขอบคุณ http://www.thairath.co.th/content/region/381955
(ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๑๐ พ.ย.๕๖)