ผู้พิการภาคใต้มีภาวะเครียด-เสี่ยงซึมเศร้า

กรมสุขภาพจิต มอบรถเข็นและอุปกรณ์การแพทย์พระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ แก่เด็กพิการศูนย์การศึกษาพิเศษและผู้ใหญ่

กรมสุขภาพจิต มอบรถเข็นและอุปกรณ์การแพทย์พระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ แก่เด็กพิการศูนย์การศึกษาพิเศษและผู้ใหญ่ ในจ.ปัตตานีและนราธิวาส 68 คนเพิ่มพลัง

เมื่อวันที่ 26 ส.ค.60 - ที่โรงแรมซีเอสปัตตานี จ.ปัตตานี น.อ.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นายพงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 และพ.ญ.บุญศิริ จันทร์ศิริมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ร่วมมอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

กรมสุขภาพจิต มอบรถเข็นและอุปกรณ์การแพทย์พระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ แก่เด็กพิการศูนย์การศึกษาพิเศษและผู้ใหญ่

โดยสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จำนวน 99 รายการ ซึ่งได้รับบริจาคมาจากองค์กรการกุศลต่างประเทศ ประกอบด้วยรถเข็น35 คัน และอุปกรณ์อื่นๆ อีก 64 ชิ้น ได้แก่ ไม้ค้ำยัน วอร์คเกอร์ เครื่องช่วยพยุงเดินที่มีล้อและเบรก เบาะนั่ง ราวจับห้องน้ำ ฟูกนอน รวมมูลค่า 1,089,050 บาท ให้แก่ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวในจ.ปัตตานี จำนวน 34 คน เป็นประชาชนทั่วไป 9 คน และเด็กนักเรียนจากศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจ.ปัตตานี 25 คน ส่วนใหญ่พิการทางสมอง จากภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ ขาดออกซิเจน ซึ่งเด็กจะมีปัญหากล้ามเนื้อที่แขนขาเกร็ง เดินไม่ได้และมีพัฒนาการล่าช้า เพื่อเพิ่มพลังใจ เพิ่มโอกาสในการดำเนินชีวิตได้สุขสบายขึ้น

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพจิตกลุ่มผู้พิการ ให้มีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างปกติสุขที่สุด สามารถพัฒนาทักษะความสามารถของตนเองที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่และเกิดประโยชน์ให้มากที่สุด จากผลการวิจัยพบว่าผู้พิการส่วนมากร้อยละ 75 มีปัญหาสุขภาพจิต เรื่องที่ทำให้ทุกข์ใจมากที่สุดคือไปไหนมาไหนไม่สะดวก รองลงมาคือรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระผู้อื่น ในส่วนของผู้พิการที่อยู่ในพื้นชายแดนใต้ เช่นที่จ.ปัตตานีที่ได้รับมอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานฯ

ผลการสำรวจล่าสุดในปี 2559 พบว่ามีความเครียดสูงร้อยละ 38 ในจำนวนนี้มีความเสี่ยงเกิดอาการซึมเศร้าร้อยละ 28 การมอบอุปกรณ์ช่วยเหลือจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้พิการทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถยืนหยัดด้วยตนเอง บรรเทาความเครียดจากข้อจำกัดของการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้มอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานฯให้ผู้พิการในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะผู้พิการที่อยู่ในครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2553 เป็นต้นมาจนถึงปี 2559 มอบไปแล้ว 842 รายการ ในจำนวนนี้เป็นรถเข็น 320 คัน รวม 4.7ล้านบาท

โดยในปีนี้ได้ขยายเข้าสู่กลุ่มนักเรียนจากศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจ.ปัตตานี และนราธิวาสด้วย รวม 56 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กพิการทางสมอง บางรายพิการซ้ำซ้อนทั้งร่างกายและทางสมองร่วมด้วย และมอบให้ประชาชนทั่วไปอีก12คน ส่วนใหญ่พิการเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง เดินไม่ได้ สาเหตุเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองแตก โรคกระดูกพรุน

กรมสุขภาพจิต มอบรถเข็นและอุปกรณ์การแพทย์พระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ แก่เด็กพิการศูนย์การศึกษาพิเศษและผู้ใหญ่

" การช่วยเหลือครั้งนี้ จะช่วยให้เด็กพิการมีโอกาสช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น แบ่งเบาภาระของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องคอยอุ้มไปไหนมาไหนตลอดทั้งวัน โดยในวันพรุ่งนี้ ( 27 สิงหาคม 2560) จะมอบอุปกรณ์ชนิดเดียวกันให้ผู้พิการที่จ.นราธิวาสด้วย จำนวน 32 คน เป็นนักเรียน 25 คน ประชาชนทั่วไป 7 คน รวมจำนวน 92 ชิ้น มูลค่า 1,147,750 บาท ในจำนวนนี้ได้จัดเตรียมรถเข็นไฟฟ้าจำนวน 1 คัน มูลค่า 3,000 ดอลล่าร์สหรัฐ มอบให้เด็กนักเรียนหญิงที่ร่างกายพิการ แต่สมองการเรียนรู้ดี สามารถใช้มือสองข้างได้ เพื่อให้เด็กนำไปใช้ในการเรียนหนังสือ และได้มอบให้ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ดำเนินการดูแลส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กนักเรียนในศูนย์การศึกษาพิเศษทั้ง 2แห่งอย่างต่อเนื่อง" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

สำหรับ รถเข็นนั่งในโครงการฯ นี้ จะมีความพิเศษ โดยทีมอาสาจากองค์การกุศลทั้งในและต่างประเทศ เช่น อังกฤษ อิหร่าน เยอรมัน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ประมาณ 20 คน ซึ่งมีประสบการณ์ในการช่วยคนพิการและดูแลอุปกรณ์ช่วยความพิการ จะทำการปรับวัดขนาดของรถและที่นั่งให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้พิการแต่ละคนมากที่สุด สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย สะดวกสบาย และจะเปลี่ยนให้ทุก 5 ปี ตามการเจริญเติบโตของเด็ก

ภาพรวมตั้งแต่พ.ศ.2543 ถึงปัจจุบัน กรมสุขภาพจิตได้รับบริจาคอุปกรณ์จากองค์กรการกุศลต่างประเทศ 62 ครั้ง มูลค่า 171 ล้านบาท และนำไปมอบให้เด็กและคนพิการแล้ว 23,200 คน ทั้งนี้สถานการณ์ผู้พิการทั่วประเทศ รายงานข้อมูลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ล่าสุดในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2559 มีผู้พิการ 1.5 ล้านกว่าคน โดยพบความพิการทางการเคลื่อนไหว เดินไม่ได้มากที่สุดเกือบร้อยละ 50เช่นขาขาด ขาบิดงอ สาเหตุหลักของความพิการเกิดมาจากการเจ็บป่วย เช่น โรคเบาหวาน อุบัติเหตุ ข้อสันหลังอักเสบ โรคลมชักพบได้ร้อยละ 44 ซึ่งสูงกว่าความพิการแต่กำเนิดและพันธุกรรมประมาณ 2 เท่าตัว

ขอบคุณ... http://www.komchadluek.net/news/edu-health/293391 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: คมชัดลึกออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 26 ส.ค.60
วันที่โพสต์: 31/08/2560 เวลา 11:40:41 ดูภาพสไลด์โชว์ ผู้พิการภาคใต้มีภาวะเครียด-เสี่ยงซึมเศร้า