เปิดโฉม "สมาร์ท ซิตี้" ต้นแบบอารยสถาปัตย์ รับสังคมสูงอายุ-ผู้พิการ
เทคโนโลยีขั้นสูงที่ถาโถมเข้ามาในสังคมโลก ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อธุรกิจและการดำเนินชีวิตให้แก่ผู้คนปกติเท่านั้น หากแต่ยังเข้ามาช่วยให้คนพิการ และผู้สูงอายุที่นับวันจะมีมากขึ้นในสังคมพลเมืองโลก ได้มีโอกาสจะใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ และสามารถทำงาน หารายได้ กระทั่งมีความสุขตามสมควรเหมือนๆกับคนปกติได้
เมื่อ Thailand Friendly Design Expo 2017 งานแสดงอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพ เพื่อคนทั้งมวลของ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล องค์กรที่เป็นหัวหอกในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้เกิด Social Movement ที่ทำให้เกิดความเสมอภาคกันระหว่างผู้พิการและคนสูงวัยขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2
ทีมเศรษฐกิจ จึงเปิดพื้นที่นี้ให้กับพวกเขาอีกครั้ง เพื่อบอกให้สังคมรับรู้ว่า เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุวันนี้ ก้าวหน้าไปถึงขั้นใดแล้ว และพวกเขาจะสามารถใช้มันให้เกิดประโยชน์แก่ตน แก่พ่อแม่พี่น้อง และญาติสนิทมิตรสหายได้อย่างไร
ฟัง นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ผู้ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยที่จะผลักดันให้สังคมโดยวมหันมาเห็นความสำคัญของคนพิการและผู้สูงวัยว่า พวกเขายังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคม ที่เราจะลืมเขาไม่ได้ หรือปล่อยให้เขาอยู่อย่างโดดเดี่ยว และยากลำบากไม่ได้
ปูมออกแบบ “อารยสถาปัตย์” นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล องค์กรหัวหอกที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้อง “อารยสถาปัตย์” ได้ย้อนรอยถึงการออกแบบที่ถือเป็น “อารยสถาปัตย์” Friendly Design ว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่การออกแบบที่ต้องทำให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ผู้สูงวัยหรือผู้พิการสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้แบบคนทั่วไป โดยไม่รู้สึกแตกต่าง
อย่างสิ่งของอำนวยความสะดวกในบ้าน ปัจจุบันมีนวัตกรรมหลายอย่างที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือคนพิการหรือผู้สูงวัย อาทิ ลิฟต์บ้านที่ใช้เคลื่อนย้ายรถเข็นพร้อมกับคนได้เลย หรือลิฟต์บันไดที่เคลื่อนที่ระหว่างชั้นในแนวโค้ง ซึ่งช่วยให้ผู้สูงวัยดำเนินกิจวัตรประจำวันภายในบ้านได้ง่ายขึ้น เป็นต้น โดยลิฟต์สามารถติดตั้งภายในตัวบ้านได้โดยไม่ต้องตอกเสาเข็ม เป็นนวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกผู้สูง หรือผู้พิการภายในบ้าน
ขณะที่ห้องนอนตามแบบ Friendly Design นั้น เตียงที่ใช้นอนสามารถรองรับสรีระของผู้ใช้งานให้มีความสบาย สามารถปรับระดับและปรับเปลี่ยนท่าได้ง่ายผ่านรีโมต คอนโทรล อำนวยความสะดวกให้ผู้ดูแลและผู้ที่ใช้งาน ภายในห้องน้ำจะมีราวจับไว้พยุงตัว และมีการติดตั้งปุ่มฉุกเฉิน เป็นต้น
แม้แต่เรื่องของ “แอพพลิเคชั่น” บนสมาร์ทโฟนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงวัยหรือคนที่เตรียมตัวเข้าสู่วัยนี้สามารถค้นหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น เช่น แอพพลิเคชั่น “ชราเฮโย” โดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ที่พัฒนาร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ บริษัท อิมเมจไลน์ แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด ที่ช่วยประเมินแนวโน้มสุขภาพของผู้ใช้ในอนาคตที่เป็นผลมาจากชีวิตประจำวัน
“แอพฯ–สมาร์ทโฟน” ดูแลสุขภาพ เพียงตอบคำถามจากพฤติกรรมของตัวเองแล้วดูแนวโน้มว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุจะมีสุขภาพอย่างไร โดยแอพฯนี้จะแบ่งชาร์ตออกเป็น 4 ระดับคือ ชราเฮโย ชราโรย ชราโรครุม และชราไม่นาน เริ่มตั้งแต่ก้าวสู่วัยชราแบบสุขภาพดี จนถึงมีความเสี่ยงที่โรคจะทำให้ชราไม่นาน เมื่อประมวลผลออกมาแล้ว จะมีคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการดูแลสุขภาพให้ โดยสามารถกลับมาตรวจเช็กแนวโน้มสุขภาพได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า เป็นต้น
ส่วนนวัตกรรมอีกอย่างที่ประสานการทำงานบนสมาร์ทโฟนร่วมกับของใช้ในปัจจุบัน ที่ช่วยก็คือ “AIDER CARE” คือ อุปกรณ์สวมใส่ที่คอยเก็บข้อมูลและรายงานกิจวัตรประจำวัน เรียนรู้รูปแบบการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตรวจจับการออกนอกพื้นที่พักอาศัยเพื่อป้องกันการพลัดหลง และแจ้งเตือนเมื่อเกิดอุบัติเหตุหกล้ม
นอกจากนั้น หากผู้สูงอายุต้องการขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน แอพพลิเคชั่นนี้สามารถส่งการแจ้งเตือนที่ผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือญาติได้ทันที โดยแอพพลิเคชั่นอัจฉริยะดังกล่าว จะสังเกตจากการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของผู้สวมใส่ เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ซึ่งเหมาะ อย่างยิ่งกับ “ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์”
ทั้งนี้ การทำงานของแอพพลิเคชั่นจะเก็บข้อมูลของผู้สวมใส่ ทั้งข้อมูลทางการเคลื่อนไหว จำนวนก้าว เดิน การคำนวณพลังงาน เพื่อรวบรวมเก็บไว้รายงานกิจกรรมต่อวันเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ดูแล ซึ่งมีผลในการดูแลสุขภาพและคำนวณกรณีที่อันตรายเกิดขึ้น
เมืองต้นแบบ “ขอนแก่น สมาร์ท ซิตี้” ผลพวงจากการขับเคลื่อนให้องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ตระหนักถึงการออกแบบอารยสถาปัตย์เพื่อรองรับสังคมของผู้พิการและสังคมผู้สูงอายุข้างต้นนั้น วันนี้ไม่เพียงจะทำให้หลากหลายหน่วยงานให้การตอบรับ
ล่าสุด จังหวัดขอนแก่นยังได้ชื่อว่าเป็น “เมืองต้นแบบ” สมาร์ท ซิตี้ เฟรนด์ลี่ ดีไซน์ ที่มีความพร้อมเรื่อง “อารยสถาปัตย์” และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล
การที่ “ขอนแก่น” ได้รับการคัดเลือกก็เนื่องจากความพร้อมในด้านต่างๆ โดยภายในจังหวัดจะมีกลุ่มจิตอาสาที่คอยให้ความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการอย่างใกล้ชิดแก่ประชาชนทั่วไป
ขณะที่บ้านพักและโรมแรมต่างๆ จะมีทางลาดไว้สำหรับอำนวยความสะดวกต่อผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่ใช้รถเข็น ห้องพักจะมีระบบคีย์การ์ดและประตูจะใช้การสไลด์ไปด้านข้างแทนการเปิดแบบธรรมดา ภายในห้องพักจะตกแต่งพิเศษอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงวัยหรือพิการ โดยใช้ระบบอัตโนมัติหรือเซ็นเซอร์ต่างๆในการทำงาน และยังมีปุ่มฉุกเฉินที่สามารถกดเรียกพนักงานให้เข้ามาช่วยเหลือเผื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ตลอด 24 ชั่วโมง
“อย่างไรก็ตาม การจะเป็น สมาร์ท ซิตี้ ได้ องค์รวมของจังหวัดต้องมีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุและคนพิการ อาทิ ทางลาดชัน ห้องน้ำที่มีราวจับ มีที่จอดรถ มีป้ายสัญลักษณ์ชัดเจน ปั๊มน้ำมันมีป้ายแสดงพื้นที่เพื่อคนพิการ เป็นต้น
นอกจากนี้ จังหวัดขอนแก่นยังเป็น “ไมซ์ ซิตี้” (Mice City) หรือศูนย์กลางของการจัดประชุมสัมมนาและนิทรรศการต่างๆ ที่มีคนเดินทางแต่ละปีจำนวนมาก ทำให้เห็นโอกาสเติบโตด้านธุรกิจ
ภาคเอกชนในจังหวัดขอนแก่นได้รวมตัวกัน 20 ราย จัดตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคทีที) จำกัด ร่วมกับ 5 เทศบาลในจังหวัดผลักดันระบบขนส่งมวลชล หรือรถไฟฟ้ารางเบา Light Rail Transit System (LRT)รวมถึงการฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นตัวนำ อาทิ สมาร์ทบัส บริการภายในเทศบาลขอนแก่น เพื่อสร้างการเรียนรู้การใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ เป็นต้น
ในอนาคตทางองค์กรจะขยายและเร่งพัฒนาเมืองอารยสถาปัตย์อีก 10 จังหวัดได้แก่ น่าน ตาก สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต นครพนม ลำปาง เชียงใหม่ พัทยา ชลบุรี และยโสธร เพื่อยกระดับให้เป็น “เมืองสมาร์ท ซิตี้” ต่อไป
โชว์ผล สำเร็จงานอารยสถาปัตย์
นายกฤษณะยังกล่าวถึงการจัดงาน “Thailand Friendly Design Expo 2017” งานแสดงอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวลครั้งที่ 2 ที่มูลนิธิร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประ เทศไทย (ททท.), องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และ สำนักงานส่ง-เสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1-4 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า
งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมของคนพิการ และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล เป็นหลัก โดยหวังจะผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็น “เมืองศูนย์กลางอารยสถาปัตย์แห่งประชาคม อาเซียน”
ความสำเร็จของการจัดงานในปีนี้ นอกจากเป็นปีแรกที่มีการ “เชื่อมโยงธุรกิจ” ที่มีการจัด ช่วงการค้าระหว่างผู้ค้ากับลูกค้า (Business-to-business) เพื่อให้เกิดการ ซื้อขายระหว่างกัน มีการ นำแหล่งท่องเที่ยวธุรกิจท่องเที่ยวหรือ Tourism for Allมานำเสนอ โดยมีเงินหมุนเวียนในงานกว่า 500 ล้านบาทแล้ว
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ยังได้นำแอพพลิเคชั่นต้นแบบการให้บริการข้อมูลการท่องเที่ยวที่ทันสมัย ผ่าน “Smart Pattaya Application” ช่วยให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงแหล่งข้อมูลการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่ใกล้เคียงได้ง่ายขึ้น โดยสามารถใช้งานได้ทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ รองรับการทำงานถึง 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษารัสเซีย
ภายในแอพพลิเคชั่นดังกล่าว มีข้อมูลโรงแรม ร้านอาหาร และบริการต่างๆกว่า 300 แห่ง พร้อมทั้งยังสามารถค้นหาส่วนลดและระบบคูปองส่วนลด (E-Coupon) จากผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เป็นผู้จัดทำเมนูโปรโมชั่น มีระบบเสียงนำทางที่จะบอกรายละเอียดการเดินทาง (Voice Gui– dance) เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางด้วยระบบปุ่มโทร.ฉุกเฉินถึงตำรวจท่องเที่ยว หมายเลขโทรศัพท์ 1155
โชว์ระบบขนส่งมวลชนเพื่อคนพิการ นวัตกรรมที่โดดเด่นในปีนี้ก็คือ “รถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์สาธารณะ” ที่ปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างมาก มีการติดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการมากขึ้น อย่าง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ที่ได้พัฒนารถตู้ที่ติดตั้งอุปกรณ์เคลื่อนย้ายอัตโนมัติ เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้รถเข็น โดยพื้นที่ด้านหลังรถจะเปิดกว้าง มีทางลาดสำหรับรถเข็น พร้อมระบบไฮดรอลิกที่ทำการยกรถเข็นขึ้นไปยังตัวรถที่ทำงานผ่านรีโมตคอนโทรล
อีกนวัตกรรมที่น่าสนใจคือ รถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่มิเตอร์) สำหรับคนพิการ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งพัฒนามาราว 2 ปี โดยภายในรถแท็กซี่มีการออกแบบห้องโดยสารใหม่ โดยถอดเบาะตรงกลางออก มีเข็มขัดนิรภัยติดตั้งไว้ 3 จุดเพื่อรองรับผู้พิการโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ ยังมี “รถยนต์สามล้อส่วนบุคคลเพื่อคนพิการ” ซึ่งเหมาะกับผู้พิการที่ต้องการเดินทางไปไหนคนเดียว ที่มีการออกแบบทางลาดท้ายรถให้ผู้พิการสามารถเข็นรถวีลแชร์ขึ้นไปได้ ผู้พิการสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยรถสามล้อนี้ได้รับการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว
“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือก็คือการจูงใจให้คนขับแท็กซี่ทั่วไป หันมาขับแท็กซี่สำหรับคนพิการ โดยให้มีการคิดค่าบริการเพิ่มจากมิเตอร์ธรรมดา เนื่องจากคนขับแท็กซี่ต้องให้บริการคนพิการด้วย”
การเตรียมความพร้อมให้กับสังคม ทั้งเพื่อช่วยเหลือคนพิการและเพื่อการเข้าสู่สังคมสูงอายุของภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่เรื่องการออกแบบการขนส่ง บริการต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีนั้น นับเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่ อนาคตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน.