นวัตกรรมคืนอวัยวะ บอกลาความพิการ
‘เครือข่ายกายอุปกรณ์ฟรีเพื่อให้ผู้พิการได้ใช้ชีวิตแบบเท่าเทียม ถึงแม้ไม่เท่าเทียมก็ขอให้ใกล้เคียงที่สุด’
“เป้าหมายของเราคือการสิ้นสุดความพิการของคนไทย” คือคำประกาศของกลุ่มก่อการดี หรือ ThaiReach(ไทยฤทธิ์):e-NABLE ได้จัดทำมือเทียมจากเครื่องสามมิติให้กับผู้พิการ เป็นนวัตกรรมกายอุปกรณ์เทียมที่ไร้รีโมท โดยฝีมือคนไทยและเริ่มดำเนินการที่ โรงพยาบาลสิรินธร ต.โนนสมบูรณ์ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น เพื่อให้ผู้พิการได้รับโอกาสอีกครั้งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
จุดเริ่มต้นของกลุ่ม e-NABLE ก่อตั้งขึ้นโดย ศาสตราจารย์ จอน โซลล์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจและตระหนักถึงคุณค่าชิ้นงานนวัตกรรมเพื่อผู้พิการของนักประดิษฐ์ที่ชื่อว่า “อีวาน โอเวนซิ่ง” ผู้ออกแบบหุ่นยนต์และกลไกในภาพยนตร์ “ทรานฟอร์เมอร์” อันโด่งดัง โดยเมื่อ 8 ปีก่อน อีวาน ได้คิดค้นออกแบบนิ้วเทียมและพิมพ์ด้วยเครื่องมือสามมิติส่งไปให้ช่างไม้ชาวแอฟริก้าใต้ที่ถูกเครื่องจักรตัดนิ้วมือทดลองใช้ และปรากฎว่าสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นมีการนำไปใช้กับกลุ่มบุคคลที่ประสบอุบัติเหตุจนทุพพลภาพ และมีการคิดค้นขยายไปทดลองใช้กับกลุ่มเด็กที่ถูกถุงน้ำคร่ำรัดมือขณะแม่ตั้งครรภ์จนกระทั่งร่างกายเด็กเกิดผิดปกติไม่มีนิ้ว
นวัตกรรมดังกล่าวไม่มีการจดลิขสิทธิ์ และยังเปิดกว้างให้บุคคลต่างๆเข้ามาดาวน์โหลดข้อมูลและเรียนรู้ได้ฟรีรวมทั้งมีการต่อยอดองค์ความรู้ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยเหลือบุคคลพิการให้ดำรงชีวิตได้ใกล้เคียงบุคคลปกติมากที่สุด
ศาสตราจารย์ จอน โซลล์ หลังจากตั้งกลุ่ม e-NABLE ที่แปลความหมายลึกซึ้งว่า “สามารถทำได้ สามารถสร้างได้” ก็ร่วมมือกับ “เครือข่ายผู้ก่อการดี” ได้พิมพ์มือเทียมด้วยเครื่องสามมิติส่งแจกจ่ายให้ผู้พิการทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย "พญ.ปริยสุทธิ์ อินทสุวรรณ" จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลสิรินธร และ James Quilty สามีของเธอ ได้ร่วมกับศัลยแพทย์กระดูกและข้อ หัวหน้ากลุ่มงานกายภาพบำบัด นักกายภาพบัดและนักกายอุปกรณ์ ร่วมกันจัดตั้งโครงการ ThaiReach(ไทยฤทธิ์):e-NABLE เพื่อให้ผู้พิการก้าวข้ามความต่างโดยไม่แสวงหากำไร
พญ.ปริยสุทธิ์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์โครงการว่า ได้ร่วมมือกับชุมชนและสร้างเครือข่ายกายอุปกรณ์ฟรี เพื่อให้ผู้พิการได้ใช้ชีวิตแบบเท่าเทียม ถึงแม้ไม่เท่าเทียมก็ขอให้ใกล้เคียงที่สุด อย่างน้อยสามารถลดเรื่องการรังเกียจลงเล็กน้อยก็ยังดีและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆตามวัตถุประสงค์ของผู้ริเริ่ม เพราะหากจำหน่ายแล้วทางผู้พิการก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากชีวิตประจำวันของผู้พิการก็ใช้ชีวิตลำบากอยู่แล้ว
“เป้าหมายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องการจะเข้าถึงคือการพัฒนาการจ้างงานเพื่อให้ผู้พิการได้รับโอกาส ยกตัวอย่าง การออกแบบกายอุปกรณ์ต้องได้รับการออกแบบได้ดีที่สุดด้วยผู้ที่ใช้งานเอง เพราะจิตแพทย์หรือทุกคนจะไม่มีวันรู้ว่านิ้วเทียมจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีที่สุดอย่างไร แต่คนที่จะรู้ว่าองศาหรือวัสดุที่นุ่มพอดีคือผู้ที่สวมกายอุปกรณ์เอง หากโครงการนี้สามารถไปถึงขั้นนั้นได้ นั่นคือการจ้างงานพวกเขาให้มาออกแบบได้ หรือจะเป็นการจ้างงานด้วยอาชีพเดิมที่เคยทำก็ตาม คนเราเมื่อหาเงินเองได้ ความมีคุณค่าในตัวเองก็เกิดขึ้น” พญ.ปริยสุทธิ์ กล่าว
สถิติผู้พิการ ปี 2560 ที่โรงพยาบาลสิรินธร จ.ขอนแก่น มีผู้พิการขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 2,369 คน มีจำนวน 54% คือผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว โดยพบว่า 50% เป็นความพิการของมือที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อน โดยมีการนำกายอุปกรณ์ไปทดลองใช้ที่นิคมโนนสมบูรณ์ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นที่อยู่ของผู้พิการกว่า 400 คน ที่จัดตั้งมานานกว่า 60 ปี ปัจจุบันได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้จาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และทรงพระราชทานที่ดินทำกินและเงินสงเคราะห์รายเดือนตลอดอายุขัย
"ลุงคำนันท์ ปัสสาวะสัง" ชายสูงวัยอายุกว่า 80 ปี สูญเสียนิ้วมือมา 50 ปีแล้ว สาเหตุเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อน แต่ปัจจุบันได้ติดตั้งมือเทียมหรือกายอุปกรณ์สีม่วงคู่ใจอันใหม่ เล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มกว้างว่า หลังจากถูกตัดนิ้วก็ไม่เคยได้เกี่ยวข้าวอีกเลยและไม่เคยได้หยิบน้ำกินเอง เมื่อใช้อุปกรณ์นี้ก็กลับมาดื่มน้ำและเกี่ยวข้าวเองได้
"ยังปลื้มใจไม่หาย จากมือที่ไม่มีแผลเพราะไม่เคยสวมกายอุปกรณ์ พอสวมแล้วไปลองทำทุกอย่างแม้กระทั่งผ่าฟืน ยิ่งทำยิ่งสนุกจนเป็นแผลก็ยังไม่หยุดทำ เพราะปลื้มใจที่ได้กลับไปใช้มือได้อีกครั้งหนึ่ง ผมเพิ่งได้มือเทียมไปประมาณ 10 วัน แต่ฝึกฝนการใช้มือเทียมมา 2 เดือนแล้ว รู้สึกว่าช่วยเหลือตัวเองได้ จับสิ่งของได้ เมื่อก่อนไม่มีมือเวลากินข้าวหรือทำอะไรก็ต้องประคองสองมือช่วยกัน แต่เมื่อสวมมือเทียมเข้ามาจะถนัดมากขึ้น ตอนไปเกี่ยวข้าวก็มีความสุข ภูมิใจและดีใจ มีกำลังใจในการใช้ชีวิต อยากขอบคุณที่ช่วยเหลือคนพิการ เมื่อตอนที่ยังไม่มีมือเทียม ผ่าฟืนยังไม่ได้ แต่เมื่อมีมือเทียมแล้วมันสามารถทำได้ ดื่มน้ำได้ด้วยตัวเองก็ดีใจมาก”ลุงคำนันท์ กล่าวด้วยนำเสียงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข
เช่นเดียวกับ "ป้าสุวาท หยวกวิ่ง" อายุ 67 ปี ที่มาพร้อมมือเทียมสีชมพูสลับกับสีเหลืองสดใส เล่าให้ฟังว่า ได้รับอุบัติเหตุจากโรงงานเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วจนกลายเป็นคนพิการทั่วไปและไม่ได้เป็นคนป่วยในโรงพยาบาล ทำอาชีพทออวนโดยที่ผ่านมาไม่มีมือเทียมใช้ แต่พอมาปี 2561 ได้โควตาการจ้างงานของคนพิการเป็นงบจากบริษัทเอไอเอสในการที่จะขายบัตรเติมเงิน โดยได้มือเทียมหรือกายอุปกรณ์ไปใช้ในการขายบัตรเติมเงิน
"หลังจากลองใส่กายอุปกรณ์ก็กลับบ้านไปทดลองหั่นผัก พับผ้าและขี่จักรยานด้วยสองมือในรอบหลายสิบปี มีความสุขมาก" ป้าสุวาทเอ่ยด้วยรอยยิ้ม
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวจะไม่สามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้เลย หากขาดการรวมตัวของจิตอาสาและหน่วยงานต่างๆ
ที่สำคัญคือทุนทรัพย์ที่รอการบริจาคและการสนับสนุน ทั้งนี้ความพิการคือสาเหตุของความยากจนที่ก่อให้เกิดความลำบากในการดำรงชีวิต และผู้พิการบางรายตกเป็นภาระของครอบครัวเนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ นอกจากนี้ผู้พิการบางรายก็มีความอับอายในความพิการของตน จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะโอบอุ้มผู้พิการเหล่านี้ให้ได้รับโอกาสในการดำเนินชีวิตและมีความภาคภูมิใจในความเท่าเทียมกับบุคคลปกติ
ดังนั้นสังคมต้องเผื่อแผ่ ช่วยกันสร้างคุณค่าและสร้างกำลังใจให้กับคนพิการ โดยช่วยเหลือร่วมกันบริจาค เพื่อนำรอยยิ้มและก้าวผ่านความต่างให้ผู้พิการอีกหลายชีวิตที่รอรับโอกาสในวันพรุ่งนี้