เหตุผล 5 สถานีสร้างไม่ได้
“รายงานวันจันทร์”-ย้อนรอย กทม.แก้ปัญหาลิฟต์ผู้พิการ BTS
จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2558 ให้ กทม.จัดทำลิฟต์สำหรับผู้พิการที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสในเส้นทางสัมปทานให้ครบทั้ง 23 สถานีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่ง กทม.ได้ก่อสร้างลิฟต์ตามคำสั่งศาล แต่ยังไม่ครบทุกสถานี หรือยังไม่ครบทั้ง 2 ฝั่ง
เป็นเหตุให้กลุ่มภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ กทม.จ่ายค่าเสียหายรายบุคคล มูลค่ารวมกว่า 1 พันล้าน
“รายงานวันจันทร์” วันนี้จะไปพูดคุยกับ จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. เกี่ยวกับการก่อสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการว่าที่ผ่านมา กทม.ดำเนินการอย่างไรบ้าง
จักกพันธุ์–เมื่อปี 2543 กทม.ก่อสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการ 5 สถานี 11 ตัว ประกอบด้วย สถานีสยาม 3 ตัว สถานีอโศก 2 ตัว สถานีหมอชิต 3 ตัว สถานีอ่อนนุช 1 ตัว และ 5 สถานีช่องนนทรี 2 ตัว ต่อมาปี 2557 กทม.ก่อสร้างเพิ่มเติมใน 18 สถานี จำนวน 52 ตัว ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ปัจจุบัน กทม.มีแผนก่อสร้างลิฟต์เพิ่มเติมใน 16 สถานี จำนวน 19 ตัว
ขณะนี้ สภา กทม.อยู่ระหว่างการพิจารณางบประมาณ 256 ล้านบาท หากได้รับจัดสรรงบประมาณดังกล่าวแล้ว กทม.จะดำเนินการก่อสร้างลิฟต์ให้แล้วเสร็จภายใน 210 วัน
ถาม-ที่ผ่านมามีอุปสรรคอะไรถึงทำให้การก่อสร้างลิฟต์ใช้เวลานาน และยังสร้างไม่ครบทุกสถานี
จักกพันธุ์-ภายหลัง กทม.ลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาที่ชนะการประกวดราคา เพื่อเริ่มงานก่อสร้างตามร่างขอบเขตของงาน ก็พบปัญหา ได้แก่ พื้นที่ก่อสร้างลิฟต์ไม่เพียงพอ อุปสรรคการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ระบบไฟฟ้า และมี 5 สถานี ที่ไม่สามารถก่อสร้างลิฟต์เพิ่มเติมได้ ประกอบด้วย 1.สถานีศาลาแดง ไม่สามารถก่อสร้างลิฟต์จากชั้นพื้นดินไปชั้นจำหน่ายตั๋ว เพราะ ติดปัญหาการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ระบบไฟฟ้า ในส่วนนี้ กทม.ได้แก้ปัญหา โดยการประสาน รฟม.เพื่อขอให้ประชาชนใช้ลิฟต์ร่วมกับสถานีสีลมของ รฟม. 2.สถานีสะพานตากสิน ขณะนี้มีโครงการปรับปรุงและขยายสถานีจากระบบรางเดี่ยวเป็นรางคู่ โดยลิฟต์นี้จะก่อสร้างพร้อมการปรับปรุงสถานีจำนวน 4 ตัว 3.สถานีชิดลม พื้นที่ทางเท้าแคบไม่สามารถก่อสร้างลิฟต์ได้ 4.สถานีเพลินจิต พื้นที่ทางเท้าแคบ ไม่มีพื้นที่ก่อสร้างลิฟต์ และ 5.สถานีอโศก ภาคเอกชนได้ขออนุญาต กทม.ทำทางเชื่อมมายังสถานีรถไฟฟ้า กทม.จึงขอให้เอกชนก่อสร้างลิฟต์ 1 ตัว เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้ด้วย
ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีทั้งหมด 34 สถานี ต้องมีลิฟต์ทั้งหมด 136 ตัว ขณะนี้มี 107 ตัว เหลืออีก 29 ตัวจะครบ กทม.แบ่งการทำงาน 2 กลุ่ม คือ 1.สามารถก่อสร้างได้ให้ครบ 2 ฝั่ง ใน 16 สถานี จำนวน 19 ตัว และ 2.กลุ่มที่ติดปัญหาอุปสรรคใน 5 สถานี จำนวน 10 ตัว
ถาม-กลุ่มภาคีเครือข่ายฯที่ยื่นฟ้องเรียกร้องให้ กทม.จ่ายค่าเสียหายรายบุคคล จากกรณีนี้
จักกพันธุ์-กทม.จะขอทุเลาคำสั่งศาล โดยจะชี้แจงรายละเอียดถึงสาเหตุที่ กทม.ยังก่อสร้างลิฟต์ได้ไม่ครบว่าเป็นเพราะอะไร ยืนยันว่าที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 กทม.แก้ไขปัญหาลิฟต์โดยสารมาโดยตลอด.