‘เท้าเทียมไดนามิก’ ฝีมือคนไทย คุณภาพเท่า ตปท. ‘ผู้พิการขาขาด’ ขอรับได้ฟรีที่ รพ.
นักวิจัยไทยสุดเจ๋ง! พัฒนา “เท้าเทียมไดนามิก” ผลิตจากคาร์บอน น้ำหนักเบา เดิน วิ่ง จ็อกกิง ได้สบาย รวมถึงถูกกว่านำเข้าต่างประเทศ 3 - 4 เท่า เผย ดันเป็นสิทธิประโยชน์ใน “ระบบบัตรทอง” แล้ว คนพิการขาขาดติดต่อ รพ. ขอใช้ได้เลยไม่มีค่าใช้จ่าย
รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งบริษัท MUTHA ผู้ผลิตเท้าเทียมไดนามิก เอสเพส (sPace) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ขณะนี้เท้าเทียมไดนามิก เอสเพส สำหรับผู้พิการขาขาดที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับเท้าเทียมคุณภาพสูงจากต่างประเทศ ได้บรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการขาขาดเข้าถึงอุปกรณ์เท้าเทียมที่มีคุณภาพสูงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
รศ.ดร.ไพรัช กล่าวว่า เท้าเทียมไดนามิ เอสเพส ผลิตขึ้นโดยใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ ที่เป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่น แต่แข็งแรงสูง แถมน้ำหนักเบา และเป็นวัสดุเดียวกันกับที่ใช้ผลิตโครงสร้างเครื่องบิน ซึ่งเมื่อนำไปใช้ทดลองกับผู้พิการขาขาด พบว่า เมื่อน้ำหนักตัวเหยียบลงไปที่พื้น จะเกิดพลังงานจากการกระทบของน้ำหนักตัว และเด้งกลับเป็นการปลดปล่อยพลังงาน ซึ่งจะเป็นเหมือนแรงส่งและทำให้การเดินเป็นธรรมชาติ จึงช่วยให้สามารถทำกิจกรรมภายนอกได้ดีขึ้น เช่น การเดิน รวมถึงการวิ่งออกกำลังกาย ฯลฯ
ทั้งนี้ จากการผลักดันเข้าเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง ก็คาดว่าจะสามารถตอบโจทย์การใช้เท้าเทียมสำหรับผู้พิการขาขาดที่จำเป็นต้องได้รับเท้าเทียมที่มีคุณภาพในประเทศไทยกว่า 5 หมื่นคน เพราะปัจจุบันผู้พิการขาขาด 100 คน จะมีเพียงแค่ 5 คนที่สามารถเข้าถึงเท้าเทียมไดนามิกเนื่องจากเป็นอุปกรณ์ราคาแพง และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีราคาขายเริ่มต้นประมาณ 8 หมื่น - 1.2 แสนบาท
ส่วนคนพิการอีก 95 คน จะได้รับเท้าเทียมที่เป็นชุดสิทธิประโยชน์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแทน ซึ่งแต่เดิมจะมี 2 รุ่น คือ เท้าเทียมไม้ (Sach foot) ที่ใช้ไม้เป็นวัสดุขึ้นรูปทรงเท้าหุ้มด้วยยาง และมีแกนต่อเข้ากับแกนหน้าแข้งของคนพิการ แต่ข้อจำกัดคือ มีน้ำหนักมาก และขยับข้อเท้าไม่ได้ ขณะที่อีกรุ่นคือ เท้าเทียมข้อเท้าแกนเดียว (Single-axis) ที่ตัวรูปทรงเท้าผลิตจากไม้เช่นกัน แต่จะมีข้อต่อบริเวณเท้าเทียมที่ขยับได้เล็กน้อย ซึ่งเป็นรุ่นที่ดีกว่ารุ่นเดิม แต่ก็ยังไม่สะดวกต่อคนพิการในการใช้งาน เนื่องจากวัสดุเป็นไม้ มีน้ำหนักค่อนข้างมาก และขยับข้อเท้าได้เพียงเล็กน้อย
รศ.ดร.ไพรัช กล่าวอีกว่า เท้าเทียมไดนามิก เอสเพส ที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศ หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่มีการผลิตเท้าเทียมไดนามิกเหมือนกัน ทั้งในมิติของวัสดุที่ใช้ในการผลิต ฟังก์ชันการใช้งาน พบว่าของประเทศไทยมีราคาถูกกว่ามาก โดยที่ต่างประเทศจะขายอยู่ที่เริ่มต้นชิ้นละ 8 หมื่น - 1 แสนบาท แต่เท้าเทียมไดนามิกเอสเพสที่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ เบิกจ่ายชดเชยกับสำนักงานหลักประกนสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในอัตราชิ้นละ 2.9 หมื่นบาท หรือถูกกว่าต่างประเทศ 3 - 4 เท่า ซึ่งช่วยลดภาระงบประมาณประเทศไปได้อย่างมาก
“สำหรับคนพิการที่ต้องการใช้เท้าเทียมไดนามิก เอสเพส ขณะนี้สามารถใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไปที่โรงพยาบาล และให้แพทย์ได้ประเมิน พร้อมกับแจ้งว่าต้องการเท้าเทียมไดนามิกส์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทางแพทย์จะใส่ให้ ขณะที่ทางโรงพยาบาล ก็จะเบิกจ่ายชดเชยค่าสปสช. โดยที่คนพิการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และจะได้ใช้อุปกรณ์เท้าเทียมที่มีคุณภาพสูงต่อไป” รศ.ดร.ไพรัช กล่าว
ด้าน นายมัณฑนะ โกมลผลิน ผู้พิการขาขาดที่ได้ใช้เท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส กล่าวกับ “The Coverage” ว่า ที่ผ่านมาได้ใช้ขาเทียม และเท้าเทียมมาหลายรุ่น ทั้งรุ่นที่เป็นแบบไม้ และรุ่นที่ใช้โลหะในการผลิต แต่เมื่อได้มาทดลองใช้เท้าเทียมไดนามิก เอสเพส พบว่าคล้ายเท้าจริงมากที่สุด ขณะที่การใช้งานก็เหมือนกับการเดินด้วยขา และเท้าจริงๆ โดยเฉพาะการลงน้ำหนักตอนเดิน หรือวิ่ง ทำให้สามารถรับรู้และรู้สึกถึงน้ำหนัก และแรงส่งจากเท้าเทียมไดนามิก ซึ่งทำให้คล่องตัวในการใช้งานมากขึ้น และตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างดี