ทางลาดคนพิการ หนึ่งในอารยสถาปัตย์ที่สังคมยุคใหม่ต้องใส่ใจ
ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการออกแบบสถานที่และพื้นที่สาธารณะนั้น ได้มีการพัฒนาและคำนึงถึงการใช้งานสำหรับทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ทุพพลภาพหรือผู้พิการซึ่งมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การปรับปรุงและจัดการบริการสาธารณะ เช่น การขนส่งและการสัญจรไปมาอย่างทางลาดคนพิการและผู้สูงอายุ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงบรรดาผู้คนในสังคมควรหันมาใส่ใจและขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นและแพร่หลาย เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการดำรงชีวิตของกลุ่มคนผู้พิการให้มีช่องว่างที่น้อยลง และเพิ่มความสุขและความเท่าเทียมในสังคมมากขึ้น ในบทความนี้เราจะพาไปดูจุดเล็กๆ ที่สำคัญอย่าง ทางลาดคนพิการ ว่ามีความผลต่อการใช้ชีวิตของผู้พิการมากแค่ไหน และทางลาดที่ดีควรมีลักษณะเป็นอย่างไร ตามมาศึกษาไปพร้อมกัน
ทางลาดคนพิการ มีความสำคัญต่อผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพหรือผู้พิการ รวมถึงผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ใช้รถเข็นหรือมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว และเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร และอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เราจึงได้แบ่งความสำคัญของทางลาดคนพิการออกเป็นข้อย่อย ดังต่อไปนี้
ประการแรก ทางลาดคนพิการจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กลุ่มคนพิการที่ใช้รถเข็นวีลแชร์และผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางสุขภาพและร่างกาย ให้สามารถเข้าถึงอาคารและสถานที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น หากไม่มีทางลาดคนพิการก็จะทำให้กลุ่มคนดังกล่าวเข้าถึงอาคารหรือพื้นที่ต่างระดับ อย่างพื้นที่ที่มีความสูงกว่าพื้นดินปกติได้ยากลำบาก
การมีทางลาดคนพิการจะช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุ เช่น การพลัดตก หรือหกล้ม เพราะอุปสรรคสำคัญในการสัญจรไปมาคือการใช้บันได ซึ่งไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยต่อผู้พิการ และในกรณีของผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ เป็นต้น
ทางลาดคนพิการช่วยส่งเสริมอิสรภาพและศักดิ์ศรีของผู้พิการเอง ทำให้พวกเขาสามารถเคลื่อนย้ายหรือเดินทางด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น
ช่วยให้ผู้พิการสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป
การมีทางลาดคนพิการในพื้นที่สาธารณะ ที่พักอาศัย และตึกอาคารต่างๆ ยังแสดงถึงการให้ความสำคัญและการยอมรับผู้พิการจากสังคม ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น
ทางลาดที่ดีและปลอดภัย ควรเป็นอย่างไร
ในการออกแบบอาคารสถานที่ ผู้สร้างควรคำนึงถึงหลักการออกแบบที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นมิตรต่อการใช้งานของผู้คนทุกช่วงอายุ ทุกเพศ และทุกสภาพร่างกาย หรือที่เราเรียกกันว่า อารยสถาปัตย์ (Friendly Design) โดยเฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวกนอกอาคารอย่างทางลาดคนพิการ ผู้ที่ใช้งานรถเข็นวีลแชร์ หรือผู้สูงอายุ โดยรูปแบบทางลาดที่ดีและมีความปลอดภัย ควรมีลักษณะดังนี้
สัดส่วนความชันของทางลาดคนพิการ
สัดส่วนความชันที่เหมาะสมสำหรับทางลาดคนพิการหรือผู้ใช้งานรถเข็นวีลแชร์จะเป็น 1:12 และ 1:16 โดย สัดส่วน 1:12 หรือความสูง 1 ม. ต่อความยาวของทางลาด 12 ม. ทำให้ผู้ใช้รถเข็นจะสามารถเข็นรถได้เองโดยปราศจากคนช่วย ส่วนสัดส่วน 1:16 หรือความสูง 1 ม. ต่อความยาวของทางลาด 16 ม. จะเป็นสัดส่วนที่ผู้ใช้รถเข็นสามารถเข็นรถได้อย่างสะดวกสบาย
ความกว้างของทางลาดคนพิการ
ทางลาดคนพิการแนวตรง
สำหรับความยาวทางลาดไม่เกิน 6 ม. ควรมีความกว้าง 90 ซม. เป็นอย่างน้อย ส่วนทางลาดที่ความยาวทุกช่วงรวมกันมากกว่าหรือเท่ากับ 6 ม. ควรมีความกว้างอย่างน้อย 1.5 ม. และต้องมีชานพักที่กว้างอย่างน้อย 1.5 ม. ในทุกระยะ
ทางลาดคนพิการ ขนาด 90 และ 180 องศา
ขนาดควรมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 1.5 ม. ความยาวทางลาดช่วงละไม่เกิน 6 ม. และควรมีความกว้างของชานพักอยู่ที่ 1.5 ม.
นอกจากนี้ ลักษณะทางลาดคนพิการที่ดียังควรอยู่ข้างบันได มีการติดตั้งราวจับทั้งสองฝั่ง และมีการยกขอบทางลาดขึ้นเพื่อป้องกันการลื่นตก รวมไปถึงลักษณะพื้นผิวทางลาดที่ควรแข็งและไม่ลื่น และมีจุดต่อเนื่องระหว่างพื้นกับทางลาดที่เรียบเนียนไม่สะดุดด้วย
เรื่องของทางลาดคนพิการนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายอีกหลายบริการสาธารณะที่ผู้พิการพึงได้รับ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายและเท่าเทียมกับทุกคนในสังคมได้อย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากบริการสาธารณะแล้ว ยังมีสิทธิและสวัสดิการของผู้พิการอีกมากมายที่ผู้พิการและผู้ดูแลอีกหลายคนอาจไม่เคยรู้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา เทคโนโลยีและการสื่อสาร การช่วยเหลือทางกฏหมาย และอื่นๆ อีกมากมาย สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบัตรคนพิการและสิทธิต่างๆ เกี่ยวกับผู้พิการได้ที่เว็บไซต์ Cheewid แพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่างผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับผู้ให้ พร้อมสนับสนุนผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น
ขอบคุณ... https://www.prachachat.net/public-relations/news-1553387