สำรวจสารพัดปัญหา'ทางเท้า' ทุกข์คนกรุงยังไม่ถูกแก้จริงจัง?
ปัญหาทางเท้า เป็นปัญหาใหญ่ที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งชำรุด เป็นหลุมเป็นบ่อ ใช้เวลานานในการซ่อมแซม โดยส่วนใหญ่เกิดความสงสัยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะสามารถแก้ไขให้แล้วเสร็จจริงได้หรือไม่
"ทางเท้าริมถนน" หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ฟุตปาธ" เป็นเส้นทางการเดินทางที่สำคัญสำหรับประชาชนไม่แพ้ถนน แต่ที่ผ่านมาทางเดินเท้าเหล่านี้กลับถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายตั้งแต่ในวงสนทนาประสาเพื่อนลามไปจนถึงโลกออนไลน์ โดยเฉพาะใน กทม. เมืองหลวงที่ถูกคาดหวังตัวอย่างความสะดวกสบายจากการพัฒนา แต่ทางเดินเท้าในเมืองหลวงกลับเต็มไปด้วยคำถามถึงปัญหามากมาย
อาทิ มาตรฐานความกว้าง การชำรุดทรุดโทรม ที่พบเห็นกันบ่อยคือสภาพแผ่นกระเบื้องที่ใช้ปูพื้นเวลาต้องคอยระวัง แผ่นกระเบื้องจะพลิกน้ำที่ขังอยู่ด้านใต้กระเบื้องจะกระเด็นขึ้นมาหรือไม่ ไม่ต้องคาดหวังถึงทางเท้าที่ควรออกแบบให้อำนายความสะดวกไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการให้ใช้งานได้จริง
"ทีมข่าวชุมชนเมือง เดลินิวส์" ลงพื้นที่สำรวจหลายพื้นที่ของ กทม. ทั้งย่านใจกลางเมือง และรอบนอก ทั้งทางเท้าที่อยู่ริมถนนสายหลักและในซอยก็พบเห็นว่าทางเท้าในแต่ละพื้นที่มีขนาดไม่เท่ากัน และปัญหาของแต่ละจุดไม่เหมือนกัน เบื้องต้นสรุปภาพปัญหาจากการลงพื้นที่คร่าวๆได้ดังนี้ 1.ทางเท้าแคบเกินไปจนประชาชนไม่สามารถเดินสวนทางกันได้สะดวก ทำให้บางส่วนยังต้องลงไปเดินบนถนนแทน 2.ทางเท้าแคบและมีสิ่งกีดขวางอยู่บนทางเท้า เช่น เสาตอม่อ ป้ายสัญญาณจราจร ป้ายชื่อซอย ป้ายโฆษณา เวลาเดินต้องใช้เทคนิคในการเดินหลบเลี่ยงไม่สามารถเดินทางตรงได้ โดยเฉพาะผู้พิการหรือผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น เมื่อมีเสาขวางก็ไม่สามารถใช้ทางเท้าเป็นเส้นทางสัญจรด้วยเช่นกัน 3.ทางเท้าสกปรก ซึ่งอาจเกิดจากการตั้งวางถังขยะ หรือมีการแอบตั้งร้านขายอาหาร ทำให้บริเวณพื้นทางเท้าหลายแห่งไม่สะอาด มีคราบดำ หรือบางแห่งยังคงมีน้ำที่ไหลจากถุงขยะนองอยู่ 4.ทางเท้ากว้างขนาด 2 เมตร แต่เดินไม่สบายเพราะพื้นกระเบื้องที่ใช้ปูทางเท้าชำรุด บางจุดเป็นหลุม บางจุดถูกดันขึ้นมาทำให้พื้นไม่เรียบเสมอกัน เวลาเดินก็ต้องคอยระมัดระวัง
ทั้งนี้ ระหว่างที่ทีมข่าวลงพื้นที่ได้ลองสอบถามประชาชนที่ใช้ทางเท้า หลายคนมีความเห็นคล้ายว่าทางเท้าบางจุดเดินแล้วพื้นไม่สม่ำเสมอ เหมือนเป็นหลุม และมีกระเบื้องพลิกจนน้ำกระเด็นเปื้อนร้องเท้า ถ้าถามความพึงพอใจการใช้ทางเท้าใน กทม.ก็แค่ระดับปานกลาง ขณะที่บางคนระบุว่าบางครั้งเดินเหยียบแผ่นกระเบื้องแล้วน้ำกระเด็นซึมเข้ามาในรองเท้าโดยเฉพาะช่วงฝนตกที่ไม่ทันระวังเมื่อเหยียบโดนแผ่นกระเบื้องพลิก ทำให้ข้อเท้าพลิกและบาดเจ็บไปหลายวัน และบางแห่งยังมีหมุดเหล็กโผล่ขึ้นมาจากทางเท้าทำให้เดินสะดุดได้แผลก็มี
ส่วนหลายคนระบุอีกปัญหาคือการซ่อมแซมที่ล่าช้า ชำรุดแล้วไม่มีซ่อมแซม หรือใช้เวลานาน พอเดินไปถึงจุดที่ชำรุดก็ต้องเดินลงถนนเพื่อเลี่ยงเกิดอุบัติเหตุด้วยเช่นกัน บางครั้งฝาท่อระบายน้ำที่อยู่บนฟุตปาธหายไป มีเพียงแต่ท่อนไม้มาเสียบไว้กันคนเดินตก ใช้เวลานานหลายวันถึงจะมาดำเนินการซ่อมแซม อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงทางเท้าในฝัน "หากเป็นไปได้อยากเห็นทางเท้าแบบใด" จุดนี้ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ขอแค่ปรับปรุงให้ดี ไม่ชำรุดหรือทำอย่างไรก็ได้ให้ไม่ต้องซ่อมบ่อยๆ ทำให้เดินได้เรียบเสมอกัน ส่วนทางเท้าไหนที่พื้นที่แคบอยู่แล้วก็ไม่ควรมีสิ่งกีดขวางเพื่อจะเดินได้อย่างต่อเนื่อง ปลอดภัย และอยากให้คำนึงถึงผู้สูงอายุและคนพิการ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ใช้ทางเท้า ก็ควรจะได้รับความสะดวกสบายในการใช้ทางเท้าด้วยเช่นกัน
อย่างเช่น เจ้าของธุรกิจส่วนตัวรายหนึ่ง แสดงความคิดเห็นว่า ทางเดินเท้าควรมีการปรับปรุงแบบ หรือระบบขึ้นใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่แก้ไขเป็นจุดๆ เกิดปัญหาตรงไหนแก้ตรงนั้น เพราะปัญหาก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ แก้ตรงนี้มีผลกระทบตรงโน้น เสียงบประมาณไม่มีวันจบ ทาง กทม.ควรหันมาใส่ใจการแก้ปัญหาทางเท้าแบบจริงๆ เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันของคนเมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ค่อนข้างมีการใช้ทางเดินเท้าที่ไม่ได้น้อยไปกว่าการใช้รถยนต์ แต่สิ่งที่พบเห็นบ่อยครั้งคือทางเดินเท้าชำรุดเป็นหย่อมๆ หลายจุดต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน เพราะหากไม่มีการแก้ไขอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้สัญจรผ่านไปมาได้ ทางเดินเท้าที่ดีคิดว่าควรมีขนาดความกว้างพอสมควรที่จะทำให้คนสามารถเดินสวนกันได้ โดยไม่ต้องเดินลงบนถนน เพราะหากมีการเดินบนถนนอันตรายก็จะเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการสร้างทางเดินเท้าควรใส่ใจสำหรับผู้พิการมากยิ่งขึ้น มีเส้นทางเดินทางสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ในเมืองหลวงหลายเมืองสร้างรูปแบบทางเท้าแบบนี้มานานมากแล้ว แต่ในกรุงเทพมหานครในหลายจุดยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม
ก่อนหน้านี้ สำนักการโยธา กทม. เคยชี้แจงกรณีปัญหาทางเท้าในพื้นที่กทม.ที่เป็นเรื่องร้องเรียนอันดับต้น ๆ ทั้งทางเท้าชำรุดเสียหาย การใช้งานผิดประเภท การรุกล้ำพื้นที่ทางเท้าและการตั้งแผงลอยทำการค้าว่า สำนักการโยธา ได้ตรวจสอบความเสียหายทางเท้าตามวงรอบทุก 15 วัน หากตรวจพบความเสียหายที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนนที่ดูแลพื้นที่ จะจัดหน่วยซ่อมฉุกเฉินเข้าไปซ่อมแซมทันที และหากมีการแจ้งข้อมูลจากประชาชน จะลงพื้นที่จัดซ่อมให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน ส่วนกรณีที่สำนักการโยธา ตรวจพบการใช้งานทางเท้าผิดประเภท เช่น จอดรถบนทางเท้า ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า จะแจ้งสำนักงานเขตดำเนินการตามหน้าที่ สำหรับการอนุญาตให้หน่วยงานสาธารณูปโภคเข้าใช้พื้นที่ทางเท้า สำนักการโยธาจะประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก เพื่อร่วมตรวจสอบและรวบรวมความเห็นถึงผลกระทบต่าง ๆ ก่อนที่จะพิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่ และเมื่อหน่วยงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ ก่อสร้างแล้วเสร็จจะคืนพื้นที่ให้ กทม. จะตรวจสอบพื้นที่ร่วมกันอีกครั้ง