นักท่องเที่ยว “คนพิการ” ความท้าทายใหม่อุตฯท่องเที่ยวไทย
ปัจจุบันสังคมโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย (aging society) และสังคมคนพิการ (disabled society) เนื่องจากประชากรโลกมีแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น และอายุที่เพิ่มมากขึ้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดความพิการ จากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 9.2 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 11.7 ในปี 2556 และอาจเพิ่มสูงถึงร้อยละ 21.1 ในปี 2593
ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกแสดงให้เห็นว่า ตัวเลขคนพิการในโลกมีสูงถึง 785 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 15 ของประชากรโลก โดยคาดการณ์จะมีคนพิการมากถึง 160 ล้านคน ในปี 2025 ในยุโรป และ 100 ล้านคนในปี 2030 ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นนักท่องเที่ยวหลักของประเทศไทยทั้งสิ้น
“ผศ.ดร.กัลยา สว่างคง” อาจารย์ประจำคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม และ RDI มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ให้ข้อมูลว่า จากตัวเลขดังกล่าวนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้คนพิการจะมีข้อจำกัดในการเดินทาง แต่ยังต้องการประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นจากการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อคนพิการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
พร้อมระบุว่า มีงานวิจัยในยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายของกลุ่มคนพิการว่า ร้อยละ 70 ของประชากรที่เป็นคนพิการในยุโรปมีความพร้อมทั้งสภาพทางการเงินและความสามารถทางร่างกายในการเดินทางท่องเที่ยว และมีใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวปกติถึง 1.16 เท่า
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ได้พยากรณ์มูลค่าของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสำหรับคนพิการในยุโรปไว้ว่าในปี ค.ศ. 2025 ความต้องการเดินทางของคนพิการจะเพิ่มเป็น 159.7 ล้านคน เกิดรายได้จากการท่องเที่ยว (เดินทางพร้อมเพื่อนหรือครอบครัวเฉลี่ย 2 คน) ประมาณ 265 พันล้านยูโร
“ผศ.ดร.กัลยา” บอกด้วยว่า ความน่าสนใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือพลังในการใช้จ่ายเพื่อให้ได้ท่องเที่ยวตามที่ต้องการ โดยค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวนั้นจะทวีคูณเสมอ เนื่องจากต้องมีผู้ที่ร่วมเดินทางไปด้วยทุกครั้ง กลุ่มคนพิการจึงเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่มีความน่าสนใจทั้งในด้านจำนวนและพลังในการใช้จ่าย
ดังนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงควรเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
ปัญหาสำคัญคือ ผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจกับกลุ่มนักท่องเที่ยวคนพิการมีค่อนข้างน้อย โดยข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวของไทยพบว่า จำนวนบริษัทที่รับจัดนำเที่ยวให้คนพิการมีเพียงไม่กี่บริษัท โดยบริษัทส่วนใหญ่ไม่มีการนำเสนอรายการนำเที่ยวที่เฉพาะสำหรับคนพิการ
นอกจากนี้ ในแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก ส่วนใหญ่ยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการที่เหมาะสมสำหรับคนพิการ เนื่องมาจากความไม่เข้าใจความต้องการของคนพิการ ความกลัวที่จะไม่สามารถดูแลหรือให้บริการที่ถูกต้องเหมาะสมได้
“ผศ.ดร.กัลยา” ยังบอกด้วยว่า การไม่มีตัวเลขทางสถิติยืนยันจำนวนนักท่องเที่ยวคนพิการ รวมทั้งความไม่แน่ใจถึงความสามารถในการเดินทางและการใช้จ่ายของคนพิการสอดคล้องกับข้อมูลจากงานวิจัยในประเทศอังกฤษ ที่แสดงให้เห็นว่าร้อยละ 63 ของบริษัทนำเที่ยวไม่เคยขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มนี้เลย
ที่ผ่านมาองค์กรต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสิทธิของคนพิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการเดินทางท่องเที่ยว เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนจึงมีการออกข้อกำหนดและแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อคนพิการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทยมีแผนพัฒนาต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างภาคบริการ เน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวสำหรับคนทั้งมวลและการให้บริการที่เท่าเทียม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แผนพัฒนาต่าง ๆ นี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า ภาครัฐให้ความสำคัญกับการให้บริการคนพิการ
เมื่อผนวกกับข้อมูลทางสถิติจากหลายประเทศที่ยืนยันถึงจำนวนที่เพิ่มขึ้น ความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยวและพลังในการใช้จ่ายของคนพิการทำให้นักท่องเที่ยวคนพิการเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
อย่างไรก็ตาม แนวทางการดำเนินงานจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา โดยควรเริ่มต้นจากการกำหนดนโยบาย หรือแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม มีการให้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรในทุกภาคส่วน และเร่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ที่จะเอื้อให้คนพิการสามารถเดินทางและเข้าถึงข้อมูลทางการท่องเที่ยวได้อย่างไม่จำกัด
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวควรวิเคราะห์สถานการณ์และข้อมูลต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจถึงความท้าทายในการให้บริการกลุ่มนักท่องเที่ยวคนพิการอันจะนำไปสู่การตอบสนองความคาดหวังของคนกลุ่มนี้ได้อย่างเต็มรูปแบบ
โดยการจัดบริการให้คนพิการนั้นนอกจากจะเกิดประโยชน์ทั้งในด้านการตอบสนองสิทธิพื้นฐานของคนพิการ และเพื่อพัฒนาความสามารถในการให้บริการอันจะนำไปสู่โอกาสใหม่ทางธุรกิจของผู้ประกอบการเองแล้ว ยังเป็นการสร้างความแตกต่างที่ส่งผลต่อจิตใจของผู้คนในสังคมอีกด้วย