นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ-ผู้พิการ “รถยนต์สามล้อไฟฟ้าฝีมือคนไทย”
23 ส.ค.64 - นักวิจัยไทย ทำได้ไม่น้อยหน้าใคร ต่อยอด “รถยนต์สามล้อไฟฟ้า” สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการทางการเคลื่อนไหว ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีคุณภาพ ราคาคนไทย
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัย นวัตกรรม “รถยนต์สามล้อไฟฟ้าสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการทางการเคลื่อนไหว” ที่เป็นนวัตกรรมจากการนำเทคโนโลยีมาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ให้ทำงานได้เหมือนคนปกติ
รองศาสตราจารย์ ดร.ดอน อิศรากร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมการจัดและควบคุม คณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า การผลิตรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลสำหรับคนพิการได้ถูกปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอยู่หลายครั้ง จนได้รูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงาม มีความคล่องตัว ปลอดภัย และผ่านการทดสอบตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของกรมขนส่งทางบก
พร้อมเสริมด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ที่กําลังเติบโตขึ้น ซึ่งพบว่าผู้พิการสนใจนวัตกรรมนี้มาก จึงออกแบบพัฒนาและผลิตรถสามล้อไฟฟ้าสําหรับคนที่พิการ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนพิการ ที่ช่วยยกระดับสร้างคุณค่า สร้างความเท่า เทียมเทียมให้แก้คนพิการ มีโอกาสใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เสริมคุณภาพในการใช้งานในชีวิตประจำวัน และเสริมการทำงานได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับการออกแบบพัฒนาและผลิตรถยนต์สามล้อไฟฟ้าสำหรับคนพิการ ต้องออกแบบให้มีความเหมาะสมกับผู้ใช้งานมากที่สุด ผ่านการทดสอบเป็นไปตามมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก เช่น ความสารถในการรับนํ้าหนัก, ความเร็ว, การไต่ทางลาด, วงเลี้ยว ทดสอบเชิงเทคนิคต่างๆที่จำเป็น โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย รวมถึงการออกแบบและพัฒนาวิธีการประจุแบตเตอรี่ทั้งแบบ Normal Charge หรือแบบ Quick Charge
.
ที่สำคัญชิ้นส่วนของรถยนต์สามล้อไฟฟ้า เลือกใช้เป็นชิ้นส่วนที่หาได้ในประเทศ เพื่อให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุงในอนาคต การออกแบบอุปกรณ์ชาร์จที่ตอบสนองการใช้งานกับระบบไฟฟ้า สามารถใช้งานทั่วไป ซึ่งการชาร์จแบตเตอรี่จะมาพร้อมกับอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน เช่น คอนเน็คเตอร์ ระบบชาร์จที่ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ อุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้าลัดวงจร
นอกจากนี้รถยนต์สามล้อไฟฟ้าสำหรับคนพิการสามารถใช้เก้าอี้รถเข็นร่วมด้วย ซึ่งผ่านกระบวนการทดสอบในขณะที่มีน้ำหนักรถและน้ําหนักบรรทุก (คนนั่ง พร้อมเก้าอี้รถเข็นคนพิการ) 90 กิโลกรัม โดยวิ่งทำความเร็วได้สูงสุด 77 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะนี้ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องแล้ว สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับความต้องการของคนพิการที่มีความต้องการใช้ยานพาหนะในการเดินทางและดำเนินชีวิตได้ดียิ่งขึ้น นับเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและการให้โอกาสทางสังคมแก่คนพิการอีกด้วย
ขอบคุณ... https://www.mcot.net/view/J6T1wm54