"มือ-นิ้ว-เท้า" เทียมเพื่อทดแทน สร้างความมั่นใจ เหมือนไม่พิการ
เปิดโลกนักกายอุปกรณ์ ผู้ผสานศาสตร์และศิลป์ สร้างอวัยวะเทียมจากซิลิโคนที่มี่ความเสมือนจริง ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้ผู้สูญเสียอวัยวะกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
หากพูดถึง “นักกายอุปกรณ์” เชื่อว่า หลายคนอาจไม่เคยได้ยิน หรือ อาจจะรู้จักในวงแคบเท่านั้น เนื่องจากนักกายอุปกรณ์ นั้นค่อนข้างเป็นอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและในบริการในกลุ่มคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะ “ผู้พิการ” หรือในกลุ่มคนไข้มักที่จะเรียกว่า “หมอขาเทียม”
ไทยพีบีเอส ออนไลน์ พามาทำความรู้จักกับอาชีพนักกายอุปกรณ์ ที่ใช้ความเชี่ยวชาญ ช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ขาดและสร้างความมั่นใจให้กับผู้พิการให้สามารถกลับมามีความมั่นใจในการใช้ชีวิตอีกครั้ง
สร้างความมั่นใจให้ผู้สูญเสียอวัยวะ
นายคัมภีร์ ชู้กระโทก หรือ กอล์ฟ นักกายอุปกรณ์ ที่มีประสบการณ์ในการทำอวัยวะซิลิโคนให้กับผู้พิการมากว่า 7 ปี เล่าให้ไทยพีบีเอสฟังว่า พ่อของตนเองเป็นนักทำแขนและขาเทียมในหน่วยงานรัฐ และตนเองก็ได้ใกล้ชิดกับพ่อ แม้ว่าต่อมาตนเองจะเข้าศึกษาในสายอาชีวะ มีสาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์ และต่อมาก็ได้เบนเข็มมาเข้าอบรมในหลักสูตร ผู้ช่วยนักกายอุปกรณ์ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร ร่วมกับ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และเริ่มทำงานในสายนักการอุปกรณ์มากว่า 7 ปี จนถึงปัจจุบันที่ออกมาเปิด บ.รับทำอวัยวะเทียมจากซิลิโคน
คัมภีร์ เล่าว่า การเข้ามาทำอวัยวะเทียมจากซิลิโคนมีความแตกต่างจากอวัยวะเทียมทั่วไปที่เน้นการใช้งานเช่น แขน-ขาเทียม โดยอวัยวะเทียมที่ทำจากซิลิโคนจะมีความเหมือนจริงมากกว่า ซึ่งมีรายละเอียดและสีที่ใกล้เคียงกับสีผิวของผู้ใช้บริการ ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นใจให้กับผู้ที่สูญเสียอวัยวะได้เป็นอย่างมาก
“ผู้ใช้อวัยวะเทียมที่ทำจากซิลิโคนบางคน จากเดิมเป็นคนที่สนุกสนาน อยู่ท่ามกลางวงสังสรรค์ เป็นคนอัธยาศัยดี ตลก ให้ความสุขและเสียงหัวเราะต่อเพื่อน เมื่อประสบอุบัติเหตุ ทำให้สูญเสียความมั่นใจทำให้เขากลายเป็นคนเก็บตัว กลายเป็นคนไม่มีความสุขกับชีวิตเหมือนที่เคย และเมื่อเขาได้อวัยวะเทียมเหล่านี้ไปจึงเหมือนกับว่าเขาได้สิ่งที่ขาดหายไปกลับคืน ”
กลุ่มผู้ที่มาใช้บริการจึงจะมีทั้งผู้สูญเสียอวัยวะจากอุบัติเหตุจากการทำงานและอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตั้งแต่กำเนิด และจากการเจ็บป่วย เช่นผู้ป่วยโรคเบาหวาน
5 อวัยวะ ที่มาทำมากที่สุด
คัมภีร์ ยังเล่าว่า อวัยวะเทียมซิลิโคนที่มีผู้มาติดต่อให้ทำนั้นส่วนใหญ่จะเป็นนิ้วมือ มือ นิ้วเท้า และเท้า ไปจนถึงทั้งท่อนแขนและท่อนขา โดยรูปแบบที่สามารถทำได้จะมีทั้งนิ้วที่ยังมีตอซึ่งอวัยวะเทียมซิลิโคนที่ผลิตขึ้นจะถูกนำไปสวมต่อจากอวัยวะเดิมเช่น นิ้วขาด
ขณะที่อีกกรณี จะเป็นการทำอวัยวะเทียมจากซิลิโคนที่ใช้กับอวัยวะที่ขาดทั้งหมด (ไม่เหลือตอ) รวมถึงกรณีการที่นิ้วขาดจำนวนมากอาจต้องใช้วิธีการรั้งกับข้อมือ ทั้งนี้ นิ้วมีอจะมีรายละเอียดทั้งริ้วรอย และสีผิวที่ใกล้เตียงมากกว่า ขณะที่นิ้วเท้าอาจจะมีรายละเอียดที่น้อยกว่าและมีราคาถูกกว่า
เขายังอธิบายต่ออีกว่า การทำอวัยวะเทียมจากซิลิโคน หากยกตัวอย่างกรณีนิ้วเทียมจะค่อนข้างมีรายละเอียดที่มาก เช่น นิ้วมือจะมีเฉดสีที่แตกต่างกันถึง 5 เฉดสี ทั้งสีผิว ข้อต่อนิ้ว บริเวณเล็บ ช่วงระหว่างสีผิวและฝ่ามือ และสีผิวหลัก ดังนั้นจึงมีความยากในเรื่องของรายละเอียดมาก รวมถึงซิลิโคนที่ขณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเฉดสีของฝั่งยุโรป ซึ่งมีสีผิวที่แตกต่างจากคนเอเชีย ดังนั้นทุกชิ้นงานที่ผลิตขึ้นจะถูกเก็บตัวอย่างเฉดสีผิวของคนไทยและคนเอเชียไว้เสมอ ซึ่งจะมีความแตกต่างที่แยกค่อนข้างยากหากไม่สังเกตอย่างละเอียด
ขณะที่ราคาจะอยู่ที่ กรณีนิ้วเทียมรูปแบบสวมจะอยู่ที่ราว 10,000 บาท ต่อนิ้ว ขณะที่นิ้วเท้าจะราคาถูกกว่าเนื่องจากมีรายละเอียดที่ค่อนข้างน้อยกว่าและไม่เป็นจุดที่ได้รับความสนใจมากนัก ขณะที่กรณีต้องจัดทำหลายนิ้วจะคิดราคาตามจำนวนนิ้ว ขณะที่ชิ้นงานที่ใหญ่ขึ้นเช่นทั้งช่วงแขนก็จะต้องประเมินราคาเป็นรายกรณี
ออนไลน์บูม ผู้ใช้บริการเข้าถึงง่ายขึ้น
ดังนั้น เมื่อผู้สูญเสียอวัยวะหากต้องการที่จะให้สร้างอวัยวะเทียมจากซิลิโคน จะสามารถติดต่อได้ใน 2 ช่องทาง คือ การเดินทางมายังสำนักงานโดยตรง จากนั้นจะทำแบบโดยวัดขนาด ถ่ายภาพเพื่อเก็บสีในการเทียบเคียงกับนิ้วจริง และสอบถามรายละเอียดความต้องการต่าง ๆ
ขณะที่แนวทางทางที่ 2 การติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์ก็สามารถทำได้ โดยถ่ายภาพอวัยวะบนพื้นหลังสีเทา เพื่อความสะดวกในการเทียบเฉดสีผิวที่จะผลิตอวัยวะเทียมซิลิโคนต่อไป จากนั้นจะวัดขนาดโดยมีวิธีการที่เฉพาะเพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล จากนั้นจะเริ่มดำเนินการผลิต โดยหากเป็นนิ้วเทียมที่ซึ่งเป็นลักษณะของการสวมกับอวัยวะเดิมจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ขณะที่หากเป็นรูปแบบที่มากขึ้นก็จะใช้เวลาที่นานขึ้น
ในขั้นตอนของการทำอวัยวะเทียมจากซิลิโคนจะเริ่มจากการวัดแบบจากนิ้วของผู้ใช้บริการโดยวัดขนาดของนิ้วและเล็บซึ่งทำจากอะคริลิกเกรดเดียววัสดุทางทันตกรรม จากนั้นจะขึ้นแบบโดยปูนปลาสเตอร์ เมื่อได้รูปแบบที่ชัดเจนก็จะหล่อซิลิโคนจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการปั้นที่ต้องใช้อุณหภูมิที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้นในช่วงเวลาทำงานจึงอยู่ในช่วงเช้าและเช้าเย็นเนื่องจากมีอากาศที่เย็นกว่าช่วงเวลากลางวัน
จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการลงสีและเข้าเตาอบเพื่อให้ซิลิโคนแข็งตัว จากนั้นจึงส่งมอบให้ผู้ใช้บริการว่ามีปัญหาหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การทำอวัยวะเทียมจากซิลิโคน ยังมีข้อจำกัดที่อาจไม่สมกับความคาดหวังของผู้ใช้บริการเช่น กรณีของนิ้วที่แผลไม่เรียบ หรือปลายนิ้วมีลักษณะกลมโต หรือนิ้วที่งอผิดรูป หรือเกาะติดกันซึ่งการจะทำนิ้วเทียมให้ออกมาเป็นธรรมชาติจึงค่อนข้างยากและอาจไม่สมกับความคาดหวังซึ่งไม่แปลกที่ผู้ใช้บริการมักที่จะมีความคาดหวังที่สูง ซึ่งต้องอธิบายให้เข้าใจ
ข้อจำกัดทำอวัยวะเทียม
คัมภีร์ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า กรณีที่ไม่แนะนำให้ทำอวัยวะเทียมก็คือ ผู้ที่บาดแผลยังไม่หายดีทั้งจากอุบัติเหตุ หรือ จากอาการป่วยเช่นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องตัดอวัยวะ ซึ่งการสวมอวัยวะเทียมอาจจะทำให้แผลติดเชื้อ รวมถึงกรณีของเด็กเนื่องจากยังมีการเติบโตและอวัยวะที่ทำไปอาจจะต้องทำใหม่หรือเปลี่ยนบ่อยซึ่งค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยอวัยวะเทียมที่ทำจากซิลิโคนนี้จะมีอายุประมาณ 3-4 ปี
“ผู้ใช้บริการบางคน สวมนิ้วเทียมไว้ตลอดเวลา ไม่ได้ถอดมาทำความสะอาดเลยจะทำครัว หรืออะไรก็ตามแต่ ตั้งแต่ตื่นจนถึงนอน ซึ่งลูกค้าก็บอกว่าใส่จนคิดว่ามันเป็นอวัยวะของเขาจริง ๆ ไปแล้ว ซึ่งก็ต้องแจ้งให้ทราบว่า ต้องถอดมาทำความสะอาดด้วยเพราะอาจทำให้เกิดเชื้อราและอาจมีปัญหาได้ ”
คัมภีร์ กล่าวปิดท้ายว่า ความสุขจากงานนี้มีหลายอย่าง ส่วนหนึ่งคือรายได้ที่ใช้เลี้ยงดูชีวิตครอบครัว ความสุขจากการสร้างงานศิลปะ และสุดท้ายที่สำคัญคือ การคืนชีวิตให้กับผู้ที่สูญเสียอวัยวะให้สามารถกลับเข้าสู่สังคมและดำเนินมีชีวิตในแบบที่เขาต้องการอีกครั้ง