สารพัดช่าง มอบรถสามล้อโยก ผู้พิการ เล็งเปิดโอกาสศึกษาต่อ สร้างโอกาส-อาชีพ
สุราษฎร์ธานี สารพัดช่าง จัดมอบรถสามล้อโยก โครงการติดตามการฝึกอบรมอาชีพและเตรียมความพร้อมการจัดการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ
12 ก.ย. 65 – ที่หอประชุมยธัมโม วิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี ดร.บุญส่ง จำปาโพธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิโครงการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ นายสิรวิทญ์ ธนเศรษฐ์วงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี และประธานอาชีวศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
น.ส.จุฑามาศ เมืองดี รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี ดร.สาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยวผู้ชำนาญการด้านการพัฒนาและความร่วมมือวิชาชีพระยะสั้น และการจัดการอาชีวศึกษาทวิภาคี นายวิชิต วิเชียร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ ผู้ทรงคุณวุฒิโครงการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ
นางสายใจ ไตรมงคลเจริญ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเขตสุราษฎร์ธานี 1 ภาค 16 ร่วมเปิดโครงการติดตามการฝึกอบรมอาชีพและเตรียมความพร้อมการจัดการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ โดยมีตัวแทนคณะผู้บริหาร คุณครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้พิการเข้าร่วม
ดร.บุญส่ง กล่าวว่า โครงการติดตามการฝึกอบรมและเตรียมความพร้อมการจัดการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ ในครั้งนี้เนื่องจาก ปัจจุบัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่ให้บุคคลมีสิทธิ และโอกาสเสมอกันลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็น 1 ใน 7 วาระเร่งด่วนตามนโยบาย Quick Win ของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)
ในส่วนของการจัดการศึกษา สำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ความสำคัญ และเร่งขับเคลื่อนการจัดอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ มาสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม สนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ ให้กับสถานศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนพิการ ได้เข้าศึกษาต่อสายอาชีพ และฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น
สนับสนุนการจัดสื่อสิ่งอำนวยความสะดวก ที่สอดคล้องเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของผู้เรียนพิการ การบูรณาการการจัดการเรียนการสอน ในรูปแบบการเรียนรวม (Inclusive Education) ฝึกทักษะการดำรงชีวิตอย่างมีอิสระ ฝึกทักษะงานอาชีพ ให้ วิชาชีพที่เกี่ยวข้องในระดับอาชีวศึกษา และสร้างงานเพื่อให้ผู้เรียนพิการมีอาชีพ นำความรู้ ทักษะวิชาชีพความสามารถ เข้าสู่ระบบการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ หรือการเป็นผู้ประกอบการ และเลี้ยงดูตนเอง โดยไม่เป็นภาระของสังคม
ด้วยเหตุนี้จึงขอสนับสนุนและเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีความร่วมมือกันขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อม เพื่อการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการ ระหว่างหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านการจัดการศึกษา และส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้พิการ คือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โรงเรียนการศึกษาพิเศษ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน สมาคมคนพิการ และชมรมคนพิการทุกประเภท และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ได้ช่วยกันขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย และตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาต่อไป
ด้าน น.ส.จุฑามาศ กล่าวว่า โครงการติดตามการฝึกอบรมอาชีพ และเตรียมความพร้อมการจัดการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ วิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี ได้จัดโครงการการพัฒนาอาชีพระยะสั้น (Upskill – Reskil) ให้กับผู้เรียนและประชาชนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษา
โดยคำนึงถึง สิทธิและโอกาสเสมอกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม กอปรกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เร่งขับเคลื่อนการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ หรือ “อาชีวศึกษา เพื่อคนพิการ “เพื่อมุ่งแก้ปัญหาคนพิการในวัยเรียน ที่ไม่ได้รับการศึกษาให้เข้าสู่ระบบการศึกษา โดยการจัดฝึกอบรมอาชีพ ที่สอดคล้องกับความถนัด หรือความสนใจของนักเรียนพิการ ด้วยแนวคิด “เด็ก 1 คน 1 อาชีพ” และสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ
ภายใต้การบูรณาการ ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการขยายโอกาทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ของผู้พิการ เสริมสร้างทักษะอาชีพระยะสั้น (Upskill – Reskil ให้กับผู้เรียน ทั้งประชาชนทั่วไป และคนพิการที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ โดยการบูรณาการหลักสูตรรายวิชาให้ตรงกับทักษะและความพิการของผู้เรียน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. เพื่อติดตามการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นเพื่อผู้พิการ ของวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี
2. เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงาน การจัดอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการของวิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี
3. เพื่อพัฒนาการฝึกอบรมอาชีพเพื่อคนพิการให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
4. เพื่อนำผลผลิตจากการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น งานการจัดทำรถสามล้อโยกมอบให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาโดยวิทยาลัยฯ ได้จัดฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้พิการ จำนวน 2 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2565 ได้แก่ ฝึกอบรมอาชีพงานขนมอบยอดนิยม 5 ชนิด จำนวน 72 ชั่วโมง
สำหรับผู้พิการ ทางการได้ยินฝึกอบรมอาชีพงานผลิตภัณฑ์ลูกปัดหลากสี 6 ชนิด จำนวน 72 ชั่วโมง สำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ถึงวันที่ 6 กันยายน 2565 ได้แก่ ฝึกอบรมอาชีพงานประดิษฐ์จากวัสดุอื่น 5 ชนิด จำนวน 72 ชั่วโมง
สำหรับผู้พิการ และผู้ปกครองผู้พิการ ทางออทิสติกและทางสติปัญญาฝึกอบรมอาชีพงานการทำรถสามล้อโยก จำนวน 72 ชั่วโมง สำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว การเทพื้นคอนกรีตลานกิจกรรมศูนย์ห้องเรียนบริการคนพิการ จำนวน 72 ชั่วโมง สำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ประกอบด้วย 1. นำผลผลิตจากการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น งานการจัดทำรถสามล้อโยก มอบให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 10 คัน เพื่อมอบให้กับผู้เรียนพิการต่อไป
2. ฝึกอบรมอาชีพ งานประดิษฐ์ ดอกดาวเรือง ของผู้พิการและผู้ปกครองผู้พิการ ทางออทิสติกและทางสติปัญญา และ 3. บริการตัดผมชายฟรี แก่คนทั่วไป และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ จำนวน 100 คน ต่อไป
ขอบคุณ... https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7261102