“คนพิการ” ผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในศึกเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.
การสัญจรในกรุงเทพ ด้วยทางเท้าในบางพื้นที่ว่ายากแล้ว แต่สำหรับคนพิการนั้นยากกว่า เพราะมีอุปสรรค์กีดขวาง แม้กระทั่งป้ายหาเสียงของผู้สมัครบางรายก็ยังกีดขวาง การเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้คนพิการ ได้ใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมได้หรือไม่ ?
ซาบะ-มานิตย์ อินทร์พิมพ์ ผู้จัดตั้ง Accessibility Is Freedom ได้พา SPRiNG ลงพื้นที่สำรวจจุดที่ทางเท้ามีปัญหา ด้วยระยะทางเริ่มต้นแค่ไม่ถึง 100 เมตร ก็พบกับอุปสรรค์มากมายที่ทำให้เขา สัญจรได้อย่างยากลำบาก ตั้งแต่ป้ายรถเมล์ พื้นทางเท้าที่ไม่เสมอกัน-ชำรุด และป้ายหาเสียงที่บีบให้พื้นที่สัญจรของเขาแคบลง
คุณซาบะ เล่าว่า สาเหตุของการเรียกร้องและผลักดันสังคมมากว่า 20 ปี ที่คอยช่วยงานอยู่เบื้องหลัง และอีกเกือบ 10 ปี กับการเป็นนักรณรงค์เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของผู้พิการ เพราะต้องการให้ผู้พิการทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม วันนี้คนพิการใช้รถประจำทางได้อย่างสะดวกสบายแล้วหรือยัง ? วันนี้ทางเท้าพวกเขาใช้ได้โดยไม่มีอะไรมากีดขวางแล้วหรือยัง ?
“ระบบขนส่งมวลชน และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสำหรับคนพิการ จะทำให้เรา(ผู้พิการ) สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือ ทางเท้าที่ไม่สมบรูณ์ ทำให้เกิดความลำบากในการสัญจร ซึ่งคนทั่วไปจริง ๆ ก็เกิดความลำบาก แต่แค่เขายังพอไปได้ แต่ผู้ที่มีความพิการด้านอื่น ๆ ความลำบากเหล่านั้นอาจทำให้เขาไปไม่ได้เลย”
ขณะสำรวจพื้นที่ ก็พบกับสิ่งอำนวยความสะดวกหนึ่งที่ผู้พิการอย่าง คุณซาบะ ไม่สามารถใช้ได้เลย นั่นคือสะพานลอย ซึ่งจุดที่สำรวจพบว่า สะพานลอยกว้างจนกีดขวางแทบจะทำให้คุณซาบะสัญจรไปไม่ได้เลย เขาเล่าว่า “สะพานลอยที่กีดขวางทางเท้าจนไม่มีช่องให้สัญจรมีอยู่ทั่วกรุงเทพและประเทศ”
“ผู้พิการเจอปัญหาในการเดินทางทุก ๆ จุด ผมไปทำงาน ก็ต้องนั่งแท็กซี่ไปทำงาน วันหนึ่งก็ 300 บาท เดือนหนึ่งถ้าตีกลม ๆ ก็ 9,000 บาท เห็นไหมครับว่าเงินเดือนผมเหลือเท่าไหร่ มันทำให้เห็นการพัฒนาการของผู้พิการมันยากแค่ไหน ? ถ้าสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้มีพร้อม ก็จะทำให้เราพัฒนาชีวิตได้อย่างเท่าเทียม”
กฎหมายมี แต่ไม่มีคนบังคับใช้
คุณซาบะ ระบุว่า ประเทศไทยมีกฎหมายบังคับใช้ให้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการตั้งแต่ปี 2548 แล้ว ทางลาดจะต้องลาดเอียงอย่างไร ในอาคาร-สวนสาธารณะ จะต้องมีอะไรบ้าง แต่ไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ทำผิดแบบดังกล่าว
“วันนี้ร่างกายเรายังครบ 32 แต่ถ้าวันนึงเราไม่ได้ครบ 32 แล้ว เราจะใช้ชีวิตอย่างไร ? ผมอยากให้สังคมหันมาตระหนักตรงนี้ว่า หากเรามีสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้เตรียมพร้อมไว้ วันหนึ่งที่เกิดอะไรขึ้น เราก็พร้อมที่จะใช้ชีวิตต่อได้อย่างเท่าเทียมกับคนอื่น” คุณซาบะ เล่า
ตลอดหลายสิบปีที่ คุณซาบะ เรียกร้องความเท่าเทียมมา เขามองว่าสังคมเริ่มตื่นตัวเรื่องความเท่าเทียมสำหรับทุก ๆ คน มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแค่คนพิการ ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเริ่มหันมาสนใจมากขึ้น อาคาร-สถานที่ใหม่ ๆ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตรงตามหลักเกณพ์มากขึ้น แม้จะไม่ได้ตรงตามแบบที่เอื้อต่อคนพิการ 100% ก็ตาม
“อย่าลืมนะครับว่า วันนี้เวลามันเดินไปข้างหน้า ทุกคน แม้กระทั่งคนพิการก็ต้องใช้ชีวิตต่อไป คนปกติทั่วไปสามารถออกจากบ้าน สามารถไปโรงเรียนได้ แต่คนพิการยังไม่สามารถไปทำสิ่งเหล่านั้นได้อย่างสะดวกสบายอย่างคนปกติทั่วไป ไปโรงเรียนขึ้นตึกได้ไหม ไปสถานที่ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองได้ไหม ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละ ที่ทำให้คนพิการในประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาได้อย่างประเทศอื่น ๆ” คุณซาบะ เล่าต่อ
แม้สิ่งต่าง ๆ จะดูยากลำบากสำหรับผู้พิการ แต่สิ่งหนึ่งที่ คุณซาบะ เล่า คือ ทุกคนจะต้องไม่หมดหวัง ไม่ว่าผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่จะเป็นใคร ผู้พิการเองก็ต้องพร้อมในการเข้าไปช่วยชี้นำผู้ว่าให้พัฒนาเมืองไปในแบบที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน การสร้างความเท่าเทียมในการสัญจร ทางเท้า สวนสาธารณะ เป็นสิ่งที่ต้องทำก่อน ปัญหาเก่าก็ไล่แก้ ของใหม่ก็อย่าให้มีปัญหา
“เมื่อเมืองเกิดความเท่าเทียมในการสัญจร ก็จะเปิดโอกาสให้ทุกคนพัฒนาได้อย่างเท่าเทียม ที่ผ่านมาผู้พิการถูกทิ้งไว้ข้างหลังนานแล้ว ดังนั้นการทำให้ผู้ที่มีร่างกายที่แตกต่างมีโอกาสได้พัฒนาตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน”
ขอบคุณ... https://www.springnews.co.th/news/824559