‘Dateability’ แอปฯ นัดเดทสำหรับคนพิการ
ถึงแม้ ‘Dateability’ จะไม่ใช่แอปฯหาคู่ออนไลน์แอปฯแรกที่สร้างขึ้นมาเพื่อผู้พิการ แต่ทางผู้สร้างตั้งใจว่าแอปฯนี้จะเป็นหนึ่งในพื้นที่ปลอดภัย ที่ทุกคนสามารถเปิดเผยข้อบกพร่องของตัวเองได้ ช่วยให้ผู้พิการไม่ต้องถูกตราหน้าอีกต่อไปในทุกครั้งที่พวกเขามองหารัก
เพราะความรักเปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตให้มีสีสันและสวยงาม เชื่อว่าหลายคนในที่นี้คงขวนขวายอยากมีรักดีๆสักครั้งหนึ่งในชีวิต แต่การมองหาใครสักคนมาเป็นคู่ตุนาหงันอาจไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม ‘ผู้พิการ’ Jacquline Child สาววัย 28 ปีที่รับมือกับความเจ็บป่วยเรื้อรังมานาน จึงปิ๊งไอเดียลดช่องว่างทางความเหลื่อมล้ำดังกล่าว เปิดตัวแอปฯ นัดเดท ‘Dateability’ เพื่อเพิ่มช่องทางตามหารักสำหรับกลุ่มผู้พิการ
แค่ความต้องการพื้นฐานยังถูกมองข้าม
หลายครั้งที่ผู้พิการถูกมองข้ามความต้องการพื้นฐานไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องความรักหรือความรู้สึกทางเพศ ซึ่งในจุดนี้นักกิจกรรมบางส่วนมองว่าไม่ต่างอะไรจากการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์
Jacquline Child วัย 28 ปี สาวน้อยจากเดนเวอร์, สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับอาการเจ็บป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองซึ่งเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ Jacquline เรียนจบมัธยมปลาย เธอพบว่าสำหรับผู้บกพร่องอย่างเธอมันเป็นเรื่องยากมากที่จะตามหาใครสักคนมาเป็นคู่ชีวิต
ทุกครั้งที่เธอลองออกเดท ฝ่ายตรงข้ามมักชวนเธอไปทำกิจกรรมบางอย่างที่เธอไม่สามารถทำได้ เช่น ปีนเขาหรือเล่นสกี เธอต้องปิดบังตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าร่างกายเธอไม่สมบูรณ์พร้อม เมื่อเธอปฏิเสธการทำกิจกรรมดังกล่าวอยู่บ่อยๆ ฝ่ายตรงข้ามก็รู้สึกว่าเธอมีพิรุธเหมือนซ่อนอะไรบางอย่างไว้ และสุดท้ายก็จบลงที่ถูกเท
นอกจากนี้ผู้เป็นพี่สาวอย่าง Alexa ก็มีความกังวลใจในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน เธออยากให้น้องสาวได้พบคู่ชีวิตที่ดี อยู่ดูแลกันไปนานๆ แต่ด้วยอาการของ Jacquline ที่ต้องให้อาหารทางสายยางในขณะนอนหลับ และไม่ได้ทานอาหารครบ 3 มื้อเหมือนคนทั่วไป น้องสาวของเธอจะหาคู่ครองที่เข้าใจและรับได้ในความบกพร่องนี้ได้อย่างไร?
ด้วยความยากลำบากในการตามหารัก ทั้งสองจึงไอเดียบรรเจิดที่จะสร้างแอปฯหาคู่สำหรับผู้มีความบกพร่องโดยเฉพาะกับ ‘Dateability’
Concept ที่มาพร้อมข้อกังขา
แม้ Dateability จะถูกสร้างขึ้นมาด้วย Concept ที่ดูดี และฟังดูจะช่วยลดช่องว่างทางความเหลื่อมล้ำแก่ผู้พิการได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีผู้พิการบางส่วนให้ความเห็นจากประสบการณ์ที่เคยทดลองใช้เว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ ซึ่งเป็นไปอย่างไม่น่าประทับใจนัก
Lawrence Ross หนึ่งในผู้พิการด้านสายตาวัย 34 ปี แชร์ประสบการณ์การหาคู่เดทออนไลน์ว่า เขาเคยส่งข้อความหาผู้ใช้งานกว่า 200 คนบนเว็บไซต์ eHarmony แต่ไม่มีเลยสักคนที่จะยอมออกเดทด้วย จนเขารู้สึกท้อกับการหาคู่ออนไลน์และคิดว่าการเจอกันในชีวิตจริงแบบตัวเป็นๆน่าจะดีกว่า แม้ Dateability แอปฯหาคู่สำหรับผู้พิการจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการใช้งาน แต่เขาก็ยังรู้สึกขยาดกับการหาคู่ผ่านหน้าจออยู่ดีและมองว่าเป็นเรื่องชวนเสียเวลาสำหรับผู้บกพร่องอย่างเขา
นอกจากนี้ Rodriguez คณะกรรมการที่ปรึกษาของ Autistic Women & Nonbinary Network ยังมีความเห็นว่า "ผู้พิการไม่ควรออกเดทกับผู้พิการเหมือนกัน" เธอเคยทดลองใช้แอปฯ ‘Hik’ แอปฯหาคู่สำหรับผู้มีภาวะออทิสติก แต่เธอก็ยังไม่เจอคนที่ใช่หรือมีใครมาถูกใจ แม้ว่าจะทำให้รู้สึกเศร้าแต่ก็ยังหวังว่าจะได้เจอใครซักคน
Jacquline กล่าวว่าจุดประสงค์หลักของแอปฯนี้สร้างขึ้นมาเพื่อผู้พิการ หรือคนที่ป่วยเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานาน แต่ก็เข้าใจได้ว่ามีคนที่แข็งแรง สุขภาพดีหลายคนโอเคจะออกเดทกับผู้พิการเช่นกัน ในเมื่อคุณสามารถเป็นเพื่อนกับคนพิการได้ แล้วถ้าจะขยับไปอีกขั้นสู่การออกเดทมันจะแย่ตรงไหน?
สำหรับฟังก์ชั่นการเลือกคู่เดทก็ไม่ต่างอะไรจากแอปฯอื่นๆมาก ถูกใจปัดขวา ไม่ถูกใจปัดซ้าย แต่ที่เพิ่มเติมมาคือตัวแอปฯมีให้ใส่รายละเอียดว่าเรามีความบกพร่องทางร่างกายอย่างไร เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่อง สมาธิสั้น ออทิสติก หรือดิสเล็กเซีย
ถึงแม้ ‘Dateability’ จะไม่ใช่แอปฯหาคู่ออนไลน์แอปฯแรกที่สร้างขึ้นมาเพื่อผู้พิการ แต่ทางผู้สร้างตั้งใจว่าแอปฯนี้จะเป็นหนึ่งในพื้นที่ปลอดภัย ที่ทุกคนสามารถเปิดเผยข้อบกพร่องของตัวเองได้ ช่วยให้ผู้พิการไม่ต้องถูกตราหน้าอีกต่อไปในทุกครั้งที่พวกเขามองหารัก ทั้งยังมีระบบ ‘Report’ หากผู้ใช้งานถูกคุกคาม
Jacquline ผู้คิดค้นแอปฯนี้ยังเสริมอีกว่า การตามหาความรักเราต้องพยายามไปเรื่อยๆ ลองแล้วลองอีกซ้ำๆ มันอาจจะใช้เวลานานกว่าจะเจอใครสักคน แต่เราอยากให้ทุกคนใจเย็นๆ
Dateability’ เปิดให้ดาวน์โหลดและใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งถ้าหากแอปฯนี้สามารถลดช่องว่างด้านความเหลื่อมล้ำได้ตามคาดจริงๆ คงถือว่าเป็นการพัฒนาที่ดีไปอีกก้าวของสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์เช่นนี้
ขอบคุณ... https://www.posttoday.com/post-next/people-behavior/687215