ม.ศรีปทุมผนึก กทม. นำร่องโครงการ เส้นทางสัญจรต้นแบบ เพื่อทุกคน
มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยคณะการออกแบบ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผนึกกำลังภาคีการพัฒนาเมือง จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมี สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เดินหน้าโครงการ “เส้นทางสัญจรต้นแบบ เพื่อทุกคน” แก้ไขปัญหาทางเท้าและสะพานลอยจากบริบทเมืองที่เปลี่ยนแปลง อาทิ ทางเท้าแคบ-บันไดสะพานลอยขวาง ใช้พื้นที่บางบัว–สะพานใหม่เป็นต้นแบบการพัฒนา สำรวจร่วมกับภาคประชาชนเพื่อออกแบบแก้ปัญหาตามแต่ละบริบทเพื่อให้ทุกคนใช้ประโยชน์ได้ต่อเนื่องตลอดเส้นทาง
มุ่งเน้นกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ใช้วีลแชร์ ส่งเสริมให้สามารถพึ่งพาตนเองในการเดินทาง ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการสัญจรที่สะดวกปลอดภัย มุ่งเป็นโมเดลต้นแบบงานปรับปรุงเฉพาะจุด จัดระบบสาธารณูปโภคโดยไม่ต้องรื้อถอนทั้งระบบ ปลดล็อกแก้ปัญหาทางเท้าอย่างยั่งยืน สอดรับกับการพัฒนาเมือง ตอกย้ำนโยบายปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ทางเท้า คาดหวังความสำเร็จโครงการฯ จะเป็น เส้นทางสัญจรต้นแบบ การแก้ปัญหา จุดประกายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผนึกกำลังพื้นที่ชุมชนทั้งในกรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศ รุกเดินหน้าพัฒนาทางเท้าเป็นมิตรกับการเดินทางสำหรับทุกคน
อาจารย์ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์ คณบดีคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า การนำเสนอโครงการเส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน ปรับปรุงพื้นที่ทางสัญจรริมถนน กรณีต้นแบบบางบัว – สะพานใหม่ เกิดจากการผนึกกำลังทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ-เอกชน และภาคประชาชน โดยความร่วมมือจาก สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และประชาชนในพื้นที่ สำรวจปัญหาพื้นที่ทางสัญจรบางบัว–สะพานใหม่ บนแนวคิดรูปแบบการแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด โดยจะแก้ปัญหาทางเท้า และสะพานลอยใน 3 ลักษณะหลัก คือ การออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสิ่งกีดขวางบนทางเท้า
รวมถึงปรับบันไดสะพานลอยตั้งแต่ช่วงชานพัก และขยายพื้นที่ทางเท้าด้านชิดอาคารริมทางสัญจร บนโรดแมปการแก้ไขที่เห็นชอบร่วมกันของทุกฝ่าย โดยมีเป้าหมายใช้เป็นโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาทางเท้าเฉพาะจุดให้ทุกคนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของมหาวิทยาลัยที่นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนา ผลิตนักศึกษา สร้างบุคลากรคุณภาพสู่สังคมแล้ว อีกหนึ่งด้านที่ยังคงให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องคือการพัฒนาชุมชน และสังคม
โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ตามภารกิจของสหประชาชาติ ข้อที่ 11 ด้านเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ข้อ 11.7 การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคาร พื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเสมอภาคกัน ที่ยังสอดคล้องกับเป้าหมายข้อที่ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยังยืน SDGs ตามแนวทางขององค์กรสหประชาชาติ และให้พื้นที่ชุมชนโดยรอบ โดยรับรู้ถึงปัญหาขาดความสะดวกสบายในการใช้ทางเท้า บริเวณบางบัว–สะพานใหม่ ของชุมชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงเส้นทางเท้าริมถนน และติดกับสถานีรถไฟฟ้าที่มีผู้ใช้เส้นทางในการเดินทางจำนวนมาก ทั้งกลุ่มประชาชนวัยเรียน วัยทำงาน ผู้พิการ และผู้สูงอายุมาโดยตลอด ประกอบกับคณะการออกแบบ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านการสำรวจ วิจัย และออกแบบ
จึงเป็นตัวเชื่อม กทม. มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ และประชาชนในพื้นที่มาร่วมสำรวจและวางแผนการแก้ไขทางเท้าให้เป็นมิตรต่อการเดินทางของทุกคน หากสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ โครงการนี้นำร่องเป็นมาตรฐานโครงการต้นแบบ ปลดล็อกการแก้ปัญหาทางเท้าทั้งระบบได้อย่างยั่งยืน บนความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ถาวรและรวดเร็ว เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคหลายส่วนทั้ง ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสื่อสาร รวมถึงสตรีทเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ การดำเนินการแก้ไขบนความร่วมมือเป็นทางออกสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้ และหวังว่าโครงการนี้จะการเป็นตัวจุดประกายให้พื้นที่อื่นๆร่วมมือกันปรับทางเท้าบริเวณชุมชนของตนเองในทั้งในพื้นที่ กทม. และต่อยอดไปทั่วประเทศ
“นอกเหนือการได้ร่วมพัฒนาเส้นทางสัญจร ยกระดับคุณภาพชีวิตสังคมแล้ว ยังนับเป็นโอกาสดีในการบูรณาการ การเรียนการสอนภายในหลักสูตร สร้างสมดุลของการเรียนรู้ภาคทฤษฎี ควบคู่ภาคปฏิบัติกับประเด็นที่สอดรับกับความต้องการ และบทบาทความเปลี่ยนไปในสังคม สร้างประสบการณ์เรียนรู้ลงพื้นที่จริง เปิดโอกาสให้ นักศึกษาได้เรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เพื่อนำไปสู่การนำความรู้จากในห้องเรียนมา แก้ไขปัญหา รวมถึงการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง” อาจารย์ธีรบูลย์ กล่าว
นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์ กล่าวเพิ่มเติม “ด้วยรูปแบบผังเมืองปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ส่งให้ทางเท้า แคบลง มีสิ่งกีดขวาง พื้นขรุขระ ส่งผลให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกับผู้พิการ ผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเพราะประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว การเดินทางไปไหนมาไหนด้วยตัวเองไม่สะดวกและขาดความปลอดภัย ปัจจุบันพบปัญหาที่ผู้พิการและผู้สูงอายุในการสัญจรทางเท้า เช่น ผู้ใช้วีลแชร์สัญจรไม่ได้เพราะบันไดสะพานลอยกีดขวางทำให้ทางเท้าแคบลง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆบนทางเท้า ถูกขยับขยายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เอื้อต่อผู้ใช้ทางเท้า
ทั้งนี้ทุกคนต่างต้องการ การสัญจรที่สะดวกสบาย ปลอดภัย สามารถที่จะเดินทางเชื่อมโยงจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่ได้อย่างราบรื่น ด้วยเหตุนี้การคำนึงถึงการออกแบบทางเท้าให้สามารถรองรับการใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ตามหลักออกแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เพื่อให้ทุกคนได้มีสภาพแวดล้อม การใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้โดยไม่เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิต ดังนั้น การออกแบบอารยสถาปัตย์ในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบการใช้งานที่เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดพื้นที่ใช้งาน วัสดุอุปกรณ์ ราวจับ ความลาดชัน รวมไปถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อความสะดวกให้การเดินทางตามวัตถุประสงค์ของ โครงการ “เส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน”
นายประสิทธิ์ อินทโฉม รองผู้อำนวยการ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้พัฒนาระบบคมนาคมทั้งรถเมล์ชานต่ำและรถไฟฟ้าที่พร้อมจะส่งคนพิการไปยังจุดหมาย รวมถึงได้เดินหน้าพัฒนาปรับปรุงทางเท้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้คนพิการเดินทางได้ด้วยตนเองตามกำลังความสามารถ ลดการพึ่งพาผู้อื่น แต่การพัฒนาเมืองและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่เอื้อต่อความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต การปรับปรุงเส้นทางการจราจร การตัดถนน อาจทำให้ทางเท้าซึ่งสร้างตามมาตรฐานไปกระทบการใช้งานของประชาชน การขยายความกว้างถนนทำให้ทางเท้าแคบลง บันไดสะพานลอยกลายเป็นสิ่งกีดขวาง ตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้า การติดตั้งเสาไฟ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ บนพื้นที่ทาง ทำให้การใช้งานทางเท้าเปลี่ยนแปลงไป
แม้สิ่งอำนวยความสะดวกบนทางเท้าจะมีการออกแบบจัดทำตามมาตรฐาน แต่การพัฒนาเมืองที่ส่งผลกระทบต่อทางเท้าเดิม ทำให้ต้องกลับมาตรวจสอบ ทบทวน ศึกษาและจัดทำรูปแบบมาตรฐานในการแก้ปัญหา
สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้พิการใช้วีลแชร์ ที่ได้รับผลกระทบจากการขยายถนนทำให้ทางเท้าเดิมลดขนาดลง เป็นเหตุให้ไม่สามารถสัญจรได้ในบริเวณบันไดสะพานลอย ซึ่งผู้ใช้วีลแชร์เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ใช้สะพานลอยอยู่แล้วจึงเสนอให้รื้อออก ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุมซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ได้ร่วมลงพื้นที่ศึกษา บนเส้นทางบางบัว-สะพานใหม่ ร่วมกับกรุงเทพมหานครและกลุ่มคนพิการผู้ใช้ทางเท้า รับฟังความคิดเห็นทั้งปัญหาโดยตรงและทางอ้อมจากประชาชน นำไปสู่การพัฒนารูปแบบให้สอดรับกับความต้องการ ในเบื้องต้นเสนอแก้ปัญหาทางเท้าและสะพานลอยใน 3 ลักษณะหลัก ๆ ประกอบด้วย การปรับสิ่งกีดขวางบนทางเท้า / ปรับบันไดสะพานลอยตั้งแต่ช่วงชานพัก และขยายพื้นที่ทางเท้าด้านชิดอาคาร โดยมหาวิทยาลัยศรีปทุมได้ยื่นเสนอกับกรุงเทพมหานคร พร้อมรับความเห็นชอบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาลักษณะปัญหาอื่นๆตลอดเส้นทาง เพื่อนำร่องพัฒนารูปแบบมาตรฐานในการแก้ปัญหา นำไปปรับปรุง และขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆต่อไป
ทั้งนี้ความร่วมมือใน โครงการเส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน ถือเป็นโครงการนำร่องในการผนึกกำลังความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันสำรวจและออกแบบแก้ไขร่วมกัน บนการเดินหน้านโยบายปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ทางเท้า รวมถึงปรับปรุงสะพานลอยให้เหมาะสมกับการใช้งานของทุกคน สอดรับกับนโยบายของกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน และจะกลายเป็นโครงการการนำร่องต้นแบบการจัดการเส้นทางริมถนน ให้เหมาะสมกับการใช้งานของทุกคน
โครงการปรับปรุงพื้นที่ทางสัญจรริมถนน กรณีต้นแบบ บางบัว – สะพานใหม่
1.ปัญหาสะพานลอย – ทางเท้า ลักษณะที่ 1
จากปัญหาพื้นที่ด้านข้างบันไดสะพานลอยทั้งสองด้านไม่เพียงพอ และมีสิ่งกีดขวางบนทางเท้า ทั้งนี้มีแนวทางการไขปัญหาโดยปรับย้ายสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อทางเท้า ที่สามารถเคลื่อนคล้ายได้ อาทิ ย้ายตำแหน่งเสา Barrier ในจุดที่ตรงกับเสาตอม่อสะพานลอยออก เป็นต้น
2.ปัญหาสะพานลอย – ทางเท้า ลักษณะที่ 2
ปรับบันไดสะพานลอยตั้งแต่ช่วงชานพัก โดยลดความกว้างลง โดยระยะความกว้างไม่รวมราวบันได ไม่ต่ำกว่า 0.70 เมตร เพื่อให้มีความกว้างบนทางเท้าให้ผู้คนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกมากขึ้น
3.ปัญหาสะพานลอย – ทางเท้า ลักษณะที่ 3
บันไดสะพานลอย และทางเท้าเดิมมีช่องทางสัญจรกว้างไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้วีลแชร์ในการเดินทาง สู่การขยายพื้นที่ทางเท้าด้านชิดอาคาร โดยปรับความกว้างบันไดใน 2 รูปแบบ
การแก้ไขปัญหารูปแบบที่ 1 คือ ลดความกว้างบันไดสะพานลอย จากตำแหน่งชานพัก เพิ่มความกว้างทางสัญจรมากขึ้น
การแก้ไขปัญหารูปแบบที่ 2 คือ ลดความกว้างบันไดสะพานลอย และปรับให้ขั้นบันไดวางอยู่บนคานแม่บันได เพื่อเพิ่มความกว้างทางสัญจรให้ได้มากที่สุด