สธ.ส่งรถ Mobile Stroke Unit ไป "ระนอง" ดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง 4 เส้นทาง เข้าถึงรักษาใน 4 ชม.ครึ่ง ลดตาย-พิการ
สธ.จัดรถ Mobile Stroke Unit ประจำ รพ.ระนอง ช่วยเหลือผู้ป่วยหลอดเลือดสมองนอก รพ. แบ่งการดูแล 4 เส้นทาง ช่วยเข้าถึงการรักษาใน 4 ชั่วโมงครึ่ง ทั้งฉีดสี ซีทีสแกน ให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ทันที หวังลดอัตราตายและพิการ หลังพบระนองเข้าถึงระบบ Fast Track เพียง 33.8%
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ รพ.ระนอง จ.ระนอง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าว ภายหลังหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ รถ Mobile Stroke Unit จากสถาบันประสาทวิทยา ว่า โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 6 หมื่นคน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ การร่วมมือกันพัฒนาบริการโรคหลอดเลือดสมองครั้งนี้ จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ขณะที่ศูนย์การแพทย์ทางไกลหรือโทรเวชกรรม จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของประชาชนที่อยู่ห่างไกลได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดความแออัด และลดการรอคอย เป็นต้นแบบขยายผลการจัดระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองให้กับพื้นที่อื่นๆ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.ได้จัดให้มีระบบ Stroke Fast Track ตามมาตรฐานการรักษา ผู้ป่วยต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง และได้รับการรักษาโดยใช้สายสวนลากลิ่มเลือดภายใน 6-24 ชั่วโมง จะลดอัตราตายและความพิการลงได้ แต่จากข้อมูลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จ.ระนอง ในปี 2564 มีจำนวนผู้ป่วย 441 ราย เข้าระบบ Fast Track ได้เพียง 149 ราย คิดเป็น 33.8% จึงกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเชิงรุก โดยมีการนำรถ Mobile Stroke Unit ของสถาบันประสาทวิทยามาประจำการในพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ เป็นต้นแบบให้แก่หน่วยงานเครือข่ายได้พัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งการส่งต่อที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.ให้มีความพร้อม
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า Mobile Stroke Unit เป็นหน่วยรักษาผู้ป่วยอัมพาตเคลื่อนที่ ช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง สามารถฉีดสีทำ CT Scan และให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ทันทีบนรถ มีการสื่อสารผ่านระบบโทรเวชกรรมกับแพทย์ใน รพ. ทำให้ดูแลผู้ป่วยได้สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งรถ Mobile Stroke Unit ในพื้นที่ จ.ระนอง ตัวรถจะประจำอยู่ที่ รพ.ระนอง แบ่งการดูแลออกเป็น 4 เส้นทาง และแต่ละเส้นทางจะอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการดูแลรักษา คือ 4 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนการพัฒนาระบบ Digital Transformation หรือ DMS Telemedicine เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์และระบบสารสนเทศที่ทันสมัย ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยในการใช้บริการนัดหมายเพื่อปรึกษาการแพทย์ทางไกล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การดูแลโรคหลอดเลือดสมองใน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทาง รพ.กระบุรี จุดนัดพบอยู่ที่ รพ.สต.บางแก้วนอก ระยะทาง 31 กม. ขาไป 24 นาที ขากลับ 26 นาที 2.เส้นทาง รพ.ละอุ่น จุดนัดพบที่ รพ.สต.ระวิ ระยะทาง 16 กม. ขาไป 19 นาที ขากลับ 23 นาที 3.เส้นทาง รพ.สุขสำราญ จุดนัดพบที่ รพ.กะเปอร์ ระยะทาง 52 กม. ขาไป 45 นาที ขากลับ 37 นาที และ 4.เส้นทาง รพ.กะเปอร์ จุดนัดพบอยู่ที่ รพ.สต.ราชกรูด ระยะทาง 27 กม. ขาไป 26 นาที ขากลับ 23 นาที