เล่าการเดินทาง ผ่าน 3 สถานที่ประทับใจของ ‘กรรโกะ’ บล็อกเกอร์ท่องเที่ยวผู้พิการทางสายตา
รู้จักตัวตน กรรโกะ -กรรณิการ์ วงเพ็ญ บล็อกเกอร์ท่องเที่ยวผู้พิการทางสายตา ผ่าน 3 สถานที่สำคัญ ซึ่งเป็นหลักฐานความสามารถในการเดินทางไม่ได้จำกัดเพียงการมอง ทั้งยังเป็นคำถามถึงการออกแบบสถานที่สำคัญเพื่อคนทุกคน
“สวัสดีค่า ขอโทษนะคะที่ให้รอ” กรรโกะ กรรณิชา วงเพ็ญ ทักทายประโยคแรกทันทีที่เธอเดินทางมาถึง
จากสำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพฯ สถานที่ทำงานปัจจุบันซึ่งเธอรับหน้าที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์และงานทะเบียน ราวสี่โมงเย็นของปลายสัปดาห์เธอค่อยๆ เดินลัดเลาะมายังร้านกาแฟสถานที่นัดหมาย
แม้จะเป็นผู้พิการทางสายตา แต่กรรโกะดู สบายๆ และไม้เท้าสีขาวของเธอก็เปรียบเสมือนของประจำกายที่ทำให้ชีวิตในแต่ละวันไม่ยากจนเกินไปนัก เธอเดินทาง ขึ้นรถ ลงรถ โดยมีไม้เท้าเป็นผู้ช่วยใช้ชีวิต และนอกจากเธอจะเป็นผู้พิการทางสายตาที่ทำงานหาเลี้ยงตัวเองเช่นคนปกติแล้ว เธอยังเป็น “กรรโกะ” คนเดียวกับนามปากกา “กรรโกะ” หรือ “โกะ” บล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวซึ่งพยายามสื่อสารประสบการณ์การเดินทางในแบบคนตาบอดพ่วงด้วยการเป็นอาสาสมัครในโปรเจคต่างๆ
“เราเป็นคนตาบอดที่ชอบเที่ยว และเราคิดว่าคนที่เขาไม่รู้ว่าคนตาบอดก็เที่ยวได้ ไปไหนมาไหนเองได้ก็มีเยอะมาก ในทางหนึ่งเราก็อยากถ่ายทอดให้ทั้งคนตาดีและตาไม่ดีได้รู้ว่าการเดินทางแบบไม่ใช้การมองมีประสบการณ์อย่างไร เพราะเรื่องนี้มันไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากออกไปไหน แต่ที่เราไม่ค่อยเห็นคนตาบอดเป็นเพราะ Universal Design ของเมืองต่างหากที่ไม่ตอบโจทย์ผู้พิการ และอีกทางหนึ่งเราก็หวังว่าเรื่องของเราจะช่วยเป็นกำลังใจกับใครได้บ้าง ทำให้รู้ว่าถึงจะมองไม่เห็นแต่เราก็เป็นอาสาสมัครได้ ช่วยคนอื่นได้ และได้รับความสุขจากการให้ได้เหมือนกัน”
การเดินทางของเธอเป็นแบบไหน? ประสบการณ์ที่ได้รับเป็นอย่างไรบ้าง? National Geographic ฉบับภาษาไทย ขอเล่าเรื่องของเธอ ผ่าน 3 สถานที่ที่เธอประทับใจ และสะท้อนความเป็นไปของนักเดินทาง ผู้พิการทางสายตาคนนี้ได้เป็นอย่างดี
• อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพ
ฟังเป็นสถานที่ธรรมดาใช่ไหม แต่เป็นสถานที่ที่กรรโกะต้องฝึกเดิน เพราะการไปอนุสาวรีย์ชัยฯ ได้เท่ากับเราไปมหาวิทยาลัยได้ด้วยตัวเอง วันที่เราไปและคิดว่าจะเริ่มฝึกขึ้นรถ เราใช้เวลา 6 ชั่วโมงในการที่จะศึกษาสถานที่แห่งนี้ เพราะอนุสาวรีย์มีหลายฝั่ง แต่ละฝั่งพื้นที่กว้างแถมคนก็เยอะ
สำหรับคนตาบอด หากคิดจะนั่งรถเมล์ถูกฝั่ง ต้องเริ่มจากการฝึกเดิน และในการฝึกเดินสำคัญคือการรู้พิกัดสะพานลอยแต่ละด้านที่เป็นวงกลม และแต่ละปีกก็แยกไปคนละทางฝั่งดินแดง ฝั่งพหลโยธิน มันทำให้เรา งงมาก ตอนที่ไปทำให้เราเดินลงฝั่งที่ซ้ำกันมาก
การเดินของคนตาบอด การเดินชนมันเป็นเรื่องปกติ แต่สำคัญที่จะทำให้เราไม่ลงคือการเซ็ท GPS ส่วนตัว และจะใช้สัมผัสร่วมที่ไม่ใช่สายตา ถ้าเราเริ่มต้นบนสะพานลอย เราจะต้องหาที่จำของเราให้ได้ว่าเริ่มจากจุดไหน วนซ้ายไปเรื่อยๆ คืออะไร เช่น ถ้าเราสตาร์ทบนสะพานลอย ฝั่งราชวิถี เราต้องวนซ้ายไปเรื่อยๆ โดยการเดินชิดขวา เพื่อคลำราวกำแพง จากนั้นต้องจำว่าทางแยกที่ 1 คืออะไร แยกที่สองคืออะไร เราจะมีภาพของเราในหัวแบบนี้ เรื่องนี้สำคัญมากๆ
เมื่อเราใช้สายตาไม่ได้ สิ่งที่ทำให้เราต้องเปิดรับและฝึกฝน คือประสาทสัมผัสอื่น เช่น หู การฟังเสียง กายสัมผัส การดมกลิ่น การลิ้มรส และความจำ พอเราจำได้ เราก็ต้องพึงระวัง ปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การชนคน การชนสิ่งกีดขวางที่เอามาตั้งใหม่ ซึ่งไม่ใช่แลนด์มาร์คหลัก แล้วอย่างที่บอกว่า การเดินทางของคนตาบอดกับการชนคือเรื่องปกติมาก มันไม่ใช่เรื่องที่ได้รับการสงสาร หรือทุกคนต้องมองว่าเราลำบาก การจะพาตัวเองไปที่อนุสาวรีย์ชัยและฝึกฝนจนเดินทางก็เช่นกัน ชนไม่รู้กี่ครั้ง แต่มันเป็น แบบฝึกหัดที่คนตาบอดต้องเอาชนะให้ได้ เพื่อจะเดินทางไปด้วยตัวเองในแหล่งอื่น ทั้งยังรวมถึงการนับจำนวนบันไดที่จะก้าวเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า BTS ซึ่งผิวสัมผัสจะต่างจากบันไดทั่วไป
• ดอยแม่สลอง จ.เชียงราย
เรารู้มาก่อนแล้วว่า ดอยแม่สลอง เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกชาที่ดีที่สุดของประเทศ และเราก็ชอบชา และได้ทำงานร่วมกับกลุ่มผู้พิการทางสายตา กลุ่ม SIG หรือ Sensory intelligence group ซึ่งต่อยอดประสาทสัมผัสสู่นักชิมอาหารมืออาชีพ
เราเคยผ่านหลักสูตรการทดสอบทางประสาทสัมผัส มีประสบการณ์การชิมชาและผสมชา ออกสูตรชาผสมสมุนไพร และทดสอบตลาดมาแล้ว โดยมีผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ Sense series ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ นอกจากกรรโกะจะได้ไปสัมผัสด้วยตัวเองแล้ว ยังได้ฟังแนวคิดของการผู้ประกอบการ การออกแบบสูตรชาและผลิตภัณฑ์ประเภทชาเบลนด์ ชาบรรจุกล่อง ผ่านการอบรม ดูงาน สร้างความรู้ให้กับเราและพัฒนาตัวเองทางหนึ่ง
สำหรับคนมองไม่เห็น การขึ้นดอยมันไม่ง่ายเลยนะ ระหว่างที่เธอ เราจะคิดว่า แบบว่าทำไมมันสูงนักวะ (หัวเราะ) เดินขึ้นยากแม้จะมีคนจูงก็เถอะ แต่ประสบการณ์ที่ต้องเดินบนพื้นดินที่มีขั้นบันได และต้องเดินโดยไม่โดนต้นชา ซึ่งเป็นอะไรที่ท้าทายดี เราชอบท่องเที่ยวแนว Adventure อยู่แล้ว แต่ก็ยังตื่นเต้นกับการไปที่แห่งนี้
คนตาบอดกับการเดินขึ้นดอยมันดูไกลตัวและยาก การไปดอยแม่สลอง เหนียบพื้นด้วยขาของเราเอง ช่วยเติมเต็มหัวใจ ช่วยเติมเต็มการฝึกฝนด้านการผสมชา ในหลักสูตรการชิมชาของคนพิการทางสายตานั้น เมื่อเราดูสีไม่ได้ จะเริ่มจากการดม การลิ้มรส เราก็จะดูว่ามันเป็นชาเขียวอะไร ชาแบบไทย หรือแบบญี่ปุ่น อย่างชาญี่ปุ่นก็จะมีกลิ่นคล้ายกับสาหร่ายทะเล มันมีความอูมามิซ่อนอยู่ การไปสถานที่ปลูกชาจึงเปรียบเสมือเราไปเรียนรู้ ทัศนศึกษา ในสิ่งที่เราอยากต่อยอดไปในอาชีพได้
ย่านเยาวราช สำเพ็ง กรุงเทพฯ
ถ้าเราจะนิยามว่าทางเดินเท้าของไทย อุปสรรคเป็นแบบไหน ก็ให้ดูแถวเยาวราช สำเพ็ง นี่เลย ในภาษาของคนตาบอดเราจะเรียกอุปสรรคในการเดินว่า “ด่าน” และ และแถวนี้บอกได้เลยว่า “ด่านเพียบ”
ด้วยความที่พื้นที่ฟุตบาทมันไม่ได้กว้างมาก ร้านค้าเยอะ และมันมีสิ่งที่ไม่ใช่แลนด์มาร์คหลักจำนวนมาก ตั้งแต่หาบเร่ แผงลอย นักท่องเที่ยว การเดินของของเราจึงยากมาก รู้สึกว่ายังจับจุดไม่ได้ มันเปลี่ยนตลอดเวลา มีต้นไม้มาขวาง และสินค้าบางอย่างที่เขาเอามาวางตามจุดต่างๆ มันเดาไมได้เลย เดินๆอยู่ก็แบบว่า “เฮ้ย ทำไมวันนี้มีเสาของร้านนี้ เมื่อวานมันไม่มีนี่หว่า”
สำเพ็งมันยากสำหรับเราจริงนะ แต่แน่นอนว่าการยาก แต่เมื่อการไปท่องเที่ยวมันได้บทเรียน ความทรงจำ การที่เราออกมาใช้ชีวิตข้างนอก เห็นความเป็นจริง มันดีที่สุดแล้ว และถ้าคุณชนไปเรื่อยๆ เดินทางไปเรื่อยๆ จากความกังวลจะกลายเป็นความสนุก มันมีสิ่งให้เราเล่นตลอดเวลา ทำให้เราสนุกกับการเดินทาง
หัวข้อหนึ่งที่คนตาบอดชอบคุยกันคือเรื่องการเดินทาง ซึ่งบทสนทนาเหล่านั้นสร้างอินเนอร์ให้กับการเดินทางของเราในวันข้างหน้า สร้างทักษะใหม่ๆ มันเป็นความทรงจำรวมที่คนมองไม่เห็นด้วยกันถึงจะเข้าใจ
เวลาคุณปิดตาเดิน คุณจะเครียด รู้สึกกลัว เราเคยให้คนตาดีปิดตาเดิน เขาเกิดความเครียด พอเครียดจนไม่มีอารมณ์ร่วม พอชนก็จะกลัว ไม่อยากมาทำกิจกรรมเลย แต่สำหรับเราเรามองเป็นเรื่องปกติ ถ้าถามว่าเราอยากมองเห็นไหม เราก็ไม่ขอตอบ เพราะไม่อยากพูดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในแต่ละวันเราใช้ชีวิตแบบที่เราเป็นดีที่สุดแล้ว
การได้เดินทางด้วยขาของเรา ด้วยไม้เท้าที่นำทางไป มันทำให้เราภูมิใจในแบบประเมินค่าไม่ได้ กรรโกะเคยไปเป็นอาสาสมัคร เคยไปนำเที่ยว เก็บขยะที่หาด ไปล้างกรงเสือ ล้างกรงหมี (หัวเราะ) ทำในสิ่งที่คนไม่คิดว่าเราจะทำได้ จากการไปครั้งแรก เหมือนกับเราได้ปลดล็อคชีวิตตัวเอง พอทำได้ก็รู้สึกว่าเป็นงานที่เราชอบ เป็นงานที่เรารักมาก กรรโกะเป็นจิตอาสาหลายที่ เพราะในความรู้สึกหนึ่งเป็นความภูมิใจ ทำให้ชีวิตของเรามีความหมายไปอีก เป็นความสุขของชีวิตแม้เราจะมองไม่เห็น
เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ
ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุง
ขอบคุณ... https://ngthai.com/travel/49058/the-bilnd-travel-bloger/