พรรคเปลี่ยนอนาคตร่วมทวงสิทธิคนพิการ ทำตามนโยบาย “คนพิการต้องเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย”

พรรคเปลี่ยนอนาคตร่วมทวงสิทธิคนพิการ ทำตามนโยบาย “คนพิการต้องเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย”

วันนี้ (25 เม.ย 66) เวลา 11.00 น. ผศ.ดร.อัครนันท์ อริยศรีพงษ์ หัวหน้าพรรคเปลี่ยนอนาคต นายพินโย รู้ธรรม ผู้อำนวยการพรรคเปลี่ยนอนาคต นางอุมาพร แพรประเสริฐ เลขาธิการพรรคเปลี่ยนอนาคต พร้อมสมาชิกพรรค ได้เดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมเป็นกำลังใจแก่มูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ โดยนายปรีดา ลิ้มนนทกุล เลขาธิการมูลนิธิปัญพัฒน์ และสมาชิกมูลนิธิปัญพัฒน์ ได้ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องขอความเห็นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติตามข้อกฎหมายเพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย (กรณีคนที่มีความพิการแต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนขอมีบัตรคนพิการได้กว่า 2.4 ล้านคนทั่วประเทศ) ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบาย 6 ทุน 5 เปลี่ยน ของพรรคเปลี่ยนอนาคตที่ได้แถลงไว้

นายพินโย รู้ธรรม ผู้อำนวยการพรรคเปลี่ยนอนาคต กล่าวว่า กรณีคนพิการที่มีความพิการแต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้นั้น พรรคเปลี่ยนอนาคตเคยพาคนพิการไปทำการตรวจประเมินความพิการจากแพทย์ ได้รับใบประเมินความพิการ แต่แพทย์ไม่ได้ทำความเห็นว่ามีความพิการตามประกาศกระทรวง ทำความเห็นส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกบัตรคนพิการดำเนินการตามกฎหมาย ดังเช่น กรณี ของนายวัทธิกร เข้มต้น ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถชน ขาหัก ต้องใส่เหล็กดามขา ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เดินไม่ถนัด มีอาการปวดร้าวขาที่ใส่เหล็ก ยกของหนักไม่ได้ ทำงานไม่ได้ มารดาเป็นผู้ดูแล อาการภายนอกอาจจะดูเหมือนคนทั่วไป แต่ภายในร่างกายไม่ปกติ ได้เดินทางไปเข้ารับการตรวจจากแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จนได้รับใบประเมินความพิการและระบุความพิการ แต่แพทย์ไม่แสดงความเห็นว่ามีความพิการ ตามประกาศกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ทำความเห็นส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวคนพิการพิจารณาตามกฎหมาย สมาชิกพรรคเปลี่ยนอนาคตและมูลนิธิปัญพัฒน์ฯ จึงได้พานายวัทธิกร เข้มต้น ไปยื่นเรื่องขอมีบัตรคนพิการที่ ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดนนทบุรี ผู้อำนวยการศูนย์บริการคนพิการฯ ได้ปรึกษาพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนนทบุรี แล้วแจ้งว่าไม่สามารถออกบัตรคนพิการให้ได้ เนื่องจากได้ปรึกษาแพทย์แล้ว มูลนิธิปัญพัฒน์ฯ จึงได้พานายวัทธิกรฯไปยื่นหนังสือร้องเรียนฯต่อกระทรวงกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นและทำให้คนพิการไม่สามารถมีบัตรคนพิการซึ่งเปรียบเหมือนประตูบานแรกในการเข้าถึงสิทธิตาม พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550

จากกรณีตัวอย่างจะเห็นว่ามีบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำบัตรคนพิการ 2 ตำแหน่ง คือ “นักวิชาชีพด้านการแพทย์” ที่ให้ความเห็นถึงความพิการ และรับรองในการออก “ใบประเมินความพิการ” เพื่อส่งต่อให้ “เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวคนพิการ”

“นักวิชาชีพด้านการแพทย์” ทำหน้าที่ให้ความเห็นถึงความพิการ และรับรองในการออก “ใบประเมินความพิการ” ส่วนใหญ่เป็นแพทย์จากหลายสาขา เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์เฉพาะทางที่ทำการรักษาผู้ป่วย จนมีผลการรักษาทำให้มีความพิการ หรือเฉพาะทางด้านร่างกายต่างๆ (ตา หู) ความเห็นของแพทย์นั้นเป็นที่สุด เมื่อแพทย์ไม่ทำการออก “ใบประเมินความพิการ” ให้กับคนไข้ที่ตนเองรักษา ก็ทำให้คนพิการนั้นไม่สามารถออกบัตรได้ ซึ่งกรณีนี้ จึงควรมีการแก้ไขให้ผู้ที่มีความรู้ด้านอื่น เช่น นักกายภาพบำบัดมาเป็นผู้ทำหน้าที่ให้ความเห็นและออกใบประเมินความพิการได้

“เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวคนพิการ” บางคนไม่พิจารณาทำบัตรคนพิการให้กับคนที่มีความพิการตามนิยามความพิการ (มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) ตามกฎหมาย ซึ่งอาจเกิดจาก (1) ไม่ได้ศึกษาประกาศกระทรวง คำสั่ง ต่างๆ และนิยามกฎหมายที่ต่างประเทศได้ให้แนวทางไว้ ซึ่งมีรายละเอียดครบถ้วน หรือ (2) ถ้าแพทย์ไม่ออกใบประเมินความพิการให้ ก็จะไม่ทำบัตรคนพิการให้ หรือหากออกใบประเมินความพิการให้แล้วแต่ไม่ระบุว่าพิการ แต่ระบุให้เป็นดุลพินิจของเจ้า หน้าที่ผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวคนพิการ ก็ปฏิเสธที่จะไม่ใช้ดุลพินิจและอ้างอิงว่าเป็นความเห็นของแพทย์ ซึ่งกรณีเช่นนี้เจ้าหน้าที่ ที่มีหน้าที่โดยตรงอาจเป็นผู้ละเมิดสิทธิทำให้คนพิการเสียสิทธิในการเข้าถึงสิทธิตาม พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550

นายพินโยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการทำงานร่วมกับมูลนิธิปัญพัฒน์ฯ คาดการณ์ว่ามีคนพิการที่อาจเข้าข่ายถูกละเมิดสิทธิเพราะไม่สามารถขึ้นทะเบียนมีบัตรคนพิการได้ทั่วประเทศ กว่า 2.4 ล้านคน จึงเป็นที่มาของการมายื่นหนังสือหารือขอความเห็นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติตามข้อกฎหมายเพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งหากคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นจะมีผลต่อการเข้าถึงสิทธิของคนพิการ ก็จะเป็นประโยชน์แก่คนพิการที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิอีก 2.4 ล้านคน ซึ่งหากบุคคลเหล่านี้เข้าถึงสิทธิได้ตามกฎหมายก็จะช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว ผู้ดูแล และยังสามารถเข้าถึงกองทุนต่าง ๆ รวมถึงการประอบอาชีพ มีรายได้ดูแลตนเอง สร้างความรู้สึกการมีคุณค่าในตัวเอง ซึ่งพรรคเปลี่ยนอนาคตจะได้ติดตามผลการยื่นหนังสือครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ต่อไป

ขอบคุณ... https://mgronline.com/politics/detail/9660000038265

ที่มา: mgronline.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 26 เม.ย.66
วันที่โพสต์: 26/04/2566 เวลา 11:08:26 ดูภาพสไลด์โชว์ พรรคเปลี่ยนอนาคตร่วมทวงสิทธิคนพิการ ทำตามนโยบาย “คนพิการต้องเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย”