เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กก.สิทธิคนพิการ “ยูเอ็น” ชำแหละ “คุณภาพชีวิตคนพิการ” ไข่ในหิน-ค่าใช้จ่ายเพิ่ม

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กก.สิทธิคนพิการ “ยูเอ็น” ชำแหละ “คุณภาพชีวิตคนพิการ” ไข่ในหิน-ค่าใช้จ่ายเพิ่ม

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กก.สิทธิคนพิการ “ยูเอ็น” ชำแหละ “คุณภาพชีวิตคนพิการ” ไข่ในหิน-ค่าใช้จ่ายเพิ่ม

แม้ภายนอกจะบ่งบอกความบกพร่องทางร่างกาย แต่ความมั่นใจ ความรู้สึกถึงคุณค่าต่อตัวเอง ที่ฉายชัดออกมา ไม่ได้ทำให้รู้สึกเลยว่า “เสาวลักษณ์ ทองก๊วย” ในอายุ 53 ปี สตรีพิการกายและการเคลื่อนไหว คือ…คนเปราะบางที่สังคมคิดว่าต้องคอยรับความช่วยเหลือตลอดเวลา

และยิ่งได้พูดคุยกับเธอก็ยิ่งทำให้รู้ว่า เสาวลักษณ์เป็น “ดอกไม้เหล็ก” ที่ทั้งเก่งและแกร่ง แม้ชีวิตจะล้มทั้งยืน เพราะประสบอุบัติเหตุรุนแรงจนทำให้เดินไม่ได้ตลอดชีวิต เมื่ออายุ 27 ปี แต่ด้วยพลังใจที่เข้มแข็งไม่ย่อท้อต่อชีวิต เสาวลักษณ์กลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง

สำหรับเสาวลักษณ์ พื้นเพเป็นคน จ.พิจิตร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านการประชาสัมพันธ์ และปริญญาโทด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรในระดับอาเซียนและในต่างประเทศมากมาย เป็นสตรีที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นมากมาย การทำงานของเธอเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล ทำงานขับเคลื่อนเรื่องคนพิการในสายเอ็นจีโอมากว่า 25 ปี

ล่าสุด ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการ วาระ 4 ปี (ค.ศ.2020-2024) ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กก.สิทธิคนพิการ “ยูเอ็น” ชำแหละ “คุณภาพชีวิตคนพิการ” ไข่ในหิน-ค่าใช้จ่ายเพิ่ม

แรงผลักดัน “เอ็นจีโอด้านคนพิการ”

“จุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามาทำตรงนี้มาจากเพลนพอยต์ของตัวเองที่ต้องการหาคำตอบว่า ทำไมเราพิการแล้วไปทำงานไม่ได้ ฉันนั่งรถเข็น แต่ใบประกาศฉันเหมือนเดิม คือ เราส่งใบสมัครงานไป ทำไมถูกคัดออก และมีคนตั้งคำถามกับเราว่า เราทำงานได้เหรอ ทั้งที่ตัวเราเองยืนยันว่า เราทำงานได้ แต่คนรอบข้างทำไมสงสัยในตัวเรา ทั้งที่ทำงานในออฟฟิศใช้มือ ไม่ได้ใช้ขา”

จากตรงนี้ทำให้เสาวลักษณ์ประจักษ์ว่า สังคมไทยยังมีทัศนคติกับคนพิการในแง่ “สงเคราะห์” รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่มีให้คนพิการ เช่น ทางลาด ภาษามือ อักษรเบรล

“เราต้องการพิสูจน์หักล้างความคิดของคนที่คิดว่า คนพิการทำอะไรยากๆ ซับซ้อนไม่ได้ มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรม จะเรียนอะไรที่ยากก็ไม่ได้ เราต้องการหักล้างความคิดนี้”

แม้ภายนอกจะไม่สมบูรณ์ แต่เสาวลักษณ์มีความสามารถรอบด้าน ทั้งแบ๊กกราวด์ความสามารถก่อนจะเป็นคนพิการ เธอเป็นเด็กกิจกรรม เคยทำงานแบงก์เป็นสาวออฟฟิศ เมื่อชีวิตหักเหก็พยายามสู้ด้วยการเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม จนพูดฟังอ่านเขียนภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว เข้าทำงานในตำแหน่ง “เลขานุการผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นสายบริหาร” ในโปรเจ็กต์สร้างศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งงานนี้ทำให้เธอมีทักษะการทำงานมากมาย รวมถึงการได้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศด้วย

“ทักษะชีวิตของดิฉันมีมาครึ่งหนึ่งแล้ว พอมานั่งตรงนี้ ทำงานกับต่างประเทศ มันเปิดความคิดให้ความหลากหลายเข้ามา คือ การเรียนรู้ คือโอกาส ทำงานกับญี่ปุ่น เราได้ฝึกทักษะซับซ้อนต่างๆ จากไม่เคยทำก็ฝึกได้ นี่คือการเข้าถึงโอกาส แต่เข้าถึงโอกาสอย่างเดียวไม่พอ ภายใต้โอกาสนั้นต้องมีระบบสนับสนุนด้วย”

“คีย์อยู่ที่ว่า คนในสังคมยังมีข้อสงสัย วิตกกังวลว่า คนพิการทำได้เหรอ โอกาสเลยไม่มา ดังนั้น สังคมต้องเชื่อว่าคนพิการทำได้ แทนที่จะสงสัย” เสาวลักษณ์ย้ำ

สังคมมองคนพิการต้องสงเคราะห์

“ลองจริงใจกับตัวเอง ถ้าพูดถึงทำบุญ ทำความดี ทำกับใคร” เสาวลักษณ์ตั้งคำถาม

“การช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า คนพิการ ผู้สูงอายุ คนกลุ่มเปราะบาง สังคมคิดว่าเป็นการทำความดีและทำบุญ แบบนี้คือแนวคิดสงเคราะห์” เธอย้ำ!

“และเวลาทำความดีกับกลุ่มเปราะบาง ไม่ได้คิดว่า ทำให้คนเปราะบางเป็นเหมือนกับคนทั่วไป เข้าถึงสิทธิและหน้าที่พลเมืองเหมือนกัน แต่กลับมองว่า เขาไม่มีกิน ยากจน ลำบาก ต้องเอาข้าวเอาอาหารไปให้ เอาของไปบริจาค แต่ไม่ได้แปลถึงสิทธิที่เขาจะต้องได้อย่างเท่าเทียม”

“ถ้าคนทั่วไปเรียนได้ถึงปริญญาตรี คนพิการก็ควรมีโอกาสได้เรียนถึงปริญญาตรีเช่นกัน สังคมไม่ได้คิดถึงตรงนั้น คิดถึงแค่ปัจจัย 4 และไม่ได้คิดไกลไปกว่า ว่าเขาน่าจะหาปัจจัย 4 ได้ด้วยตัวเอง และมีสิทธิเลือกปัจจัย 4 ได้เอง อาหารก็มีสิทธิเลือกว่าอยากจะกินอะไร เสื้อผ้าก็มีสิทธิเลือก”

“ความสงสารและอยากช่วยเหลือคนพิการเป็นวิธีคิดปัจเจก และพอปัจเจกเยอะๆ มารวมกัน ก็เป็นวิธีคิดสงเคราะห์ของสังคม”

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กก.สิทธิคนพิการ “ยูเอ็น” ชำแหละ “คุณภาพชีวิตคนพิการ” ไข่ในหิน-ค่าใช้จ่ายเพิ่ม

ชวนสังคมมอง “มุมใหม่” คนพิการ

เสาวลักษณ์ชี้ว่า สังคมต้องแปลให้กว้าง ให้มากกว่ามิติเดียว ควรคิดให้มากกว่าการให้แบบสงเคราะห์ มาเป็นการให้โอกาส บนฐานสิทธิพลเมือง เหมือนกับคนทั่วไปได้รับ และต้องการเหมือนกัน

“หลายสิ่งคนทั่วไปก็เรียกร้องในฐานะที่เป็นพลเมืองไทย แต่พอมาถึงกลุ่มคนพิการก็ถูกบดบังด้วยความคิดเหมารวมว่าต้องให้แบบสงเคราะห์ ให้เพราะต้องช่วยและคนพิการเปราะบาง แต่ในความเป็นจริง กลุ่มเปราะบางทั้งหมดรวมทั้งคนพิการ เขาไม่ได้เปราะที่ตัวเขา ความเปราะมาจากสิ่งรอบตัวทำให้เขาเปราะบาง นั่นคือ 1.ทัศนคติ ที่คิดว่าเขาเปราะ จับไม่ได้ เดี๋ยวแตกหัก เพราะฉะนั้น ต้องดูแลปกป้องเหมือนไข่ในหิน (overprotected ป้องกันมากเกินไป) 2.สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อ ทำให้เขาเปราะบาง จะเดินทางไปทำกิจกรรมอะไรก็ยากลำบาก”

แล้วการ overprotected ไม่ดีต่อคนพิการอย่างไร?

เสาวลักษณ์อธิบายว่า “ดิฉันใช้คำว่า overprotected แปลว่า การดูแลหรือป้องกันเหมือนไข่ในหิน มันไม่ใช่ protection ที่แปลว่าการป้องกันและคุ้มครองในฐานะพลเมือง ซึ่งมันไม่ดีในระยะยาว ถ้าเกิดในระยะฉุกเฉินที่เพิ่งเริ่มมีความพิการ แน่นอนเป็นช่วงที่ต้องมาทำความเข้าใจความพิการ ปรับตัวกับจิตใจ และมีการรักษาฟื้นฟู เพราะมีเรื่องจิตวิทยาเข้ามาด้วย โอเค overprotected อาจจะดีช่วงหนึ่ง”

“แต่หลังจากนั้นต้องค่อยๆ ผ่อนคลาย เพื่อให้เขาได้เจอกับสภาพความเป็นจริง ค่อยๆ คลาย ให้เจอความเสี่ยงทางบวกความเสี่ยงที่รับได้ เพราะเราทุกคนโตขึ้นมา กว่าจะปีกกล้าขาแข็งได้ เราก็พบกับความเสี่ยงในชีวิตประจำวันตลอดเวลา เพราะนี่คือชีวิตต้องฝ่าฟัน

“สงเคราะห์คนพิการ กลุ่มเปราะบาง ไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่ควรเป็นแค่ช่วงหนึ่งของชีวิต หลังจากนั้นต้องค่อยๆ คลาย จากแนวคิดสงเคราะห์ (Charity Model) มาเป็นแนวคิดเชิงสังคม (Social Model) แต่กรณีมีความเจ็บป่วยหรือความพิการเกิดขึ้นจากทีหลัง ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาและฟื้นฟูเหมือนคนทั่วๆ ไป”

“ตอนป่วยก็ต้องรักษาให้หาย ให้บรรเทา หรือทำให้ดีที่สุด แต่เมื่ออยู่กับความพิการแล้วจะมัวมารักษาอยู่ได้อย่างไร ชีวิตไม่ต้องทำอะไรกันพอดี รอให้หายก่อน แล้วค่อยไปเรียน ไปทำงาน ไปเที่ยว มันจะได้ทำไหม”

“เขาถึงบอกว่า ชีวิตมันรอไม่ได้ ความเป็นมนุษย์ของเรา ไม่สามารถอยู่กับการรักษาพยาบาลอย่างเดียวได้ ดังนั้น เราต้องอยู่เพื่อให้ชีวิตมีคุณภาพ”

“พอความพิการเข้าที่แล้ว เราก็ต้องกลับคืนสู่การใช้ชีวิตในสังคม ตามแนวคิดเชิงสังคม แต่ระหว่างนั้นอาจจะมีการสงเคราะห์ด้วยก็ได้ ในสิ่งจำเป็น เพราะเขาอาจจะเดือดร้อน หาตังค์ไม่ได้”

“ตามแนวคิดสากลถึงบอกว่า สถานสงเคราะห์ต่างๆ ควรมีให้น้อยที่สุด อะไรที่เป็นการจัดการพิเศษๆ มีไว้แค่จำเป็น แล้วก็พยายามทำให้คนออกมาใช้ชีวิตในชุมชนให้มากที่สุด เพราะเขาก็คือคนที่สร้างผลผลิต เพราะในความเป็นมนุษย์ เขาเป็นคนที่จะสร้างผลผลิตได้ อย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน เพียงแต่สังคมต้องไม่คาดหวังว่าคนพิการสามารถสร้างผลผลิตอย่างเดียวกันได้”

ส่วนด้าน “สิ่งแวดล้อม” ก็ไม่เอื้อให้คนพิการออกไปอยู่ข้างนอก

“มันไม่มีอะไรเอื้อเลย สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทางลาด การเดินทาง การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็ไม่สะดวก และถ้าเป็นคนตาบอดและคนหูหนวกด้วยแล้ว ยิ่งมีความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เช่น สวัสดิการเกี่ยวกับโควิดมีอะไรบ้าง คนพิการแทบไม่รู้เลย อย่างนี้คนพิการจะทำอะไรได้ เพราะไม่ได้ให้โอกาสเขาในการฝึกฝน ได้ต่อสู้ ตัดโอกาสในการพัฒนาทักษะทุกด้าน”

“ทำไมถึงไม่คิดว่า คนพิการก็เป็นมนุษย์ และมีความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิตมาตรฐานเดียวกับบุคคลทั่วไป”

กฎหมายดี…แต่การปฏิบัติสวนทาง

“ในแง่กฎหมายของเรา ยอมรับเลย เราค่อนข้างจะดี ถ้าเทียบกับ 10 ประเทศอาเซียน ประเทศไทยก้าวหน้าที่สุด” เสาวลักษณ์เผย

ทว่า…ในทางปฏิบัติ “เราไปเจอกับทัศนคติ คือหลายคนอาจจะพูดว่า เดี๋ยวนี้มันดีขึ้นตั้งเยอะ เพราะคนไปเห็นกฎหมายจ้างงาน ม.33 หรือ ม.35 คนพิการได้ทำงานตั้งเยอะ เงินกองทุนคนพิการก็มี มีคนพิการอยู่ในสภาด้วย ดีขึ้นเยอะแล้ว ที่เป็นอย่างนี้ได้เพราะกฎหมายดี แต่ในระดับปฏิบัติ เราต้องกลับไปดูว่าสามารถปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพอย่างที่กฎหมายเขียนไหม”

“ลองไปดู 2 มาตรานี้ทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริงหรือ นอกจากได้เงินเพิ่มขึ้นมา หมายถึงว่า นอกจากไม่เคยมีรายได้ หรือได้เบี้ยยังชีพ 800 บาท พอได้ทำงานตาม ม.35 ก็ได้เงินมา 6,000-7,000 บาท แล้วถามว่ามีเงิน 6,000-7,000 บาท ในกระเป๋า เขาสามารถเดินทางได้เหมือนคนทั่วไปไหม มีทางเลือกในการใช้ขนส่งสาธารณะหรือไม่ คนรอบข้างให้ความเชื่อมั่น เชื่อถือไหม แสดงความคิดเห็นอะไร คนฟังหรือไม่ มีน้ำหนักหรือเปล่า”

“ก็ยังถูกเลือกปฏิบัติอยู่ มันดีขึ้นแค่มิติเดียว คือมีเงินมากขึ้นในกระเป๋า ได้มีพื้นที่มากขึ้น แต่การถูกเลือกปฏิบัติกับอุปสรรคยังมีเหมือนเดิม บางเหตุการณ์การเลือกปฏิบัติหนักหนาสาหัสกว่าเดิมด้วยซ้ำ”

“ถามว่าคุณภาพชีวิตคนพิการดีขึ้นไหม ก็ดีขึ้น ก็ยอมรับ แต่ต้องดูว่าเทียบจากอะไร ถ้าเทียบจากระดับความเร็ว และความลื่นไหลของการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม คำว่าดีขึ้น มันดีในระดับไหน”

“ถ้าการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม มันไปด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่คุณภาพชีวิตคนพิการยังอยู่ที่ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นั่นหมายความว่า คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่สอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม”

“ข้าวของราคาแพงขึ้น แต่รายได้ยังเท่าเดิม และยังต้องจ่ายเพิ่มมากกว่าคนอื่น (disability related extra cost-ค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับความพิการ) เช่น ดิฉันเดินทางด้วยรถไฟฟ้ารถเมล์ไม่สะดวกก็ต้องใช้แท็กซี่ตลอด แม้หน้าบ้านจะมีรถเมล์ที่มีลิฟต์ผ่าน ก็ไม่ได้หมายความว่า ขึ้นหน้าบ้าน และไปถึงจุดหมายได้เลย”

“และคนพิการไม่อยากจะต่อรถหรือเปลี่ยนสายรถหลายทอดมากมาย เพราะการย้ายตัวทีไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งเราจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าคนอื่น แล้วยังมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเพิ่มขึ้น เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การบริการต่างๆ มันไม่เอื้อกับคนพิการ ก็ต้องซื้อ มีเงินก็ต้องใช้เงินมาปิดเพื่อให้ได้บริการ”

“ดังนั้น ต้องมีคู่เทียบ อย่าดูด้วยตา เงินในกระเป๋าเรามากขึ้น เราหาเงินได้มากขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายเราก็มากขึ้นด้วย และเงินที่คนพิการหาได้มากขึ้น มันควรจะมากกว่านี้ ถ้าเขาได้เรียนหนังสือ เขามีทักษะ และไปทำอะไรที่มันซับซ้อน จะทำให้เขามีรายได้มากกว่านี้ ไม่ต้องไปพึ่งมาตรา 35 ได้ 6,000-7,000 บาท”

“เขาอาจจะทำงานได้เงินเดือน 15,000 ก็ได้ 20,000-30,000 บาทก็ได้ และเงินในกระเป๋า หลังจากหักเอ็กตร้าคอร์สไปแล้ว เหลือมากขึ้น ที่เขาจะสามารถเอาเงินที่เหลือไปทำอะไรที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตเขา”

สิ่งที่อยากผลักดันในฐานะสมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการ วาระ 4 ปี (ค.ศ.2020-2024) ของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เสาวลักษณ์ตั้งใจจะทำงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องกระบวนการยุติธรรมของคนพิการทุกความพิการ และเรื่องเศรษฐกิจ

“เชิงปริมาณ คุณภาพชีวิตคนพิการเหมือนดีขึ้น แต่เราก็พบเห็นเชิงประจักษ์ว่าเรายังถูกเลือกปฏิบัติอยู่หลายมิติ ที่สามารถไปรายงานต่อคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ สหประชาชาติได้ โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรง การละเมิดผู้หญิงพิการ ที่เรามีกลไกตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ค่อนข้างไม่เป็นมิตร และไม่ปลอดภัย จากทัศนคติ กับไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก”

“ส่วนเศรษฐกิจ เป็นเรื่องสำคัญสุด คนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ก็ต้องมีเงินในกระเป๋าพอสมควร และควบคู่ไปกับสวัสดิการของรัฐที่เอื้อ ตอนนี้ประเทศไทยมีสวัสดิการที่ดีในระดับหนึ่ง แต่สวัสดิการเกินครึ่ง เป็นสวัสดิการเฉพาะกลุ่มไม่ถ้วนหน้า ดังนั้น ต้องปรับให้เป็นถ้วนหน้า สวัสดิการทางสังคมก็เหมือนเป็นตาข่ายที่คอยพยุงไม่ให้คนตกไปก้นเหว ไม่ให้คนเดือดร้อน”

“สมการความพิการ” ที่แท้จริง

“อยากให้สังคมพยายามปรับมายด์เซตเกี่ยวกับคนพิการใหม่ มองคนพิการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความพิการแบบไหนก็แล้วแต่ ถ้ามองคนในฐานะที่เป็นคน ก็เหมือนคนทั่วๆ ไป คือ มีรัก โลภ โกรธ หลง มีความเป็นมนุษย์ และความต้องการเข้าถึงบริการต่างๆ ที่รัฐจัดให้ในฐานะเป็นพลเมือง เหมือนคนทั่วไป”

“เวลาปฏิบัติก็เหมือนกัน เราต้องการให้คนอื่นปฏิบัติกับเราอย่างไร พูดกับเราอย่างไร คนพิการเป็นคน ก็เหมือนกัน ต้องการอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่ต้องการให้ปฏิบัติแตกต่าง”

มาถึงตรงนี้ เสาวลักษณ์อธิบายว่า ความหมายของความพิการที่แท้จริง ที่ไม่ได้พูดถึงขาที่เดินไม่ได้ หูที่ไม่ได้ยิน หรือตาที่มองไม่เห็น แต่เป็น “หลักการ” ที่อยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการและแปลงมาเป็นกฎหมาย

“ความพิการ หมายถึง ความบกพร่อง บวกกับอุปสรรคทางด้านทัศนคติเชิงลบ และอุปสรรคจากสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น”

“ถ้าเข้าใจสมการความพิการ จะเข้าใจว่าความบกพร่องมีแค่ส่วนเดียว คือ ขาเดินไม่ได้ ตามองไม่เห็น หูไม่ได้ยิน ความพิการยังไม่ได้เกิดขึ้นเลย เขาก็อยู่ของเขาอย่างนี้ แต่ความพิการจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อไปเจอทัศนคติที่เป็นลบ เช่น คนพิการออกมาทำไม พ่อแม่บอกว่า ลูกพิการไม่ต้องเอาออกไปไหน อยู่บ้านนี่แหละ ออกไปแล้วอันตราย ก็เกิดความพิการขึ้นแล้ว และพอออกมาจากบ้าน มาเจอสังคมมอง มาเจอทางลาด มาเจอความไม่สะดวกต่างๆ มันก็มีความพิการเกิดขึ้น”

“ความพิการเกิดขึ้นตามเหตุการณ์และตามกาลเวลาที่ไปขัดขวาง กีดขวางทำให้คนที่มีความบกพร่องไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมได้เท่าเทียมกับคนทั่วไป”

“ซึ่งนี่คือนิยามที่สรุปกันมาแล้ว โดยผู้นำพิการมากกว่า 60% ทั่วโลกเมื่อครั้งผลักดันให้มีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ เพราะฉะนั้น เขาถอดมาจากชีวิต”

“มีมอตโตที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1981 ว่า Nothing about us without us แปลว่า เรื่องของเราต้องมีเราไปเกี่ยวข้อง”

“มันบ่งบอกไหม เพราะเมื่อก่อนพูดเรื่องของฉัน โดยที่ฉันอยู่ไหนก็ไม่รู้ คิดแทนและทำให้ ฉะนั้น เรื่องของเราต้องมีเราเข้าไปเกี่ยวข้อง เรื่องของฉันต้องคุยกับฉันสิ แต่ทีนี้เรื่องของฉัน คุยกันเอง คิดเอง เออเอง และจัดสรรให้เอง พอเราออกมาเรียกร้อง ก็บอกว่าเราอย่างโน้นอย่างนี้”

“ดังนั้น การไม่ให้คนพิการเป็นภาระ ต้องพัฒนา และลงทุนในมนุษย์ สังคมควรจะเห็นคนพิการเป็นมนุษย์ เป็นพลเมืองที่มีประสิทธิภาพมากกว่าจะเห็นแต่ความบกพร่อง เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ก็ไม่มีใครสมบูรณ์แบบและไม่มีใครอยากพึ่งพิงใครอยู่แล้ว มีความเป็นตัวของตัวเอง รักอิสระ” เสาวลักษณ์ทิ้งท้าย

ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/lifestyle/social-women/news_2605343

ที่มา: matichon.co.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 3 มี.ค.64
วันที่โพสต์: 4/03/2564 เวลา 10:16:40 ดูภาพสไลด์โชว์ เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กก.สิทธิคนพิการ “ยูเอ็น” ชำแหละ “คุณภาพชีวิตคนพิการ” ไข่ในหิน-ค่าใช้จ่ายเพิ่ม