สมาคมสภาคนพิการ บุกรัฐสภา ขอ ส.ส.หนุนร่างพรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ เลขาธิการสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศ นายพีรพงศ์ จารุสาร ประธานฝ่ายกฎหมายและสิทธิมนุษยชน สมาคมสภาคนพิการฯ นายเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย นายวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) และผู้แทนสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย รวมถึงนายอัษฎากรณ์ ขันตี และทีมเยาวชนออทิสติก ยื่นหนังสือต่อนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ช่วยให้การสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่…) พ.ศ….ฉบับสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ที่ สมาคมสภาคนพิการฯ และภาคีเครือข่าย ร่วมกันพัฒนา เพราะร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวจะทำให้คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริงและสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยมีประเด็นสำคัญ 6 ประการ ดังนี้
1.การปฏิรูปการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยยกฐานะกองทุนเป็นนิติบุคคล เพื่อให้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดและลดน้อยลงทุกที ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
2. การยกระดับกลไกการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ โดยการยกระดับเป็นคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ และเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สามารถทำงานเชิงรุกคุ้มครองคนพิการได้ดียิ่งขึ้น
3. การจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับการเข้าถึงสภาพแวดล้อมได้โดยสะดวก เพื่อให้อำนาจในการกำหนด รับรองติดตาม และกำกับดูแลมาตรฐานเกี่ยวกับการเข้าถึงสภาพแวดล้อมในด้านต่างๆ ทั้งทางกายภาพ ข้อมูลข่าวสาร และบริการ เป็นต้น
4. การคุ้มครองสิทธิคนพิการในการไม่ถูกแสวงประโยชน์ การใช้ความรุนแรง และการล่วงละเมิดในทุกรูปแบบ
5. การส่งเสริมสิทธิสตรีพิการ ไปจนถึงการคุ้มครองสิทธิกรณีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความพิการที่เป็นการเลือกปฏิบัติทับซ้อนและการเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อน (intersectional and multiple discrimination)
6. การส่งเสริมและการสนับสนุนการสื่อสารด้วยภาษา ช่องทาง วิธีการ และรูปแบบการสื่อสารทางเลือกและการสื่อสารเสริมอื่นใดที่คนพิการสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ได้แก่ ภาษามือไทย บริการล่ามภาษามือ บริการคำบรรยายแทนเสียง หรือบริการเสียง บรรยายภาพ เป็นต้น
ประการสำคัญสภาคนพิการฯ ได้เน้นย้ำว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นคำมั่นสัญญาต่อคนพิการและต่อสาธารณชน จึงขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกแถลงการณ์สนับสนุนการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ..และขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำไปใช้เป็นประเด็นนโยบายการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึงนี้ด้วย
ขอบคุณ... https://siamrath.co.th/n/421894