มท.แจ้ง “คนชรา-คนพิการ” หวั่นเข้าใจผิด เพิ่มระบบ “พร้อมเพย์” รับเงินเบี้ยยังชีพ ปี 61
มท.ทำหนังสือด่วน แจ้ง “คนชรา-คนพิการ” หวั่นเข้าใจคลาดเคลื่อน เพิ่มระบบรับเงินเบี้ยยังชีพ ปี 2561 เหตุ “กรมบัญชีกลาง-กระทรวงการคลัง” เสนอเปิดบัญชีธนาคารศูนย์บาท สนองนโยบาย e-payment อำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิ ย้ำไม่ได้บังคับ “ผู้รับเบี้ยยังชีพ” ต้องเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อรับเบี้ยยังชีพแต่อย่างใด ยันเป็นไปตามระเบียบเดิม
วันนี้ (15 พ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงแนวทางการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 (เบี้ยคนชรา) และเบี้ยความพิการ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2553 (เบี้ยคนชรา)
“เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการรับเงินเบี้ยยังชีพ ว่าสามารถรับเบี้ยดังกล่าวได้ผ่านทางธนาคารเท่านั้น ซึ่งในสภาพความเป็นจริงนั้นประชาชนบางพื้นที่ไม่สะดวก ในการเดินทางไปรับเงินที่ธนาคาร เนื่องจากต้องเดินทางไกล ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง และมีความประสงค์ จะขอรับเป็นเงินสด เพราะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถให้บริการด้านต่างๆ แก่ผู้รับเบี้ยยังชีพ เข่น การดูแลสุขภาพ การให้ข้อมูลข่าวสาร และอื่นๆ อีกทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน”
นอกจากนี้ จากข้อเสนอการเปิดบัญชีธนาคารศูนย์บาทนั้นเป็นการแจ้งประซาสัมพันธ์รายชื่อธนาคารที่ให้บริการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารศูนย์บาท ซึ่งเกิดจากข้อเสนอของกรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลัง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้รับเงินสวัสดิการและเงินอื่นๆ ตามนโยบาย e-payment ของรัฐบาล และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิรับเงินสวัสดิการสังคม ในการยกเว้นเงินขั้นต่ำสำหรับการเปิดบัญชีเท่านั้น ไม่ได้เป็นการบังคับว่าผู้รับเบี้ยยังชีพต้องเปิดบัญชีเงินฝาก ธนาคารเพื่อรับเบี้ยยังชีพแต่อย่างใด
สำหรับการรับเบี้ยยังชีพตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ข้อ 13 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2523 ข้อ 13 ได้กำหนดว่าการจ่ายเบี้ยยังชีพตามระเบียบฯ สามารถจ่ายได้ 3 วิธี ดังนี้ 1. รับเป็นเงินสด 2. โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากในนามผู้มีสิทธิ 3. มอบอำนาจให้บุคคลอื่นรับแทนได้เป็นเงินสด หรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้รับมอบอำนาจได้
ก่อนหน้านั้น กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือให้จังหวัดแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประขาสัมพันธ์รายชื่อธนาคารที่ให้บริการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารศูนย์บาท สำหรับการจ่ายเงินสวัสดิการสังคมและเงินอื่นในลักษณะเดียวกันเพื่อเป็น การอำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิรับเงินสวัสดิการสังคมในการยกเว้นเงินขั้นต่ำสำหรับการเปิดบัญชี
มีรายงานว่า กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ได้หารือแนวทางการจ่ายเงินในส่วนของเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายสนับสนุนการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ และรายการเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายสนับสนุนสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้พิการและทุพพลภาพ ตามโครงการบูรณาการสวัสดิการสังคมภายใต้แผนยุทธศาสตร์การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-เพย์เมนต์ เพื่อป้องกันการทุจริตที่เคยเกิดขึ้น
โดยผลการหารือ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจะเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทย เช่น ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพของ อปท. พ.ศ. 2548 ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท. พ.ศ. 2552 และจัดทำระบบเพื่อรองรับการจ่ายเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินทั้ง 2 ส่วนได้โดยตรงทั้งหมด แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คาดว่าจะดำเนินการได้ทันภายในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ขณะที่กรมบัญชีกลางขอให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นประสานงานเพื่อติดตั้งเครื่องชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องอีดีซี ให้เสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2560 เพราะงบประมาณ 2561 จะเริ่มรับ-จ่ายเงินผ่านเครื่องอีดีซีตามแผนอี-เพย์เมนต์ภาครัฐ
มีรายงานว่า สำหรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายสำหรับสนับสนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปี 2561 จำนวน 60,447,788,400 บาท และ เงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพคนพิการ ปี 2561 จำนวน 14,644,876,800 บาท ส่วนแนวคิดการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายละ 1,200-1,500 บาทนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
ขอบคุณ... https://mgronline.com/politics/detail/9600000115494