เครือข่ายสุขภาพฮือบุกสรรพากรโวยรีดภาษีเกินจริง-ไม่เป็นธรรม
เครือข่ายสุขภาพ บุกกรมสรรพากร ร้องขอความเป็นธรรม โวยเจอรีดภาษีเกินจริง ขณะเดียวกัน เตรียมร้องศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว และฟ้อง จนท. รัฐ ตามมาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้านตัวแทนผู้พิการวอนรีบหาข้อยุติ ยันทำงานเพื่อสังคมไม่ใช่ธุรกิจแสวงหากำไร
วันนี้ (8 ก.พ.) นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) นำตัวแทนองค์กร และบุคคลที่ดำเนินโครงการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เพื่อร้องขอความเป็นธรรม กรณีสรรพกรพื้นที่ มีหนังสือเรียกเก็บภาษีย้อนหลังอย่างไม่เป็นธรรม จากนั้นได้นำหนังสือร้องเรียนไปแปะติดไว้ด้านข้างอาคารกรมสรรพกร
นายคำรณ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ที่รับทุนสนับสนุนจาก สสส. กว่า 5,000 โครงการ มีประมาณ 300 โครงการ ที่กำลังได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากสรรพากรเขต มีหนังสือให้ไปเสียภาษีย้อนหลัง พร้อมจ่ายค่าปรับ 6 เท่า ทั้งที่ปกติการรับทุนจาก สสส. จะแยกส่วนของเงินค่าบริหารโครงการ ซึ่งเป็นค่าจ้างบุคลากร และมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายโครงการเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องใช้ตามแผนงาน อีกทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ลงตรวจสอบทุกปีไม่เคยมีปัญหา และก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเคยมีหนังสือสั่งการให้เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในกรณีนี้เป็นการด่วน และมีข้อยุติไปนานแล้ว แต่กรมสรรพากรกลับทำตรงกันข้าม ยิ่งสร้างความเดือดร้อน ทำลายขวัญและกำลังใจคนทำงานภาคสังคม
“เครือข่ายฯยืนยันว่า เราเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย แต่กำลังถูกบิดเบือนให้สังคมเข้าใจผิดว่าเป็นคนเลี่ยงภาษี จากการตีความที่ไม่เป็นธรรมของสรรพากร ให้เป็น “สัญญาจ้างทำของ” เหมือนธุรกิจ เป็นการค้าขาย มีกำไร เพื่อจัดเก็บภาษีย้อนหลัง โดยคิดจากเงินโครงการที่ได้รับทั้งหมด ไม่ใช่เก็บภาษีเฉพาะเงินค่าตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานอย่างที่เป็นมา ซึ่งการตีความลักษณะนี้ แสดงว่า สรรพากรไม่เข้าใจบทบาทการทำงานของ สสส. และภาคี หรืออาจจะรู้แต่ดื้อแพ่งแกล้งทำเป็นไม่รู้ ซึ่งหลังจากนี้เครือข่ายฯเตรียมไปร้องศาลปกครองและดำเนินคดีอาญามาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และเตรียมร้องเรียนนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า หากไม่ได้ข้อยุติในเรื่องนี้” นายคำรณ กล่าว
ด้าน นางสาวมานิดา โศภิษฐพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาศักยภาพคนพิการด้านดนตรี กล่าวว่า โครงการของตนไม่ใช่โครงการที่จะมาแสวงหาผลกำไรใดๆ แต่เราทำงานเพื่อฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพด้านดนตรีให้กับคนพิการ ต่อยอดให้เขานำไปสู่การสร้างอาชีพมีรายได้เลี้ยงตัวเอง และเราทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 56 อีกทั้งโครงการนี้ หักภาษีเงินเดือนของคนทำงาน ณ ที่จ่ายทุกปี เหตุใดจึงมีหนังสือจากสรรพากรให้ไปเสียภาษีย้อนหลังจากเงินโครงการทั้งก้อน และให้จ่ายค่าปรับ 6 เท่า ซึ่งมันไม่เป็นธรรม ไม่มีการแจ้งหรือรู้มาก่อนว่าต้องจ่ายส่วนนี้ ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาตั้งแต่แรก อยากถามสรรพากร ว่า สมควรแล้วหรือที่จะเรียกเก็บภาษีในลักษณะนี้ เป็นการทำเกินอำนาจหน้าที่หรือไม่ น่าเสียใจอย่างยิ่งที่กรมสรรพากรมองว่าการทำงานของเราเหมือนการแสวงหากำไร ทั้งที่ไม่ใช่เลยมันไม่มีกำไร เงินที่เหลือจากโครงการก็ต้องคืน สสส. เราเป็นเพียงผู้ทำการแทน สสส. ตามข้อตกลงในสัญญา เป็น “สัญญาตัวแทน” ไม่ใช่ “รับจ้างทำของ” หากเรื่องนี้ไม่ได้ข้อยุติในเร็ววันเชื่อว่าคนที่มีใจทำงานภาคสังคม ซึ่งก็คือคนที่ช่วยเป็นมือเป็นไม้ให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ อุดช่องว่างที่ระบบราชการเข้าไม่ถึง จะถอดใจกันหมด
ทั้งนี้ สำหรับร่างจดหมายเปิดผนึกที่ทางเครือข่ายฯนำมาเรียกร้องต่อกรมสรรพกรมีดังนี้ 1. ขอให้ยุติการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม และทบทวนการตีความโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จาก “สัญญาจ้างทำของ” ให้กลับมาเป็น “สัญญาตัวแทน” เพื่อให้การจัดเก็บภาษีถูกต้องสอดคล้องกับลักษณะการดำเนินงาน โดยผู้ดำเนินโครงการเสียภาษี “ค่าตอบแทน” ตามเงื่อนไขกำหนดของ สสส. อยู่แล้ว 2. หนังสือชี้แจงข้อมูลการดำเนินการและการรับจ่ายเงินของ สสส. วันที่ 10 ก.พ. 60 อ้างอิงเลขที่หนังสือ สสส.ฝ. 5/323/2560 เรียน อธิบดีกรมสรรพากร ลงนามโดย พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ชี้แจงไว้ชัดเจนแล้วถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในลักษณะ “สัญญาตัวแทน” ตลอดจนกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เหตุใดกรมสรรพากรจึงไม่มีการพิจารณาหรือตอบกลับในหนังสือดังกล่าว สิ่งนี้เป็นเหตุให้สงสัยว่ากรมสรรพากรกำลังทำผิดขั้นตอนราชการ อีกทั้งพยายามส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่เร่งรีบเดินหน้าจัดเก็บภาษีจากโครงการให้ได้
3. เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 59 ตัวแทนภาคีเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี ต่อมาท่านได้มีดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว และมีความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แต่งตั้ง ในประเด็นข้อโต้แย้งต่างๆ ก็เป็นที่สิ้นสุดแล้ว เหตุใดจึงไม่ถูกนำมาพิจารณา และในทางปฏิบัติภาคีเครือข่ายต่างๆกลับถูกตามเร่งรัดจัดเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรม สวนทางกับดำริของนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น หากปัญหานี้ยังไม่ได้ข้อยุติภาคีเครือข่ายฯ มีความจำเป็นต้องนำเรียนข้อเท็จจริงนี้ต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และขอใช้สิทธิอันพึงมีตามรัฐธรรมนูญ ในการร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ตลอดจนดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา 157 ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
ขอบคุณ... https://mgronline.com/politics/detail/9610000013025