ชี้บริษัทยังไม่ค่อยยอมรับบัณฑิตพิการ

นางวิไลวรรณ ซึ้งปรีดา หัวหน้าศูนย์บริการนักศึกษาพิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) เปิดเผยว่า เนื่องจาก มธ.มีนโยบายเปิดรับนักศึกษาพิการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ และเริ่มมีบัณฑิตพิการออกสู่ตลาดงานในปี ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ตนจึงได้จัดทำงานวิจัยเรื่องการจ้างงานคนพิการของสถานประกอบการและคุณสมบัติของบัณฑิตพิการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สถานประกอบการยอมรับขึ้น เพื่อศึกษาความต้องการของสถานประกอบการที่เปิดรับบัณฑิตใหม่ของ มธ.เข้าทำงาน

พบว่า สถานประกอบการส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๙๐ จะไม่รับคนพิการเข้าทำงาน เพราะคิดว่าคนพิการมีผลงานตอบแทนบริษัทได้น้อยกว่าพนักงานที่มีร่างกายปกติ แม้ว่ารัฐบาลจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการจ้างงานก็ตาม

พร้อมกันนี้งานวิจัยยังพบด้วยว่าสถานประกอบการทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีจำนวนลูกจ้างที่เป็นคนพิการตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด โดยพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๐ กำหนดให้นายจ้างรับคนพิการเข้าทำงาน ๑ คน ต่อจำนวนลูกจ้างไม่พิการ ๑๐๐ คน ทั้งนี้เหตุผลเพราะสถานประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการจ้างคนพิการ และบางแห่งที่ทราบก็ไม่ต้องการรับคนพิการอยู่ดี

ผลงานวิจัยที่น่าตกใจคือ ถ้ามีคนพิการสมัครงานและมีความสามารถเท่ากับคนร่างกายปกติ บริษัทก็จะรับคนปกติ แต่ถ้าคนพิการมีความสามารถโดดเด่น เป็นที่เห็นชัดก็จะพบว่ามีบริษัทราว ๘๕ เปอร์เซ็นต์ ที่จะยอมรับคนพิการเข้าทำงาน ซึ่งตรงนี้อยากให้บริษัท หน่วยงานต่างๆ เข้าใจว่า บัณฑิตพิการแม้จะมีร่างกายไม่สมบูรณ์ แต่ความรู้ความสามารถมีได้เทียบเท่ากับบัณฑิต มธ.ที่มีร่างกายปกติ นอกจากนี้บัณฑิตพิการมีข้อดีคือเข้าทำงานแล้วส่วนใหญ่จะไม่ลาออกจากงาน และมีความตั้งใจในการทำงานดี สำหรับสัดส่วนการรับนักศึกษาพิการของ มธ. ปัจจุบันไม่ต่ำกว่า ๕๐ คนต่อไป ขณะที่นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจะอยู่ที่ประมาณปีละ ๑๐ กว่าคน โดยส่วนมากจะเลือกศึกษาต่อ” นางวิไลวรรณกล่าว.(เดลินิวส์รายวัน/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๕ ก.พ.๕๖)

ที่มา: เดลินิวส์รายวัน/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๕ ก.พ.๕๖
วันที่โพสต์: 9/02/2556 เวลา 03:20:10