Heddi Craft โปรเจกต์เสริมทักษะผู้ประกอบการให้ผู้พิการ จ.สกลนคร

Heddi Craft โปรเจกต์เสริมทักษะผู้ประกอบการให้ผู้พิการ จ.สกลนคร

Heddi Craft โปรเจกต์เสริมทักษะผู้ประกอบการให้ผู้พิการ จ.สกลนคร โดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

“คนพิการในต่างจังหวัดต้องเผชิญทั้งทัศนคติของคนรอบข้างและทัศนคติของตัวเอง เช่น ครอบครัวอายและเป็นห่วง จึงไม่ให้ลูกออกไปข้างนอก ตัวเขาเองก็ไม่กล้าออกไปไหน หลาย ๆ คนใช้ชีวิตอยู่แค่ในบ้าน ไม่มีสังคมอื่นเลยนอกจากครอบครัว

“เป้าหมายหลักของเราจึงเป็นการสร้างอาชีพ และนำเอาภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาสร้างอัตลักษณ์ให้งานของเขา แต่เราไม่ได้สอนแค่หัตถกรรม แต่ให้ทักษะการพึ่งตัวเองและการเข้าสังคมด้วย”

อาจารย์แจน-ผศ.ดร.บุษเกตน์ อินทรปาสาน อาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายในและผู้เชี่ยวชาญด้าน Universal Design คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เล่าถึงที่มาของ ‘Heddi Craft’ โครงการเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้พิการเป็นผู้ประกอบการด้วยทักษะการเพิ่มมูลค่าหัตถศิลป์ชุมชน และเพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเองให้คนพิการในตำบล เต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร โดยมี อาจารย์น้อง-ผศ.วรนุช ชื่นฤดีมล อาจารย์ภาควิชานวัตกรรมการออกแบบจากสถาบันเดียวกัน เป็นผู้ดูแลด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และแบรนดิ้ง รวมทั้งการผลิตเชิงหัตถอุตสาหกรรม

ขึ้นชื่อว่าเป็นการทำงานกับบุคคลที่มีข้อจำกัด เส้นทางนี้จึงมีความท้าทายมากมายเพื่อทลายข้อจำกัดนั้น จนถึงวันนี้ Heddi Craft กลายเป็นโมเดลนำร่องเพื่อพัฒนาคนพิการทั่วประเทศ และนี่คือเรื่องราวของโครงการ

Heddi Craft โปรเจกต์เสริมทักษะผู้ประกอบการให้ผู้พิการ จ.สกลนคร

ปลุกความมั่นใจในตัวคุณ

Heddi Craft มาจากคำว่า Handicraft และ Handicap แล้วปรับอีกนิดให้พ้องเสียงกับ เฮ็ดดิ ซึ่งเป็นคำในภาษาอีสาน แม้คนทั่วไปอาจไม่คุ้นคำ แต่พอรู้ความหมายก็จะรู้สึกคุ้นหูทันที

อาจารย์แจนอบรมผู้พิการในศูนย์การศึกษาต่อเนื่องของ มจธ. อยู่ก่อนแล้ว แต่ผู้เข้าร่วมส่วนมากเป็นผู้พิการจากกรุงเทพฯ และทักษะที่อบรมก็เป็นทักษะงานออฟฟิศเพื่อให้ตอบโจทย์ของสังคมเมือง เช่น การใช้โปรแกรม Microsoft Word, Excel แต่ด้วยความสนใจในสวัสดิภาพของผู้พิการในต่างจังหวัด ซึ่งมีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้และความช่วยเหลือน้อยกว่า ประจวบเหมาะกับทางมหาวิทยาลัยมีศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านนางอย-โพนปลาโหล อยู่ที่ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร อยู่แล้ว จากการบริจาคบ้านหลังเก่าของครอบครัว รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

อาจารย์แจนและอาจารย์น้องจึงร่วมกันพัฒนาหลักสูตรใหม่ สร้างศักยภาพให้คนพิการในชุมชนใกล้เคียงกับศูนย์การเรียนรู้ โดยความร่วมมือจาก อาจารย์ศิริพัฒน์ กล่ำกลิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนิร์ฟ ดิจิตอล เอเจนซี่ จำกัด มาช่วยดูแลด้านการตลาด และ อาจารย์ศิริวัฒน์ คันทารส กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพื่อนกระบวนกร จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มาช่วยเป็น Facilitator

แต่ไม่เพียงโอกาสที่น้อยกว่าคนพิการในกรุงเทพฯ สิ่งที่คนพิการในสกลนครต้องเผชิญ คือทัศนคติด้านลบทั้งจากสังคมและจากตัวเอง การพัฒนาพวกเขาอย่างยั่งยืน จึงต้องทำให้พวกเขาเชื่อว่าตัวเองทำได้เสียก่อน ซึ่งอาจารย์แจนเล่าถึงวิธีการปลุกความมั่นใจให้คนพิการในพื้นที่เอาไว้

Heddi Craft โปรเจกต์เสริมทักษะผู้ประกอบการให้ผู้พิการ จ.สกลนคร

“บางคนมีปัญหาเรื่องการเดิน เราก็พาเขามาทำขาพยุงให้เขาเดินได้ ตอนนี้กลายเป็นว่าเขาไปไหนกับเราได้สบาย บางคนนั่งวีลแชร์ไม่เคยออกจากบ้านมา 10 ปี เราบอกว่า ถ้าแค่ตัดสินใจมาร่วม ก็จะมีคนยกวีลแชร์เข็นเขาไปที่ต่าง ๆ เขาจึงเกิดความมั่นใจว่าเขาก็ทำอะไรได้เหมือนคนปกติทั่วไป ใช้ชีวิตเอง ดูแลตัวเองได้ บางคนมีปัญหาด้านการได้ยิน เขาไม่ได้เรียนภาษามือในโรงเรียนเพราะเต่างอยอยู่ห่างจากอำเภอเมืองฯ ประมาณ 25 กิโลเมตร จากเดิมที่ไม่ยอมสบตากับใครเพราะสื่อสารไม่ได้ เราก็ใช้วิธีคุยกับเขาผ่านแอปพลิเคชัน สร้างความมั่นใจด้วยการใช้ภาพในการสอนเพื่อให้เขาจดจำได้

“เราพยายามจะลดในสิ่งที่เขาขาดไป อย่างเมื่อก่อนไม่มีใครให้ความสำคัญกับคนพิการ เราก็ใช้วิธีการพูดคุยอย่างเป็นมิตร เป็นเพื่อนกัน กินข้าวกับเขาบ้าง พาเขาไปเที่ยวบ้าง เวลาที่เราออกไปเปิดตลาดก็สอนการจัดดิสเพลย์ และสอนการชวนคน ทำให้เขารู้สึกได้เปิดตัวเองมากขึ้น ได้ไปดูว่าคนอื่นเขาทำอะไรกันบ้าง”

โครงการนี้เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2564 หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางอาจารย์ให้แพทย์ผู้ดูแลผู้พิการในโรงพยาบาลตำบลช่วยคัดเลือกตัวแทนมา 18 คน ซึ่งส่วนมากเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาแตกต่างกัน เช่น แขนไม่มีแรง ตามองไม่ค่อยเห็น หูไม่ได้ยิน ด้วยข้อจำกัดของผู้เข้าร่วม อาจารย์จึงพัฒนาสินค้าเป็นเชือกถักที่ย้อมจากสีธรรมชาติ (Macramé) ซึ่งผู้อบรมทำได้แม้จะมีข้อจำกัดด้านร่างกายที่มักทำงานขนาดเล็กได้ไม่ถนัด และหัตถกรรมเชือกถักยังดีต่อการฝึกความจำในกลุ่มผู้ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ นอกจากนี้ ดีไซน์ยังต่อยอดมาจากหัตถกรรมท้องถิ่นด้านการมัดไม้กวาดดอกหญ้าที่ชาวบ้านคุ้นชิน และการย้อมด้วยสีธรรมชาติอันเลื่องชื่อของจังหวัด

“เราเริ่มด้วยการให้นักศึกษาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ลงพื้นที่ โดยปีแรกหวังแค่ว่าได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แล้วเราก็เรียนรู้พื้นฐานงานหัตถกรรมที่เขาทำอยู่แล้ว และเราแค่พยายามเสริมหรือปรับเพื่อสร้างคุณค่าในผลิตภัณฑ์ให้เพิ่มขึ้น งานหัตถกรรมของเต่างอยคือการมัดไม้กวาดดอกหญ้า เขาทำขายกันทั้งหมู่บ้าน เทคนิคของเขาจะใช้เชือกพลาสติกมามัดจนแน่น ก็เริ่มต้นจากตรงนี้ บวกกับสกลนครเป็นเมืองแห่งการย้อมคราม แต่ถ้าไปดูจริง ๆ จะเห็นว่าการย้อมครามเป็นแค่แขนงหนึ่งของการย้อมสีธรรมชาติทั้งหมด เลยเริ่มต้นจาก 2 จุดนี้

Heddi Craft โปรเจกต์เสริมทักษะผู้ประกอบการให้ผู้พิการ จ.สกลนคร

“ปีแรกพัฒนาสินค้าก่อน แต่ผู้เข้าร่วมจะเป็นผู้สูงอายุซะเยอะ ซึ่งเขามีเทคนิคเดิม ๆ ที่เคยชินอยู่แล้ว และใช้วิธีกะปริมาณเอา ไม่ยอมชั่งตวงวัดแบบที่สอน เวลาสอนเรื่องบัญชีการตลาดก็จะรู้สึกเหนื่อยกัน บอกว่าไม่ไหว ไม่เข้าใจ หลักสูตรจึงช่วยคัดกรองคนได้เหมือนกัน พอขึ้นปี 2 จึงเหลืออยู่แค่ 7 คน เราเริ่มหาคนที่เด็กลงมามาเติมให้ถึง 12 คน โครงการนี้พิสูจน์ตัวเองว่าทำของแบบนี้ขายได้ตังค์ด้วย คนก็เริ่มอยากมาเข้าหลักสูตร เราเลยมีคนที่เหมาะสมให้เลือกมากขึ้น ปี 2 เราเน้นหนักไปที่การสร้างทีมเวิร์ก มาตรฐานการชั่งตวงวัด การบริหารจัดการทีม และจริยธรรมทางการค้า พอปี 3 เริ่มเอาเทคโนโลยีมาจับ สอนทำผงสี การนำผงสีไปใช้กับ Binder ต่าง ๆ ฉีกจากผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมสีธรรมชาติ ไปเป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์อย่างอื่น เช่น สีเทียน เทียนหอมอะโรมา สอนคนในทีมที่เป็นวัยรุ่นและวัยกลางคนให้ปรับรูปแบบจากสิ่งที่เราสอนและตกแต่งหน้าตานิดหนึ่งด้วยไอเดียของเขาออกมาเป็นชิ้นงานใหม่ ส่วนปีที่ 4 ปีนี้จะเน้นออกตลาด และฝึกการขายการพูดคุยกับลูกค้า”

วางแผนดี อะไรก็ดีตาม

“คนพิการรุ่นใหม่ใช้ Google ดู YouTube เป็นหมด ทำอะไรเป็นหมด แต่ว่าเขาอาจจะไม่ชอบจดบันทึก อาจารย์จึงลองพยายามทำให้การทำงานมี Research and Development มีการจดบันทึกการชั่งตวงวัด จดระยะเวลา อุณหภูมิ ค่าสารต่าง ๆ ซึ่งมีไม่กี่คนที่ทำได้ การวางแผนงานก็สำคัญ ตั้งแต่เรื่องการจัดเก็บของให้เป็นระบบเพื่อให้หาเจอโดยไม่ต้องค้นกระจุย เพราะเขาอาจจะไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า

“เราค้นพบว่า ถ้าพวกเขารู้จักจดบันทึกและวางแผน เขาจะปลดล็อกสิ่งที่ทำไม่ได้ เรา 2 คนก็ทำให้เขาดู พยายามทำกับเขาบ่อย ๆ ให้รู้ว่าของที่เป็นกระดาษควรจะเก็บไว้กับกระดาษ ของที่เป็นผ้าก็ควรจะอยู่กับกรรไกร จัดให้เขาเป็นลัง ๆ และเขียนป้ายบอก แล้วในที่สุดก็ให้คนที่อ่านออกเขียนได้และแข็งแรงที่สุด เลื่อนของในห้องเก็บของได้ เป็นผู้ดูแลเรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการจดบันทึกและการจัดระบบ”

ในห่วงโซ่อุปทานของสินค้า Heddi Craft ทีมอาจารย์มอบหมายให้ผู้พิการในโครงการทั้ง 12 คน มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นของตัวเอง เหมือนเป็น Team Leader ในส่วนนั้น ๆ ให้เขาบริหารส่วนของตัวเองให้ดีโดยยังมีเพื่อนคนอื่นคอยเป็นลูกมือช่วยเหลือ ซึ่งฝึกทั้งความเป็นผู้นำ ทีมเวีร์ก และระบบความคิดให้วางแผนจัดการส่วนงานของตัวเอง

“อย่างงานวางแผนการผลิต ตอนนี้เป็นหน้าฝน ผลิตผงสีกับย้อมสีธรรมชาติไม่ได้ เพราะผงสีและเชือกจะไม่แห้ง ผงสีจะขึ้นรา ปีหน้าเขาก็ต้องวางแผนรายปีดี ๆ แล้วว่าหน้าแล้งต้องมาผลิตสีให้พอที่จะขายทั้งปี พอช่วงหน้าฝนก็ไปทำอย่างอื่นแทน”

ผลักดันไปด้วยกัน

สินค้าจาก Heddi Craft เริ่มต้นด้วยเชือกถัก Macramé สีสันน่ารักที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ และสินค้าจำพวกผ้าย้อมธรรมชาติ ระหว่างการเดินทางที่ทั้งผลักทั้งดันผู้พิการให้มีโอกาสที่ยั่งยืนนี้ ตั้งแต่ปีแรก โครงการก็ไปขอความช่วยเหลือจากนักออกแบบท้องถิ่น เจษ-เจษฎา กัลยาบาล และ ศิลปินท้องถิ่น ครูแมน-ปราชญ์ นิยมค้า เจ้าของ ‘สวนแมน’ หรือ Man Gardens Creative Crafts Center ให้มาช่วยสอนคนพิการต้มน้ำย้อมและย้อมเชือก และแมนยังช่วยสนับสนุนพื้นที่ให้ขายของในตลาดงานคราฟต์ที่สวนแมนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งตลาดจะเปิดในเดือนธันวาคมของทุกปี

พอได้อยู่ในพื้นที่ที่มีโอกาสพบเจอศิลปินและผู้สนใจงานศิลปะ กลุ่มผู้พิการก็ได้มีพื้นที่แสดงศักยภาพและพบปะผู้คนใหม่ ๆ พอเข้าปีที่ 3 ครูหมิว-พรพิมล มิ่งมิตรมี ผู้ศึกษาสีธรรมชาติในท้องถิ่น เจ้าของเพจ Craft Colour ก็เข้ามาช่วยสอนการทำผงสีจากธรรมชาติ ซึ่งครูหมิวสอนทำผงสีและสีน้ำจากธรรมชาติที่เธอทำขายอยู่เองด้วย

“แต่เราไม่อยากขายสินค้าทับไลน์ของครูหมิว เลยขอให้ครูสอนทำสีเทียน แต่สูตรดั้งเดิมยังต้องใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ น้องแจน ผู้จัดการกลุ่มซึ่งเรียนจบปริญญาตรีด้านเกษตร น้องเป็นนักวิจัยข้าว เลยเข้าใจเรื่องการทำงานวิจัย เราช่วยกันทดลองหาสูตรทำสีเทียนที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ สุดท้ายก็หาสูตรสีเทียนได้ตามเงื่อนไขว่าสีจะต้องเข้ม เวลาถูไปแล้วขี้ไคลออกมาน้อย แต่ก็ไม่ได้แข็งเกินไปจนถูไม่ได้”

ขึ้นชื่อว่าสีเทียนจากธรรมชาติ จุดเด่นคือความปลอดภัยต่อผู้บริโภค พ่อแม่จึงนิยมซื้อหาไปให้ลูกหลานใช้ กลุ่มศิลปินผู้รักธรรมชาติและรักตัวเองก็มาอุดหนุน

“แล้วเราก็คิดได้ว่าสีเทียนก็คือไข เทียนหอมมันก็เป็นไข เลยคิดฉีกออกไปว่าทำเทียนหอมน่าจะรุ่ง เทียนหอมแหล่งอื่นเป็นสารเคมี แต่ของเราเป็นธรรมชาติเลย”

เพื่อขยายตลาดไปพร้อมกับการพัฒนาคน Heddi Craft จะไปออกบูทในตลาด Art & Craft ในเมืองสกลนคร งานคนพิการแห่งชาติ และงานแสดงสินค้าของหอการค้าจังหวัด เมื่อผู้ประกอบการหรือศิลปินติดต่อมาเพื่อซื้อสินค้า ขอนำสินค้าไปวางขายในร้าน หรือมองหาความร่วมมือทางธุรกิจ อาจารย์ก็จะให้ตัวแทนผู้พิการคุยกับลูกค้าเอง เจรจาธุรกิจเอง และปิดการขายเอง

“เราพยายามสร้างเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจให้เขาประมาณหนึ่ง เราคิดว่าการสนับสนุนเงินทุนอาจไม่จำเป็นมากเท่ากับการสนับสนุนด้านเครือข่ายทางธุรกิจ เราจัดให้เขาแลกไลน์กับศิลปินในท้องถิ่น แลกไลน์กับอาจารย์ที่ขายน้ำมันหอมระเหย ให้เขารู้จักกับหลาย ๆ คน เพื่อเวลาเขาต้องการอะไร จะกล้าติดต่อได้เอง”

ทุนเพื่อคนพิการและทุนจากคนพิการ

ตามกฎหมายมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นายจ้างจะต้องจ้างงานคนพิการอย่างน้อย 1 คน ต่อจำนวนลูกจ้าง 100 คน แต่มีข้อยกเว้น หากลักษณะงานไม่เหมาะสมกับผู้พิการ สามารถสนับสนุนเงินทุนเพื่อฝึกอาชีพผู้พิการได้แทนตามมาตรา 35 และส่วนนี้คือแหล่งเงินทุนหลักที่ขับเคลื่อน Heddi Craft ด้วยการสนับสนุนของบริษัทเอกชน โดยได้รับเงินสนับสนุนในปีแรกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ส่วนปีที่ 2 – 4 ได้จาก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า 3 ปีที่ผ่านมา Heddi Craft จะมีผู้สนับสนุน แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าแหล่งทุนเอกชนจะเข้ามาช่วยเหลือตลอดไป

“เราจึงพยายามฝึกฝนผู้พิการในกลุ่มให้เป็นวิสาหกิจชุมชน อยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยที่ลงทุนเอง ทำงานได้เอง ขายของได้เอง คิดต้นทุนกำไรได้ รู้ว่ากำไรที่ได้ควรเก็บไว้เท่าไร เอามาลงทุนรอบหน้าเท่าไร พยายามทำให้ยั่งยืนจริง ๆ”

เริ่มจากรายได้ปีแรก 38,000 บาท จากการขายของที่สวนแมน 3 วัน พอปีที่ 2 ก็รับออร์เดอร์จากทางมหาวิทยาลัย ได้เงินมา 110,000 บาท จากการทำงาน 6 เดือน และพอเข้าปีที่ 3 ทีมอาจารย์ก็เริ่มสร้างความมั่นใจให้กลุ่มคนพิการลงทุนด้วยตัวเองสำหรับออร์เดอร์สินค้าจากมหาวิทยาลัย

“ก็บอกเขาว่า ถ้าพี่ไม่ลงทุนเองแล้วให้อาจารย์ 4 คนลงทุน 100% พี่เป็นแค่คนงาน กำไรเรา 4 คนได้หมด และเขียนให้ดูว่าลงทุนเท่าไหร่ ได้กำไรเท่าไหร่ แต่โมเดลที่ 2 ถ้าพี่ลงทุนเอง พี่จะได้กำไรคนละเท่าไร ที่นี้เขาก็เลยอยากลองลงทุนเองตามข้อจำกัดของแต่ละบ้าน

“ปีที่ 3 เป็นครั้งแรกที่เขาลงหุ้นกันด้วยเงินตัวเองเป็นค่าวัตถุดิบที่ต้องผลิตเพื่อส่งออร์เดอร์ เราค่อย ๆ ถอยตัวเองออกมา เวลาที่เขามีปัญหา เราจะคุยกับเขาทางไลน์หรือว่าโทรศัพท์ แต่ว่าในที่สุดเราก็หวังว่าเขาจะทำต่อเองได้”

Heddi Craft สร้างแรงจูงใจทางด้านการเงินและด้านสังคมให้แก่ผู้พิการ เปลี่ยนคนที่ไม่เคยออกจากบ้าน ไม่เคยมีสังคม ไม่เคยสร้างรายได้ ให้สร้างรายได้ ช่วยเหลือครอบครัว และที่สำคัญคือหันมาเห็นคุณค่าในตัวเอง ทำให้มีผู้พิการสนใจรอเข้าร่วมโครงการอีกมาก และตอนนี้โครงการก็ดำเนินการมาปีที่ 4 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแล้วที่ทางผู้สนับสนุนจะให้งบประมาณสนับสนุน ทางทีมอาจารย์ได้เป็นแมวมองคัดคนที่เหมาะสมและกำลังฝึกให้พวกเขาก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของโครงการ รับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ กันเอง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันที่ทางอาจารย์ต้องถอยออกมา

เมื่อปีที่แล้ว ทาง มจธ. จัดงาน 10 ปี นวัตกรรมจ้างงานคนพิการ และ Heddi Craft ก็ไปเข้าตา คุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ท่านมีนโยบายจัดทำ Heddi Craft Model ขยายผลโครงการใน 10 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการจากภายในอย่างยั่งยืน และทำให้สังคมรับรู้ว่าผู้พิการมีศักยภาพมากกว่าที่คุณคิด

“ถ้าอาจารย์แจนไม่เอาโปรเจกต์นี้มาชวนทำ เราก็ยังคิดว่าคนพิการเขาจะทำได้หรือ แต่ปีแรกที่เข้ามาทำโครงการ พอได้รู้จักน้อง ๆ พี่ ๆ เขาจริง ๆ เราคิดว่าคนพิการก็คือคนธรรมดาที่เป็นนักสู้ พวกเขามีความตั้งใจและความสามารถ” อาจารย์น้องกล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณ... https://readthecloud.co/heddi-craft/

ที่มา: readthecloud.co/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 9 ส.ค.67
วันที่โพสต์: 9/08/2567 เวลา 14:12:15 ดูภาพสไลด์โชว์ Heddi Craft โปรเจกต์เสริมทักษะผู้ประกอบการให้ผู้พิการ จ.สกลนคร