พม.-มจธ.-5 มหาวิทยาลัยพันธมิตรฝึกทักษะอาชีพสนองตลาดแรงงาน สร้างงาน-รายได้ "คนพิการ"

พม.-มจธ.-5 มหาวิทยาลัยพันธมิตรฝึกทักษะอาชีพสนองตลาดแรงงาน สร้างงาน-รายได้ "คนพิการ"

“ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดน้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุมีมากขึ้น รวมถึงจำนวนคนในวัยแรงงานก็เริ่มน้อยลง พม.จึงส่งเสริมให้มีการจ้างงานคนพิการมากขึ้น เพื่อทดแทนแรงงานในสังคมที่กำลังหดหายไป”

คำกล่าว นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ถึงความสำคัญในการพัฒนาคนพิการที่นำไปสู่การขับเคลื่อนโครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ บนความร่วมมือระหว่าง พม.โดย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพ ชีวิตคนพิการ (พก.) กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ มหาวิทยาลัยพันธมิตรในเครือข่าย

พม.-มจธ.-5 มหาวิทยาลัยพันธมิตรฝึกทักษะอาชีพสนองตลาดแรงงาน สร้างงาน-รายได้ "คนพิการ"

นายวราวุธ ยังกล่าวด้วยว่า คนพิการวัยแรงงาน (อายุ 15-60 ปี) มีจำนวน 863,195 คน ซึ่งสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้อง จ้างงานคนพิการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการคิดเป็นจำนวน 67,940 คน แต่ปัจจุบันมีการจ้างงานตามมาตรา 33 เพียง 37,921 คน ที่เหลือนายจ้างเลือกใช้การส่งเงินเข้ากองทุนและการให้สิทธิประโยชน์ ทั้งที่เป้าหมายของกฎหมายคือการให้โอกาสและเปิดพื้นที่ให้คนพิการได้แสดงศักยภาพในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนพิการและครอบครัว อย่างไรก็ตาม การจ้างงานนั้นต้องมองถึงความต้องการในทักษะวิชาชีพของสถานประกอบการ จึงนำมาสู่การขับเคลื่อนโครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ โดย มจธ.เป็นแม่ข่ายที่นำมหาวิทยาลัยพันธมิตรเข้ามาร่วม ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) วิทยาเขตสุพรรณบุรี และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรมวิชาชีพให้กับคนพิการตามความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ เบื้องต้นนำร่องกับคนพิการรวม 300 คน โดยได้รับการสนับสนุนเงินดำเนินการจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พก.

พม.-มจธ.-5 มหาวิทยาลัยพันธมิตรฝึกทักษะอาชีพสนองตลาดแรงงาน สร้างงาน-รายได้ "คนพิการ"

“ต้องขอบคุณ มจธ.และเครือข่าย ที่เป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจ และได้ขยายผลเครือข่ายไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในอนาคต พม.จะขยายความร่วมมือไปยังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ต่อไป” นายวราวุธ ระบุถึงความมุ่งหวังในอนาคต

ด้าน รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มจธ.ได้พัฒนาทักษะวิชาชีพให้คนพิการผ่านหลักสูตรต่างๆ อาทิ หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน หลักสูตรผู้ทดสอบทางประสาทสัมผัสสำหรับคนพิการทางสายตา หลักสูตรการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัล และหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หัตถ กรรมท้องถิ่น เป็นต้น จนมีงานทำไปแล้วกว่า 400 คน มีสถานประกอบการเอกชนร่วมสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืน ครั้งนี้เป็นการขยายผลไปสู่มหาวิทยาลัยพันธมิตรอีก 5 แห่งในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งแต่ละแห่งมีจุดเด่นต่างกัน โดย มจธ.จะเป็นเจ้าภาพช่วยเกื้อหนุนและถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อให้มหาวิทยาลัย 5 แห่งที่ร่วมโครงการ สามารถพัฒนาคนพิการตามแนวทางของมหาวิทยาลัยได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็สามารถสร้างโอกาสให้บุคลากรรวมทั้งนักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งโมเดลการฝึกอบรม แบ่งเป็น 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.หารือร่วมกับสถานประกอบการที่สนับสนุนโครงการ 2.รับสมัครและคัดเลือกคนพิการเข้าร่วมโครงการ ตามคุณสมบัติของแต่ละหลักสูตร 3.กระบวนการฝึกอบรม-ฝึกงาน

พม.-มจธ.-5 มหาวิทยาลัยพันธมิตรฝึกทักษะอาชีพสนองตลาดแรงงาน สร้างงาน-รายได้ "คนพิการ"

รวม 6 เดือน ครอบคลุมทักษะ 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านอาชีพ ทักษะด้านการสนับสนุนการทำงานและการใช้ชีวิต และทักษะการฝึกประสบการณ์ทำงานตรง 4.สนับสนุนการจ้างงานคนพิการร่วมกับภาคี 5.ระบบพี่เลี้ยงติดตามและให้คำแนะนำ และ 6.การเก็บรวบรวมข้อมูล

“คาดหวังว่าโครงการขยายผลอุดมศึกษาฯนำร่องนี้ จะทำให้มีคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมเข้าสู่สถานประกอบการได้มากขึ้น หรือคน พิการที่ไม่สะดวกในการไปทำงานกับสถานประกอบการ สามารถทำอาชีพอิสระที่บ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสิ่งพิมพ์ดิจิทัล หรืองานฝีมือ และหากรุ่นที่ 1 ผลลัพธ์ออกมาดี เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนขยายผลเพิ่มขึ้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว และหากทำอย่างต่อเนื่องจำนวนคนพิการที่มีงานทำ มีอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น โครงการนี้จะช่วยสังคมไทยได้มาก ทั้งเรื่องของคุณภาพชีวิตคนพิการ ลดช่องว่าง และลดภาระของภาครัฐ ขณะเดียวกัน คนพิการเองจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง และสามารถดำรงชีพได้อย่างภาคภูมิ ที่สำคัญยังตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของประเทศอีกด้วย ซึ่ง มจธ.เองก็ทำเรื่องดังกล่าวมายาวนานเช่นกัน ทั้งนี้ หัวใจในการทำงานพัฒนาคนพิการคือ การใส่ใจลงไปในการทำงานอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเราก็ได้จ้างคนพิการที่จบจากโครงการของเราทำงานในคณะต่างๆ ซึ่งเป็นกำลังคนที่มีคุณภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบุคลากรปกติ” รศ.ดร.สุวิทย์ กล่าว

พม.-มจธ.-5 มหาวิทยาลัยพันธมิตรฝึกทักษะอาชีพสนองตลาดแรงงาน สร้างงาน-รายได้ "คนพิการ"

ขณะที่ นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดี พก. กล่าวว่า ถือเป็นโครงการที่ให้โอกาสคนพิการในพื้นที่ โดยสถาบันอุดมศึกษาจะประสานกับนายจ้างในพื้นที่เพื่อสอบถามถึงทักษะวิชาชีพที่ต้องการนำไปสู่การอบรมพัฒนา เมื่อจบหลักสูตร สถานประกอบการก็สามารถรับเข้าทำงานได้ทันที เป็นโครงการที่ ตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพคนพิการเข้าสู่การจ้างงานที่ตรงความต้องการของสถานประกอบการ สร้างงานสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนพิการที่สามารถดูแลตนเองและครอบครัวอย่างมีศักดิ์ศรี

ทีมข่าวการพัฒนาสังคม เห็นด้วยอย่างยิ่งและสนับสนุนการประสานระดมสรรพกำลังความสามารถของแต่ละหน่วยงานและทุกภาคส่วน ในการร่วมขับเคลื่อนพัฒนางานด้านคนพิการ เพราะไม่เพียงการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนพิการและครอบครัว แต่ยังเป็นอีกช่องทางที่ตอบโจทย์รับมือโครงสร้างประชากรที่วัยแรงงานกำลังลดน้อยลงเพื่อสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2790370

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 4 มิ.ย.67
วันที่โพสต์: 4/06/2567 เวลา 14:36:58 ดูภาพสไลด์โชว์ พม.-มจธ.-5 มหาวิทยาลัยพันธมิตรฝึกทักษะอาชีพสนองตลาดแรงงาน สร้างงาน-รายได้ "คนพิการ"