การจ้างงานคนพิการ มาตรา 33/34/35 เอกชน-รัฐ ใครเหลื่อมลํ้า ใครยั่งยืน

การจ้างงานคนพิการ มาตรา 33/34/35 เอกชน-รัฐ ใครเหลื่อมลํ้า ใครยั่งยืน

ในเวทีการประชุม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างกรรมการ CSR จังหวัด ที่พูดคุยกันเรื่อง CSR ในยุค 5.0 ยุทธศาสตร์จังหวัด และยุทธศาสตร์ภาค และได้คุยกันเรื่องโครงการ Flagship ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ

ในโครงการ Flagship ด้านสังคม โครงการช่วยเหลือคนพิการ ที่ช่วยกันอย่างตั้งใจ นัก CSR คุยกันว่า การบริจาค สงเคราะห์ผู้พิการก็ถือว่าดี แต่ถ้าจะให้ยั่งยืนต้องพัฒนาศักยภาพทางอาชีพให้เขา และต้องมีการจ้างงานที่เหมาะสม

เรามี พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 33 หน่วยงานที่มีบุคลากรเกิน 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน ต่อการจ้างงาน 100 คน ถ้าไม่จ้าง ต้องส่งเงินเข้าสมทบกองทุนพัฒนาอาชีพคนพิการของกระทรวง พม. ตาม มาตรา 34 หรือทำโครงการ CSR เกี่ยวกับคนพิการ หรือจ้างงานคนพิการไปช่วยเหลือสังคม ตามมาตรา 35

เท่าที่ผมฟัง ภาคธุรกิจบอกว่าเขาตั้งใจทำตาม มาตรา 33 / 34 / 35 ได้เกือบ 100% แล้ว และพยายามเพิ่มการจ้างงานขึ้นอีก เพื่อลดการจ่ายเงินเข้ากองทุน ผมพยายามค้นข้อมูลจากหลายแหล่งที่ไม่ค่อยตรงกัน แต่ดูจากข้อมูลของรัฐที่น่าเชื่อถือในปี 2564 ก็เป็นตามนั้นจริง ๆ ภาคธุรกิจต้องจ้างงานราว 65,000 อัตรา ตามมาตรา 33 และ 35 จ้างไปแล้วราว 52,000 อัตรา ที่เหลือจ่ายเงินเข้ากองทุนจนเกือบครบ มีส่วนน้อยมากที่ยังไม่ทำ กำลังถูกฟ้อง และต้องไปเสียค่าปรับ

ผมมีความสงสัยว่าภาครัฐเอาจริงไหม จากข้อมูลทราบว่ารัฐต้องจ้างผู้พิการราว 18,000 อัตรา จ้างไปได้เพียง 3,500 อัตรา และมีอัตราการจ้างลดลงเรื่อย ๆ ทุกปี สวนทางกับภาคธุรกิจ จนตอนนี้น่าจะตํ่ากว่า 20% ของเป้าหมายแล้ว และ ไม่เห็นตัวเลขการจ่ายเงินเข้ากองทุนในมาตรา 34 เลย ไม่แน่ใจว่ามีการจ่ายไหม หรือมีข้อยกเว้น ถ้าไม่จ่าย หน่วยงานรัฐที่ไม่ทำตาม พ.ร.บ. เหล่านั้นจะถือว่ากระทำผิดกฎหมายหรือไม่ จะถูกเร่งรัดฟ้องร้อง แบบที่ภาคธุรกิจโดนหรือเปล่า ถามใครก็ได้คำตอบไม่ตรงกัน

ตอนเริ่ม พ.ร.บ. ใหม่ ๆ ก็เคยคุยกันว่ากฎหมายจะถูกบังคับใช้อย่างเท่าเทียม จำได้ว่าหน่วยงานของรัฐบอกว่า ให้ภาคธุรกิจนำร่องไปก่อน ขอเวลาภาครัฐจัดทัพเตรียมงบประมาณสัก 3 ปีแล้วจะทำให้ได้ 100% ตาม พ.ร.บ. นี่ก็เกิน 3 ปีมานานมากแล้ว ตัวเลขเป็นแบบนี้ จะพูดดังไปก็เกรงใจเพื่อน ๆ ในภาครัฐ จึงขอแอบกระซิบเบา ๆ ในคอลัมน์ “เสียงกระซิบจากคนตัวเล็ก” แล้วกัน

แบบนี้เรียกว่า เหลื่อมลํ้าหรือยั่งยืน … ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร วันนี้นัก CSR จะร่วมใจกันขับเคลื่อนต่อไป เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนของเพื่อน ๆ ผู้พิการ

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/news/3752678/

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 15 ส.ค. 67
วันที่โพสต์: 15/08/2567 เวลา 14:58:08 ดูภาพสไลด์โชว์ การจ้างงานคนพิการ มาตรา 33/34/35 เอกชน-รัฐ ใครเหลื่อมลํ้า ใครยั่งยืน