“คู่รักนักสู้ผู้พิการ” คนหนึ่งสูญเสียขา 1 ข้าง อีกคนไร้ขาทั้ง 2 ข้าง ไม่ถอดใจ ช่วยกันทำงานหารายได้-ส่งเสียลูกจนเดินถึงฝัน!
รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปที่ จ.อ่างทอง เพื่อรู้จัก "อ้วนและรุ่ง" ที่แม้โชคร้ายพิการทั้งคู่ แต่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา สู้ฝึกอาชีพเพื่อมีงานทำ เมื่อบุพเพสันนิวาสพาให้ทั้งคู่ได้มาพบกัน ทั้งสองไม่เพียงสู้ไปด้วยกัน แต่ยังตัดสินใจมีพยานรัก แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พ่อแม่พิการและไม่ได้มีฐานะ จะสามารถส่งเสียเลี้ยงดูลูกจนถึงฝั่งฝันได้ แต่ทั้งคู่ก็ทำสำเร็จ
“วันนั้นเลิกงานตอนเช้า ผมกำลังขับมอเตอร์ไซค์กลับที่พัก มาถึง 5 แยกปากเกร็ด ผมมาทางตรง รถ 6 ล้อขึ้นจากซอยมา ผมเลยชนเข้า ก็เสียขาข้างหนึ่ง”
อุบัติเหตุเมื่อ 28 ปีก่อน ทำให้ “อ้วน” ธวรักษ์ มณีโชติ ต้องเสียขาซ้ายไปในวัยแค่ 19 ขณะที่ “รุ่ง” รุ่งรัตน์ มณีโชติ ก่อนจะโคจรมาเจอกันและใช้ชีวิตร่วมกัน ก็เคยถูกอุบัติเหตุมาพรากขาทั้ง 2 ข้างไปในวัยแค่ 22
“ตอนนั้นทำงานโรงงาน และออกกะตอนเช้า ประมาณ 3 โมงเช้า ก็ขับมอเตอร์ไซค์จะไปรับแม่ที่ตลาด แม่ขายของ เลยโดนรถขนทรายชน จนต้องตัดขาทั้งสองข้าง”
หลังรักษาตัวและฟื้นฟูร่างกาย โดยมีกำลังใจจากครอบครัว “รุ่ง” เริ่มทำงานที่พอทำได้ คือ ทำของชำร่วยที่บ้านใน จ.อ่างทอง ก่อนจะตัดสินใจไปฝึกวิชาชีพที่มูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการ จ.นนทบุรี
ขณะที่อ้วน หลังสูญเสียขาไป 1 ข้าง ได้กลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิด จ.อำนาจเจริญ และโชคดีได้รับพระราชทานขาเทียม “ตอนนั้นมีหน่วยของสมเด็จย่ามาลงหน่วยทำขาเทียมที่จังหวัดใกล้เคียง จ.ศรีสะเกษ ผมเลยมีโอกาสไปเข้าร่วมโครงการ มีขาใส่ทุกวันนี้เพราะสมเด็จย่า”
หลังจากนั้น อ้วนได้ตัดสินใจมาฝึกวิชาชีพที่มูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการเช่นกัน จนได้พบกับรุ่งที่นี่ “มาสอบเข้าและเรียนคอมพิวเตอร์ออฟฟิศและกราฟฟิค อย่างละ 6 เดือน (ถาม-มาเจอคู่ชีวิตได้ยังไง?) ได้เรียนด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประทับใจที่เขาคอยสอนเราด้วยบางทีที่ผมไม่เข้าใจตรงไหนที่อาจารย์สอน”
หลังเรียนจบ อ้วนและรุ่งได้ฝึกงาน ทำงานที่เดียวกัน ตามที่เคยสัญญากันไว้ว่าจะดูแลกัน เมื่อทำงานในสิ่งที่เรียนมาจนเริ่มรู้สึกอิ่มตัว ทั้งคู่จึงตัดสินใจหาอาชีพเป็นของตัวเอง เพราะคิดว่าน่าจะยั่งยืนกว่า
“ผมคิดว่า เราก็รับแต่เงินเดือน เราไม่มีอาชีพของเราเลย ผมเลยว่า มาเริ่มค้าขายดีไหม เป็นอาชีพ เป็นอะไรที่มันยั่งยืนกว่า เราสามารถเก็บของเราเอง ออมของเราเองได้ มันสามารถสร้างอาชีพของเราได้ด้วย”
“ก่อนจะเปิดร้านซักอบรีด ก็ขายของมาแล้วหลายอย่าง ไส้กรอกย่าง ไก่ย่าง ต้มแซ่บ ยำคอหมู ไปรถคันเล็กๆ รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง สุดท้ายมีพี่แนะนำให้เปิดร้านซักรีด เพราะเห็นหนูไปรีดผ้าให้เขา เขาบอกว่าฝีมือดี น่าจะลองเปิดร้านซักรีดดู พี่อ้วนบอกว่า น่าจะได้อยู่นะ เราก็เลยลองทำดู”
“(ถาม-ลูกค้าเห็นเราสภาพไม่สมประกอบ เขาตั้งคำถามหรือไว้ใจการทำงานเราไหม?) บางคนก็ถาม อยากรู้เหมือนกันว่า เราทำไมเป็นแบบนี้ แต่เขาก็อุดหนุนด้วยที่ว่าเราตั้งใจทำงานมากกว่า เขาเห็นผลงานเรามากกว่า เขาเลยไม่ได้เอาตรงนี้มาตัดสิน”
ไม่ใช่แค่เปิดร้านซักอบรีด แต่อ้วนยังต่อยอดสิ่งที่ชอบคือ เลี้ยงปลา ให้เป็นธุรกิจ ด้วยการเลี้ยงปลาสารพัดชนิดขาย ซึ่งตอนแรกก็ดูท่าว่าจะไปได้ดี แต่สุดท้ายก็ต้องตัดสินใจเลิก
“ผมชอบเลี้ยงปลาทุกสายพันธุ์อยู่แล้ว ก็พัฒนามาเป็นธุรกิจ ทำบ่อเอง เอาปลามาลง เขาเริ่มหาปลาแปลก ก็ลงปลาแปลก ปลาหายาก ปลาไซส์ใหญ่ก็ลง แต่ธุรกิจก็ดีได้พักหนึ่ง ก็เริ่มซบเซา เพราะคนชอบปลาเริ่มโตขึ้น เด็กรุ่นใหม่ไม่นิยมเลี้ยงปลา นิยมเล่นโทรศัพท์ เลยต้องเลิก”
ขณะที่ธุรกิจซักอบรีด ก็มาเจอผลกระทบจากโควิดระบาด ทำให้ลูกค้าน้อยลง รายได้จึงลดลง แต่อ้วนกับรุ่งก็ตัดสินใจพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการเพิ่มอาชีพอีก 1 อาชีพ คือ เปิดร้านขายส้มตำและอาหารอีสาน “แซ่บดีเนาะ” โดยรุ่งรับผิดชอบในส่วนของซักอบรีดเป็นหลัก ขณะที่อ้วนดูแลร้านส้มตำ ซึ่งทั้ง 2 ร้านอยู่ที่เดียวกัน แต่แบ่งพื้นที่คนละครึ่ง งานบางส่วน อ้วนก็ช่วยรุ่งบ้าง เช่น ช่วยตากผ้า ไปส่งผ้าที่รีดแล้วให้ลูกค้า ฯลฯ ขณะที่รุ่งก็ช่วยงานอ้วนบ้าง เช่น ช่วยสับมะละกอ จัดข้าวเหนียวใส่ถุง รับออเดอร์ลูกค้า ฯลฯ
แม้ไม่ได้มีความพร้อมด้านฐานะ อีกทั้งมีข้อจำกัดด้านร่างกายที่ไม่สมประกอบทั้งคู่ แต่อ้วนและภรรยาก็ตัดสินใจมีลูก 1 คน หลังปรึกษาหมอแล้วว่า สามารถมีได้หรือไม่
“ก็ไปปรึกษาหมอ หมอบอกท้องได้ แต่ต้องดูแลดีๆ ผมก็กลับมาถามเขาดูว่า อุ้มท้องได้ไหม เพราะมันลำบาก เขาพิการขาทั้งสองข้าง พอเขาบอกว่า ได้ ผมก็บอก ถ้าได้ผมก็ดูแลได้หมดทั้งสองคน”
ถึงวันนี้ “ข้าวเปลือก” ลูกชายของอ้วนและรุ่ง อายุ 20 ปีแล้ว ที่ผ่านมา พ่อกับแม่ไม่เพียงทุ่มเททำงานเพื่อส่งเสียให้ลูกเรียนในสิ่งที่ลูกชอบ แต่ยังเสริมสร้างทักษะและความแข็งแรงให้กับลูกด้วย ทำให้ลูกมีความสามารถด้านกีฬาหลายชนิด ทั้งไตรกีฬา (ว่ายน้ำ-ปั่นจักรยาน-วิ่ง) และปัญจกีฬา (ยิงปืนสั้น-ฟันดาบ-ว่ายน้ำ-ขี่ม้า-วิ่ง) จนเป็นนักกีฬาทีมชาติ
และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ลูกชายตัดสินใจสอบทหาร “ตอนนี้ข้าวเปลือกเรียนอยู่ รร.ชุมพลทหารเรือ ถ้าเรียนจบ ก็จะติดยศจ่าตรีเลย อยู่ที่สัตหีบ ทำงานที่นั่น ...เขาตัดสินใจมาเป็นทหาร เพราะอยากมีความมั่นคงให้กับพ่อแม่ อยากให้พ่อแม่ได้รักษาพยาบาลโดยการใช้สิทธิของเขาเบิก ภูมิใจกับลูกมากๆ”
สำหรับพ่อกับแม่แล้ว ลูกคือของขวัญที่มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด “ลูกเป็นของขวัญชิ้นหนึ่งที่ยิ่งใหญ่... เขาเป็นของขวัญชิ้นเอกของเราทั้งสองคนเลย เขาเป็นคนที่ตั้งใจมุ่งมั่น อยากให้เขาก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ”
ขณะที่ “กาญจนา บรรจงรักษา” เพื่อนบ้าน ยอมรับว่า รู้สึกชื่นชมในความสู้ชีวิตของอ้วนกับภรรยามากๆ แม้พิการ ยังสามารถเลี้ยงลูกได้ดีถึงเพียงนี้
“เขาเป็นคนสู้ชีวิต เขาทำมาหากินไม่เบียดเบียนใคร และดูดีมาก ดูแลลูกดีด้วย ซึ่งคนปกติก็ไม่สามารถดูแลเท่าเขาได้ เท่าที่พี่เห็นนะ ดูดี สู้มากเลย และลูกไม่มีปัญหาเลยนะ เรายังนึกปลื้มใจนะว่า โอ๊ย ขนาดเขาพิการทั้งคู่ เขายังดูแลลูกได้ดีขนาดนี้ รู้สึกปลื้มใจแทนเขา”
หากท่านใดต้องการใช้บริการซักอบรีดหรืออุดหนุนส้มตำของอ้วนและรุ่ง ติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ก “แซ่บดีเนาะby.นายอ้วน” หรือโทรไปได้ที่ 098- 435-2231