มจธ.พัฒนาทักษะคนพิการ สร้างอาชีพ และสร้างความเท่าเทียมในสังคม
ทางเลือกของสถานประกอบการที่มีพนักงานหรือลูกจ้าง 100 คนขึ้นไปส่วนใหญ่ คือการนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา 34 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 แทนการรับคนพิการมาเป็นพนักงาน ตามมาตรา 33 ซึ่งเงินภายใต้การบริการของกองทุนจะถูกนำไปเป็นเงินกู้ให้กับคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ เพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพหรือขยายกิจการ หรือทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดการจ้างงานคนพิการ มากกว่ามุ่งให้เกิดการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการเป็นจำนวนที่มากขึ้น
จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า “มีวิธีการอื่นใด ที่จะทำให้หน่วยงานนั้นๆ เห็นผลลัพธ์หรือความสำเร็จของเงินที่บริษัทต้องจ่าย มากกว่าการเข้ากองทุนฯ” และ “มีวิธีการใดบ้างที่จะทำให้คนพิการสามารถทำงานในสถานประกอบการได้ทัดเทียมคนทั่วไป” อันเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “ฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในถานประกอบการ” ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เมื่อปี 2557
“โครงการนี้เป็นการพัฒนาหลักสูตรที่จะทำให้คนพิการได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพด้านการประกอบอาชีพที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ มีทักษะ ความรู้ ที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน ได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการนำเงินที่แต่ละหน่วยงานหรือแต่ละบริษัทต้องส่งกองทุนฯ ทดแทนการจ้างงานคนพิการ (ปัจจุบัน 119,720 บาท/คน/ปี) มาเป็นงบประมาณในการทำโครงการในแต่ละรุ่น โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้สนับสนุนในด้านสถานที่ บุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งถึงปัจจุบันได้มีการดำเนินการมาแล้ว 10 รุ่น” อาจารย์สุชาติ เพริดพริ้ง ที่ปรึกษาอธิการบดี มจธ. และหนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการนี้เมื่อ 10 ปีก่อน กล่าวถึงความเป็นมา
นายธนะศักดิ์ ทวนทอง ในฐานะผู้จัดการโครงการฯกล่าวว่า เนื่องจากคนพิการแต่ละคนจะมีพื้นฐานที่แตกต่างกันทั้งความรู้และความคิด นอกเหนือจากทักษะด้านอาชีพแล้ว การพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นหลักสูตร 600 ชั่วโมงนี้ จึงเริ่มจากการฝึกอบรมพื้นฐาน ที่มีทั้งการพัฒนาทักษะทางสังคม การมีส่วนร่วม ความรู้พื้นฐานต่างๆ ในช่วง 2 เดือนแรก ก่อนที่จะเข้าสู่การฝึกอบรมด้านวิชาชีพในเดือนที่ 3-4 และการฝึกงานหรือการทำโครงงานในช่วง 2 เดือนสุดท้าย รวมระยะเวลาหลักสูตรรุ่นละ 6 เดือน
คุณภัชรา โพธิ์สิงห์ ผู้เข้ารับการอบรมในโครงการฯในปีที่ 2 (พ.ศ.2558) และปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การได้เข้าโครงการนี้เป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนของชีวิตตนเอง
“ในตัวหลักสูตร จะมีทั้งการเรียนในห้องและนอกห้อง การบ้านหรืองานที่ครูแต่ละคนมอบหมาย รวมถึงการไปทัศนศึกษานอกสถานที่ ได้ทำให้พวกเราที่มีความพิการแตกต่างกัน มีความรู้พื้นฐานไม่เท่ากัน ต้องมาเรียนรู้ซึ่งกันและกันว่าเพื่อนคนไหนทำอะไรได้หรือไม่ได้ เกิดการเติมเต็มหรือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งตอนไปฝึกงานและโดยเฉพาะตอนได้เข้าไปทำงานจริงที่ กฟผ. ซึ่งทักษะที่ได้จากการอบรม ทำให้ปัจจุบันได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านการจัดซื้อจัดจ้าง”
อาจารย์สุชาติ กล่าวว่า หนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญของโครงการ “ฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ” ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่ตอนนี้มีหลักสูตรฝึกอบรมถึง 4 หลักสูตร คือ หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน หลักสูตรการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัล หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น และหลักสูตรอาชีพด้านประสาทสัมผัส คือการยอมรับจากหน่วยงานและสถานประกอบการต่างๆ ที่ทำให้มีคนพิการที่ผ่านการอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน ได้รับการบรรจุเข้าทำงานในหน่วยงานหรือสถานประกอบการถึงเกือบร้อยละ 50
“หากแนวคิดและโมเดลของการพัฒนาทักษะอาชีพคนพิการ ของ มจธ. ที่ดำเนินการภายใต้มาตรา 35 ได้รับการสื่อสารและต่อยอดขยายผลไปสู่สถาบันการศึกษารวมถึงหน่วยงานฝึกอบรมอาชีพต่างๆ อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง นอกจากจะช่วยให้เกิดการจ้างงานคนพิการมากขึ้นแล้ว ยังนำไปสู่การยอมรับในการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมของคนในสังคมได้อีกด้วย” อาจารย์สุชาติ กล่าว
คุณภัชรา กล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากฝากถึงคนพิการทุกท่านว่า ทุกคนมีศักยภาพในตัวเองที่จะทำงานและเติบโตในสังคมได้ เพียงแต่จะต้องกล้าก้าวออกมาใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับคนอื่นๆ ซึ่งโครงการนี้สามารถเป็นประตูบานแรกให้กับทุกคนได้จริง”
และโอกาสครบรอบ 10 ปีในปีนี้ มจธ. จึงได้จัดงาน “ครบรอบ 10 ปี โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. เติม…เต็ม Empower” ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) ในวันศุกร์ที่ 27 ต.ค. 66 และสามารถติดตามการถ่ายทอดสดได้ที่ facebook.com/PWDsK.MUTT2564
ส่งข่าวได้ที่ email : saowaporn12345@gmail.com และ bat_mamsao@yahoo.com