ช้าของทุกวัน ประตูร้าน ‘Dots Coffee’ จะเปิดให้บริการ
พนักงานหนุ่มสาวส่วนหนึ่งยืนเตรียมพร้อมหลังเคาน์เตอร์บาร์ อีกส่วนอยู่ด้านหลังคอยจัดการ Operation ต่าง ๆ
มองเผิน ๆ นี่คือร้านกาแฟอีกร้านหนึ่ง แต่ถ้าดูดี ๆ เราจะเห็นความมุ่งมั่น ความหวัง และพลังที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่ในนั้น
กาวิน ควงปาริชาติ คือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Dots Coffee ความตั้งใจของเขาคือการสร้างโอกาสให้ผู้พิการทางสายตา ไม่ใช่แค่ให้มีงานที่มั่นคง แต่ต้องการเปลี่ยนภาพจำและมุมมองของคนทั่วไปที่มีต่อพวกเขาด้วย
ร้านกาแฟแห่งนี้จึงไม่ได้มาเล่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ ขนม หรือเมนูอื่น ๆ ต่างคัดสรรมาอย่างดีเยี่ยม เพราะกาวินบอกว่า นี่คือธุรกิจ ธุรกิจที่ต้องมีรายได้ ค่าใช้จ่าย มีกำไร ขาดทุน มีการขายการตลาด มีการบริการ การจัดการบริหาร การซื้อใจ การรักษาลูกค้าไว้ และจะอยู่รอดเพราะเหตุผลทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพราะความสงสารอยากช่วยเหลือผู้พิการอย่างที่ผ่านมา
Made in the USA. Thrive in Bangkok.
“ผมน่าจะเหมือนคนอเมริกันมากกว่าคนไทย” เขาบอกเราเมื่อเริ่มต้นบทสนทนา
กาวินเกิดและโตที่สหรัฐฯ ถึงไม่ต้องบอกก็พอเดาได้จากสำเนียงการพูดคำภาษาอังกฤษ รวมไปถึงวิธีการที่เขาใช้สื่อสารกับพนักงานในร้านกันเอง ตรงไปตรงมา และไม่มีลำดับขั้น แม้เขาจะเป็นถึงเจ้าของร้าน ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยเขาสนใจประเด็นสังคมมาโดยตลอด เคยไปเป็นอาสาสมัครรับหน้าที่เป็น Program Manager ตอนนั้นเป็นโครงการช่วยเหลือกลุ่ม Hispanic Community ที่ต้องเชื่อมโยงระหว่างโครงการ มหาวิทยาลัย และองค์กรสาธารณสุข
“ตอนนั้นเราทำไม่สำเร็จ สุดท้ายเราไม่ได้รับความร่วมมือจากบางกลุ่ม แต่มาคิดอีกที ผมน่าจะพยายามมากกว่านั้น ไม่ควรทิ้งไปง่าย ๆ พอหุ้นส่วนมาชวนเปิดร้านนี้เลยไม่ลังเล”
หลังเรียนจบสาขา Material Science and Engineering กาวินกลับมาประเทศไทยเพื่อทำงานกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ย้ายไปทำงาน NGO ก่อนจะกลับไปเรียนต่อ MBA ที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างนั้น Julien Wallet-Houget เจ้าของ Dine In the Dark (DID) และเพื่อนที่รู้จักกันมานานก็ชวนมาเปิดร้านกาแฟแห่งนี้
Dine In the Dark Model
ย้อนไปในปี 2012 หลายคนอาจจำร้านอาหารคอนเซปต์แปลกใหม่ คือการนั่งทานในร้านมืด ๆ โดยมีผู้พิการทางสายตาเป็นผู้ให้บริการในร้าน ความตั้งใจแรกมี 2 อย่าง
หนึ่ง ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีร้านอาหารเชิงคอนเซปต์ และคอนเซปต์นี้ก็ได้รับความนิยมในต่างประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์
สอง ช่วยเปิดโอกาสในการจ้างงานผู้พิการทางสายตาในตำแหน่งงานที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้เห็น อย่างการเป็นพนักงานบริกรให้บริการหน้าร้าน
Dine In the Dark ได้รับความสนใจอย่างมากในตอนนั้น แต่ทำไปทำมาเขาก็เจอกับข้อจำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ไอเดียของ Dots Coffee เติบโตขึ้นมา
ข้อจำกัดข้อแรก คือการเข้าถึง ร้านอยู่ในโรงแรม 5 ดาว ราคาอาหารหลักพัน นั่นแปลว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีกำลังมาทานอาหารที่ร้านได้ ความสามารถของผู้พิการทางสายตาที่เขาตั้งใจอยากให้คนทั่วไปเห็นก็อาจจำกัดแค่คนกลุ่มหนึ่ง
ข้อจำกัดที่ 2 คือคอนเซปต์ของร้าน ร้านอาหารแบบนี้ขยายสาขาไม่ได้ เพราะมีคอนเซปต์ชัดเจน คนที่มาก็อาจจะมาแค่ครั้งเดียว ซึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนมุมมองต่อคนพิการ
และมาถึงข้อจำกัดที่ 3 เมื่อขยายไม่ได้ในเชิงธุรกิจ ก็ไม่มีช่องทางการทำงานให้ผู้พิการทางสายตาเพิ่มขึ้น ไม่มี Career Path ให้กับเขา
Connecting Dot to Dot
เมื่อนำข้อจำกัดทั้ง 3 มากางไว้บนโต๊ะจึงเกิดเป็น Dots Coffee ซึ่งตอบโจทย์ที่เคยมีทั้ง 3 ข้อได้อย่างลงตัว
ร้านกาแฟคือธุรกิจสำหรับทุกคน เป็นสินค้าที่เข้าถึงใครก็ได้ในราคาที่ซื้อได้ทุกวันจนกลายเป็นลูกค้าประจำ พนักงานที่เป็นผู้พิการทางสายตาทำงานหน้าร้าน ไม่ใช่ห้องดินเนอร์มืด ๆ ทำให้ลูกค้าได้เห็นการทำงานจริงจนเป็นเรื่องปกติ ที่สำคัญ ร้านกาแฟยังขยายสาขาได้เรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มตำแหน่งงานให้มากที่สุด
แม้จะมีเงื่อนไขในทรัพยากรบุคคลแบบนี้ แต่เชื่อไหมว่าสิ่งแรกที่กาวินทำหลังจากตัดสินใจร่วมเปิดร้าน ไม่ใช่การวางแผน Operation หรือ Training พนักงาน แต่เป็นการลงรายละเอียดเรื่องโปรดักต์
“คิดเหมือนธุรกิจทั่วไปเลยนี่คะ” เราถาม
“ใช่ครับ เราคิดเรื่องโปรดักต์ เรื่องภาพลักษณ์ของร้านก่อนเลย เพราะสิ่งเหล่านี้จะกระทบกับมุมมองที่คนมีต่อพนักงานของเรา ยกตัวอย่างนะ คนจะมีภาพจำว่าคนตาบอดชอบทำของมาขาย แล้วของที่ขายก็ไม่ได้มีคุณภาพอะไร เขาไม่ได้ขายสินค้า แต่เขาขายความเห็นใจ สุดท้ายมันก็ไม่ใช่ธุรกิจ มันคือการบริจาคอยู่ดี
“เราไม่อยากให้ร้านนี้เป็นแบบนั้น อยากลบภาพจำที่คนมี อยากยกระดับน้อง ๆ พนักงานว่าเขาก็ทำงานที่มีคุณภาพในร้านที่ดี ขายของดี ๆ เขาใช้ทักษะในการทำงานนี้ได้”
กาวินได้ผู้มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมกาแฟมาเป็นผู้จัดการร้าน ได้มือคั่วกาแฟการันตี Q Grader จากเชียงรายมาคั่วกาแฟให้ การรับสมัครพนักงานก็มีคุณจูเลี่ยนซึ่งเคยทำ DID มาก่อนคอยจัดการ ส่วนเรื่อง Operation หน้าร้าน กาวินบอกว่าเขาทำงานร่วมกับพนักงานผู้พิการในการออกแบบ แต่ไม่ใช่ออกแบบใหม่ทั้งหมด
“เรายังยึดมาตรฐานของการทำร้านกาแฟ เอาหลักการมาตั้งแล้วลองให้น้องรุ่นแรกทำงาน มันไม่ใช่การถามเขาเลยว่า ต้องการให้ร้านเป็นแบบไหน เพราะเขาเองก็คงตอบไม่ได้ แต่เราทำร้านให้เป็นมาตรฐาน บอกเขาว่าเป้าหมายที่ต้องการคืออะไร แล้วให้เขาลองทำดู พอลองทำแล้วคิดเห็นยังไง มาปรับแก้กัน ซึ่งทุกวันนี้มันก็ยังเป็น Work in Process ยังปรับเปลี่ยนได้เรื่อย ๆ”
ที่ร้านของ Dots Coffee ไม่ได้สั่งเฟอร์นิเจอร์ออกแบบพิเศษ ไม่มีเครื่องมือที่ทำขึ้นมาเพื่อคนพิการทางสายตาโดยเฉพาะ เคล็ดลับที่กาวินเรียนรู้หลังจากทำร้านมา 6 ปี คือแค่ต้องวางทุกอย่างให้เป็นระเบียบ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทุกร้านควรทำอยู่แล้ว นอกจากนี้ก็แค่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานให้ดีขึ้น เช่น ใช้หัวปั๊มสำหรับวัตถุดิบของเหลว เพราะมันวัดปริมาณได้แม่นยำกว่าการเท การเลือกใช้เครื่องสตีมอัตโนมัติ มีการติดอักษรเบรลล์บนสิ่งของบางอย่าง
“เราไม่อยากให้ลูกค้าเข้ามาใน Dots Coffee แล้วรู้สึกว่าเราต้องออกแบบทำทุกอย่างพิเศษขึ้นมาเพื่อให้คนพิการทำงานได้จริง” เขายิ้ม
The Big Impact
มาถึงตรงนี้ เราคิดว่าเป้าหมายของ Dots Coffee และกาวิน ไม่ใช่แค่สร้างงานสร้างอาชีพหรือเปลี่ยนมุมมองของลูกค้าที่มีต่อผู้พิการทางสายตาแล้ว แต่เป็นการสร้างอิมแพกต์ทางสังคมที่ถ้าทำสำเร็จ เราคงเห็นโอกาสอีกมากมายเกิดขึ้น
“เราอยากเปลี่ยนมุมมองของสังคม โดยเฉพาะนายจ้างองค์กรหรือบริษัทต่าง ๆ ที่อาจจะมีตำแหน่งสำหรับเขา แต่ไม่เคยคิดว่าจะจ้างเขาได้ มันเลยเป็นเหตุผลที่ร้านนี้ดำเนินการแบบ Social Enterprise คือต้องมีกำไร ธุรกิจจึงไปต่อได้ เราตั้งมาตรฐานของพนักงานพิการเทียบเท่ากับพนักงานทั่วไป เราจะไม่ให้ความบกพร่องของเขามาเป็นข้ออ้างที่จะทำงานช้าหรือไม่ได้คุณภาพ
“ทุกวันนี้เวลาไปออกบูท ลูกค้าไม่รู้ด้วยซ้ำถ้าเขาไม่รู้จักร้านเรามาก่อน ข้อดีคือเราทำให้เขาเห็นว่าผู้บกพร่องทางสายตาก็ทำงานได้เหมือนคนปกติ แต่ข้อเสียก็อาจจะไม่ได้สร้างการรับรู้แบบที่อยากให้เป็น”
ปัจจุบัน Dots Coffee มี 2 สาขาบนถนนวิทยุและที่ KX Knowledge Xchange ตรง BTS สถานีวงเวียนใหญ่ นอกจากนี้ก็มีบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่
เรื่องระบบการทำงานหรือ Workflow ค่อนข้างลงตัวแล้วเพราะผ่านการสอนมาถึง 4 รุ่น พนักงานทั้งหมดมีมากกว่า 30 คน แต่เรื่อง Soft Skills ยังเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่ต้องเข้าไปช่วยพนักงาน
“เขาไม่ได้โตมาในสังคมที่มองว่าเขาสมบูรณ์ ไม่มีใครคิดว่าเขาจะทำงานได้จริง งานที่เขามีเลยไม่มีการสอนเรื่องทีมเวิร์ก การคิดระยะยาว หรือวิธีแก้ปัญหา ไปจนถึง Self-advocacy ที่ไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิในการทำงาน แต่รวมไปถึงเป้าหมาย เราทำงานไปเพื่ออะไร”
ที่ Dots Coffee น้อง ๆ พนักงานคือทุกอย่างในร้าน เป็นจิตวิญญาณ เป็นคนขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างรายได้ ทุกคนต้องมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบ วิธีการของกาวินก็เหมือนการทำธุรกิจอื่น ๆ ต้องคุยกันให้ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน
นี่คือธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับธุรกิจอื่น ๆ หน้าที่ของเขาสำคัญยังไง ถ้าเขาทำสำเร็จ มันจะไม่ได้ส่งผลดีแค่ต่อตัวเอง แต่ส่งผลกับเพื่อน ๆ กับคู่ค้าที่ทำธุรกิจร่วมกันด้วย
แต่เรื่องนี้ไม่ง่ายเลย เขาบอกว่าการจะทำให้ชีวิตคนคนหนึ่งดีขึ้น เราต้องเข้าใจชีวิตเขาก่อน
“ทำไมต้องมาทำงานหนัก” บางทีเขาจะเปรียบเทียบ “ถ้าไม่ทำงานเลย เขาอาจจะได้รับเงินสวัสดิการจากรัฐ หรือมีอาชีพโควตาอย่างเปิดหมวก ขายลอตเตอรี่ หรืองานนวดที่บริษัทจ้างตามกฎหมาย อาจจะให้เข้ามาทำแค่สัปดาห์ละครั้ง ว่ากันตามตรงมันสบายกว่ามาเปิดร้านแต่เช้า ทำงาน 8 ชั่วโมง แถมต้องมีความรับผิดชอบ
“เราจึงต้องทำให้เขาเห็นว่าการทำงานที่นี่แตกต่าง ผมพูดเสมอว่าทุกคนมีทางเลือก และไม่ใช่ว่า Dots Coffee ดีกว่า แต่คุณต้องรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ทำงานเปิดหมวกมั่นคงไหม ขายลอตเตอรี่มั่นคงไหม ที่ผ่านมาก็ผิดหวังบ้าง หลายคนลาออกไป เพราะสุดท้ายถามว่าทุกคนอยากเป็นบาริสต้าไหม ก็อาจจะไม่
“ผมเลยไม่เคยบอกว่า อย่าลาออก อยู่ที่นี่ดีกว่า แต่ก่อนตัดสินใจอยากให้คิดก่อนว่ามันแตกต่างกันยังไง แล้วตัดสินใจเอง”
การบริหาร Dots Coffee ของกาวินเป็นสไตล์บริษัทอเมริกัน เปิดอกคุยกันตรงไปตรงมา ยิ่งเป็นปัญหาที่คนไม่กล้าแตะ ยิ่งต้องพูดให้เข้าใจ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะไม่ได้รับการแก้ไข
Dream Destination
“สุดท้าย เราหวังว่า Dots Coffee จะทำให้เกิดการจ้างงานที่เท่าเทียม”
นั่นคือเป้าหมายที่แท้จริงของร้านกาแฟขนาด 1 คูหาแห่งนี้ ฟังดูใหญ่ แต่ถามว่าเกินตัวไหม ด้วยความตั้งใจของกาวินและอิมแพกต์ที่เขาเริ่มสร้างได้ แม้จะทีละก้าวเล็ก ๆ คงต้องตอบว่าไม่เกินตัว
มันอาจจะไม่ได้เปลี่ยนสังคมจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ในหลัก 5 หรือแม้กระทั่ง 10 ปี แต่อย่างน้อยสิ่งที่เขาทำอาจจะไปสะกิดใจผู้ประกอบการหรือผู้บริหารบางคนในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้น
เหมือนที่เขาเล่าไปแล้วว่าร้านนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อจ้างผู้พิการทางสายตาให้เขามีงานทำ แต่เป็นโมเดลตั้งต้นที่กระตุ้นให้สังคมเห็นศักยภาพของพวกเขาที่อาจมีไม่น้อยไปกว่าเรา ๆ เมื่อมีโอกาสในตลาดงานมากขึ้น ก็จะส่งผลกลับไปที่การศึกษาที่ต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เก็บเกี่ยวความรู้เพื่อเตรียมตัวสู่การทำงานจริง รวมไปถึงเป็นแรงผลักดันให้ผู้พิการรุ่นใหม่มีแรงจูงใจในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง
“อาจจะมีบางตำแหน่งที่ทำไม่ได้จริง ๆ ด้วยข้อจำกัด เช่น ขับรถไม่ได้ แต่ตำแหน่งมีอีกมากมายที่เขาทำได้ Dots Coffee ไม่ใช่โมเดลต้นแบบสำหรับระยะยาว เพราะเราก็ยังแบ่งแยก เลือกจ้างเฉพาะผู้พิการอยู่ เป้าหมายจริง ๆ คือเราอยากเห็นเขาได้ทำงานร่วมกับคนทั่วไป
“จากข้อมูลของ UNICEF ประเทศไทยมีผู้พิการทางสายตา 500,000 คน ถ้าองค์กรแค่ตั้งตำแหน่งขึ้นมาเพื่อรับรองเขา ยังไงก็จะมีตำแหน่งงานไม่พอสำหรับคนส่วนใหญ่ สุดท้ายแล้วเขาก็ต้องหางานเหมือนคนทั่วไปได้ เข้าระบบคนทั่วไปได้ แข่งขันกันในบางตำแหน่งกับคนทั่วไปได้”
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพิ่งมีพนักงานของกาวินเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการร้าน อีก 2 คนได้เป็น Supervisor
“หลายคนสงสัยว่า ถ้าเขามองไม่เห็น เขาจะตรวจสอบเงินได้ยังไง ผมถามกลับ นี่คือทักษะที่สำคัญที่สุดในการเป็นผู้จัดการร้านแล้วเหรอ ผู้จัดการต้องบริหารทีม บริหารคน ต้องจัดการเรื่องต่าง ๆ ในร้าน งานที่ต้องใช้การมองเห็นเราก็ให้คนอื่นมาช่วยได้ มันไม่ควรเป็นข้อจำกัดเพดานอาชีพของเขา
“บางตำแหน่งใช้มันสมอง ซึ่งเขาก็มีเหมือนกับเรา”
ขอบคุณ... https://readthecloud.co/dots-coffee/