ยิ้มสู้คาเฟ่ พนักงานหูหนวกชงกาแฟ-เสิร์ฟให้ สาขาใหม่ คณะนิติ มธ.
ภายในร้านกาแฟแห่งหนึ่งย่านปิ่นเกล้า พนักงานคนหนึ่งยิ้มให้ลูกค้าที่เดินเข้ามาอย่างสุภาพ เธอชี้ไปยังป้ายแผ่นหนึ่งที่ตั้งอยู่บนเคาน์เตอร์
“พนักงานหูหนวกยินดีให้บริการค่ะ โปรดสั่งอาหารและเครื่องดื่มโดยการชี้เมนู”
เป็นเวลาเกือบสองปีแล้วที่มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการผุดไอเดียเปิดร้านกาแฟและอาหารชื่อ “ยิ้มสู้ คาเฟ่” โดยมีพนักงานในร้านเป็นคนพิการ และเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ยิ้มสู้คาเฟ่ได้ขยายเพิ่มอีกหนึ่งสาขาไปยังตึกเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผู้สื่อข่าวจึงได้แวะเข้าไปเยี่ยมเยียนคาเฟ่ทั้งสองสาขาเพื่อพูดคุยกับพนักงานร้าน และอีกหนึ่งคนที่ลืมไม่ได้คือ ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้ก่อตั้งร้านและประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ คุณวิริยะเดินออกมาพร้อมไม้เท้าคู่ใจตามเวลานัด
คุณวิริยะเป็นผู้พิการทางสายตา ตอนวัยรุ่นเขาประสบอุบัติเหตุจนทำให้ดวงตาของเขาบอดสนิททั้งสองข้าง หลายคนอาจเคยคุ้นชื่อของเขาในฐานะอาจารย์คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณวิริยะเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเองว่า เขาตัดสินใจเปิดร้านยิ้มสู้คาเฟ่ในช่วงปลายปี 2559 โดยปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่างของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการให้เป็นร้านกาแฟและอาหาร ส่วนชื่อของร้านนั้น อาจารย์กล่าวว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานให้เป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้พิการทางสายตา
ส่วนแนวคิดของการเปิดร้านนั้นมาจากสถิติข้อมูลของคนพิการวัยทำงานในประเทศไทย คุณวิริยะกล่าวว่าตอนนี้ตัวเลขคนพิการในวัยทำงานทั้งประเทศมีจำนวน 7 แสนคน แต่มีงานทำจริง ๆ 1 แสนกว่าคนเท่านั้น
ตามพ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปีพ.ศ. 2550 องค์กรภาครัฐและเอกชนทุกแห่งต้องจ้างงานคนพิการ ในอัตราคนพิการ 1 คนต่อลูกจ้างทั่วไป 100 คน ซึ่งองค์กรที่ปฏิบัติตามจะได้รับการลดหย่อนภาษี
หากไม่ยอมจ้างคนพิการตามที่กำหนด องค์กรนั้นๆ จะต้องบริจาคให้กับกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
“จริงอยู่ เรามีกฎหมายให้นายจ้างจ้างคนพิการ 1 คนต่อลูกจ้างทั่วไป 100 คน แต่มันก็จะทำให้จ้างคนพิการได้อย่างเก่ง 4 หมื่นคนเท่านั้น” คุณวิริยะกล่าว
“สิทธิคนพิการมีในกระดาษ เงินมีอยู่ในกองทุน แต่มันไม่มีหน่วยบริการเอาเงินมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนพิการ สิทธิมันก็ไม่เป็นจริง เพราะฉะนั้นฝรั่งเขาจึงรณรงค์เรื่อง make the right real คือการทำสิทธิให้เป็นจริง ทีนี้ การจะทำให้สิทธิเป็นจริงได้ หน่วยบริการมันต้องมี”
ด้วยแนวคิดเช่นนี้เอง โครงการฝึกอบรมอาชีพอิสระสำหรับผู้พิการและครอบครัวแบบครบวงจรยั่งยืน จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้คนพิการและครอบครัวได้ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ จนสามารถประกอบอาชีพได้ในชีวิตจริง
คุณวิริยะยกตัวอย่างว่า ถ้าเป็นในเมืองจะเน้นอาชีพให้บริการด้านอาหารและกาแฟ ส่วนในพื้นที่ชนบทนั้นจะเน้นอาชีพเพาะเห็ด ฟาร์มจิ้งหรีด ฯลฯ
นอกจากนี้ คุณวิริยะยังมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนทัศนคติด้านลบของคนไทยส่วนใหญ่ที่มีต่อผู้พิการอีกด้วย
“ปัญหาใหญ่คือความเชื่อของสังคมไทย ที่เชื่อว่าคนพิการไม่มีความสามารถ คนพิการเป็นเวรกรรม ต้องก้มหน้าชดใช้กรรม พ่อแม่ก็เชื่อเช่นเดียวกัน ก็ไม่ให้ลูกลำบาก ก็ให้ลูกอยู่ที่บ้าน เลี้ยงดูกันต่อไป เราต้องเปลี่ยนตรงนี้”
ต่างจากหลาย ๆ องค์กรที่คำนึงถึงวุฒิการศึกษาและบุคลิกหน้าตาของลูกจ้างคนพิการเป็นหลัก ยิ้มสู้คาเฟ่นั้นรับสมัครพนักงานโดยไม่คำนึงถึงวุฒิการศึกษา อายุ เพศ วัยและบุคลิกหน้า โดยให้เงินเดือนเดือนละ 12,000 บาท
ชุตินันท์ ภูพวก หรือ เบนซ์ อายุ 20 ปี พนักงานประจำร้านยิ้มสู้สาขาอรุณอมรินทร์ ได้พูดคุยผ่านเครื่องมือแปลภาษามือที่ติดตั้งอยู่ภายในร้าน โดยเธอทำภาษามือเล่าให้ฟังว่าทราบถึงตำแหน่งพนักงานที่ร้านดังกล่าวผ่านเพื่อนคนหูดี ส่วนในการทำงานนั้น อาจจะมีการสื่อสารที่ติดขัดบ้าง แต่ก็โชคดีที่มีล่ามคอยช่วยเหลือ ซึ่งเธอก็ตั้งใจจะเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตรงนี้ให้มากที่สุด
ห่างไกลออกไปไม่กี่กิโลเมตร ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีร้านกาแฟเปิดใหม่อยู่ใต้ตึกคณะนิติศาสตร์ แม้ยิ้มสู้คาเฟ่สาขานี้จะเล็กลงไปอย่างถนัดตาเมื่อเทียบกับสาขาแรก แต่บรรดานักศึกษาและคณาจารย์กลับเดินเข้ามาอุดหนุนซื้อเครื่องดื่มและขนมอย่างแน่นขนัด โดยเฉพาะในช่วงพักกลางวันและเลิกคลาสเรียน
บนเคาน์เตอร์ของร้านมีแผ่นกระดาษแปะอยู่ 5 แผ่นเขียนกำกับไว้ว่า “หวานมาก” “ปกติ” “หวานน้อย” “ไม่ใส่น้ำตาล” และ “เพิ่มวิปปิ้งครีม 10 บาท”
ภายในร้านมีพนักงานผู้พิการทางการได้ยินสองคน กัญญาพร สูงเจริญ หรือเจมส์ อายุ 22 ปีนั้นเป็นผู้พิการตั้งแต่กำเนิด ส่วน กัลยรักษ์ เอื้ออนันต์ชัย หรือน้ำเพชร อายุ 19 ปี สวมเครื่องช่วยฟัง ทำให้สามารถได้ยินและพูดคุยกับลูกค้าได้บ้าง
น้ำเพชรเล่าให้ฟังว่าเธอทำงานที่ร้านมาได้ร่วม 3 เดือนแล้ว โดยเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย วันจันทร์ถึงศุกร์เธอจะประจำอยู่ที่ร้าน ทำหน้าที่ตั้งแต่บาริสต้าไปจนถึงแคชเชียร์ ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์เป็นนักเรียนคณะบริหารที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
นอกจากคอมพิวเตอร์และแผ่นกระดาษที่ช่วยในการสื่อสารระหว่างลูกค้ากับพนักงานแล้ว ในอนาคต ยิ้มสู้คาเฟ่จะมีแผ่นภาษามือเป็นเล่ม ๆ วางไว้ที่เคาน์เตอร์อีกด้วย
“ลูกค้าจะได้รู้ว่าจะสั่ง ‘หวานน้อย’ ต้องทำท่ายังไง” คุณวิริยะกล่าวก่อนหัวเราะอย่างอารมณ์ดี “จะได้เป็นกิมมิคของร้านไปด้วย”
ปัจจุบัน ยิ้มสู้คาเฟ่มีสองสาขาคือ สาขาซอยอรุณอมรินทร์ 39 (เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 7:30 – 18:00น.) และสาขามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (เปิดเวลา 7:30น. – 21:00น. วันจันทร์ถึงวันศุกร์ และเวลา 7:30น. – 18:00น. วันเสาร์และวันอาทิตย์)