กลุ่มผู้พิการล้อไม้เฟอร์นิเจอร์เดินหน้าด้วยไอเดีย

กลุ่มผู้พิการล้อไม้เฟอร์นิเจอร์เดินหน้าด้วยไอเดีย

ไทยพีบีเอสออนไลน์ร่วมพูดคุยเส้นทางการต่อสู้เพื่อสร้างอาชีพสำหรับผู้พิการโดยไม่ต้องใช้ความสงสารแต่ใช้ไอเดีย กับ "เกษราภรณ์ หลวงจันทร์" ผู้ก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนพิการบ้านทรัพย์สมบูรณ์ หรือ กลุ่มล้อไม้เฟอร์นิเจอร์ ที่ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

เริ่มต้นศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพผู้พิการได้อย่างไร ?

ตนเองไม่ได้พิการมาแต่กำเนิด แต่ประสบอุบัติเหตุเมื่อปี 2541 ขณะนั้นรู้สึกสิ้นหวัง ไม่ต้องการทำอะไร จนมาเจอจุดเปลี่ยน คือ มีโอกาสได้ชมโฆษณาตัวหนึ่ง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีเพื่อนคนหนึ่งถามว่า "มาช้าแค่นี้กินกันเหลือแค่ครึ่งแก้วแล้วหรือ?" อีกคนตอบกลับว่า "เหลือแค่ครึ่งแก้วอะไร นี่เหลือตั้งครึ่งแก้ว" ตอนนั้นเองที่ทำให้เริ่มคิด

“ก่อนที่จะพิการเราทำอะไรมาบ้าง เราเป็นผู้จัดการห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ถือว่าประสบความสำเร็จมาก แต่ตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ พอคิดได้ก็ตัดสินใจเอาเงินก้อนที่เก็บสะสมไว้มาลงทุนตั้งใจจะทำธุรกิจ โดยคุณหมอธารทิพย์ ชวนมาเข้าโครงการใกล้บ้านใกล้ใจซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มล้อไม้เฟอร์นิเจอร์”

เมื่อได้เข้าร่วมโครงการก็ได้พบเพื่อนผู้พิการที่นั่งวีลแชร์ ทำให้นึกถึงตัวเองที่นอนเป็นผู้ป่วยติดเตียงอยู่ 2 ปี ดวงตาเขาไม่มีความมั่นใจ ไม่มีความเชื่อมั่นจึงได้รวมกลุ่มผู้พิการที่นั่งวีลแชร์มาทำกลุ่มล้อไม้เฟอร์นิเจอร์ร่วมกัน เพราะต้องการฟื้นฟูสภาพจิตใจและสร้างอาชีพให้เขา

กลุ่มผู้พิการล้อไม้เฟอร์นิเจอร์เดินหน้าด้วยไอเดีย

กลุ่มล้อไม้เริ่มต้นด้วยสมาชิก 5 คน เมื่อมารวมตัวกันก็ตั้งเป้าให้แต่ละคนทำในสิ่งที่ชอบ แต่บางคนไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ และบางคนไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ทำไหม จึงได้มาคุยกัน แล้วพบว่า บางคนเคยเป็นช่างเฟอร์นิเจอร์ บางคนเคยเป็นช่างยนต์ จึงตัดสินใจให้เขาทำในสิ่งที่ชอบ

“เพราะเกษเชื่อว่าใครที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบก็จะเกิดพลังในตัวเอง ทำให้คิดว่าตัวเองก็ทำได้ไม่แพ้คนอื่นเหมือนกัน”

มีช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดไหม ?

ช่วงแรกที่ชวนเพื่อนมารวมกลุ่มทำงาน เนื่องจากมีการประชาสัมพันธ์ว่าจะมีหน่วยงานของรัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือ แต่ปีหนึ่งผ่านไปไม่มีสัญญาณตอบรับ "จากความหวัง กลายเป็นภาระ" น้องในกลุ่มมีอยู่ 4 คน กินข้าวคนละ 3 มื้อ และต้องหาเงินเดือนให้เขา เงินที่ตัวเองเก็บสะสมมาก็กำลังจะหมด คิดว่าคงไปต่อไม่ได้จึงตัดสินใจนั่งคุยกัน

“บอกเขาว่า พี่ไม่มีเงินเดือนให้ พี่ไม่มีค่าน้ำมันให้แล้วนะ ไม่มีข้าวสารให้แล้ว เราจะเอาอย่างไรกันต่อ พี่ไม่ไหวแล้ว เขาก็บอกว่า พี่เกษครับ อยู่ตรงนี้เรามีความสุข สบายใจดี เงินเดือนยังไม่เอาก่อนก็ได้ ช่วยกันทำก่อน เกษก็เลยคิดว่าน้องมันสู้ขนาดนี้เลยหรอ งั้นเราไปต่อ”

กลุ่มผู้พิการล้อไม้เฟอร์นิเจอร์เดินหน้าด้วยไอเดีย

จากนั้นจึงเริ่มนำสินค้าออกไปข้างนอก ไปร้านถ่ายรูป ถ่ายผลิตภัณฑ์ แล้วนำงาน นำรูปไปเสนอขายร้านต่างๆ ได้ 5 บาท 10 บาท ก็ทำหมด เพื่อเอาเงินมาซื้อข้าวให้น้องในกลุ่มม หลังจากนั้นสถานการณ์ก็เริ่มอยู่ได้ จนกระทั่งมีมาตรา 35 ขึ้นมา ก็ดีขึ้นมาก เริ่มขายเพื่อนๆ คนรู้จัก ต่อมาก็สร้างเพจเฟซบุ๊ก "งานฝีมือคนพิการบ้านทรัพย์สมบูรณ์" เป็นพื้นที่ลงผลงานและให้ผู้ที่สนใจสั่งซื้อได้ผ่านเฟซบุ๊กพร้อมมีบริการจัดส่งทั่วประเทศ

แผนพัฒนาศูนย์ส่งเสริมฯ ในอนาคต ?

งานในศูนย์ตรงนี้เป็นไปได้ด้วยดีแล้ว แต่ยังมีคนรู้จักสินค้าของกลุ่มล้อไม้เฟอร์นิเจอร์ไม่มากนัก ในอนาคตจึงวางแผนจะสร้างร้านค้านำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มล้อไม้และผลิตภัณฑ์จากผู้พิการทุกคนใน อ.อุบลรัตน์ ไปจัดแสดงโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายในพื้นที่ที่เอกชนมอบให้ตามมาตรา 35 เมื่อผู้คนผ่านไปมาสามารถเข้ามาเลือกซื้อสินค้าได้สะดวก

สำหรับผลิตภัณฑ์จากผู้พิการทั่ว อ.อุบลรัตน์ จะเปิดโอกาสให้วางจำหน่ายหน้าร้านได้แต่ต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และทีมงานกลุ่มล้อไม้เฟอร์นิเจอร์จะช่วยคิดรูปแบบการจำหน่ายสินค้าด้วย อย่างแตงโมจะไม่มีการนำมากองขาย แต่จะมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ใส่ ใครเห็นก็สนใจซื้อไปเป็นของฝาก

“เกษได้ขายกระเช้า ผู้พิการคนอื่นได้ขายแตงโม เพราะทุกวันนี้จะขายแต่ของไม่ได้ ต้องขายไอเดียและเกาะกระแสด้วย เราทำการตลาด ต้องมีเรื่องราว เกษจะไม่เอาคำว่า "กรุณา มาร์เก็ตติ้ง" มาใช้ ผู้พิการบางคนอาจจะชอบเอาความกรุณามาเป็นที่ตั้งนำการตลาด ซึ่งมันจะไม่ยั่งยืน คุณต้องทำสินค้าของคุณให้มีเรื่องราว มีไอเดียแล้วคุณจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

กลุ่มผู้พิการล้อไม้เฟอร์นิเจอร์เดินหน้าด้วยไอเดีย

สร้างไอเดียหรือเรื่องราวได้อย่างไร?

สำหรับงานเฟอร์นิเจอร์ของกลุ่มล้อไม้ต้องมีไอเดีย ดูเทรนด์ ความทันสมัย มีการใส่ดีไซน์ ในศูนย์ขณะนี้มีการพัฒนาสินค้าตัวใหม่อยู่ ชื่อว่า "ไข่ข้างเขื่อน" ซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้พิการที่มีแม่บ้านมาทำบัญชีออมทรัพย์ แล้วเขาเสนอให้ลองทำไข่เค็ม เมื่อเริ่มทำไข่เค็มขาย ก็มีคนมาซื้อใส่ถุงไปก็รู้สึกสงสารไข่ ที่เราทำมาตั้ง 1 เดือน เลยคิดว่าต้องมีแบรนด์ มีกล่องใส่ให้ดูดีไหม จึงเริ่มคิดชื่อโดยเอาคำว่าไข่เป็นที่ตั้ง แล้วแบรนด์ถ้ามี 2 พยางค์จะไม่สวย ลอง 3 พยางค์อาจจะดี เพราะ 4 พยางค์ยาวเกินไป คนอาจจะไม่อ่าน จึงตัดสินใจตั้งเป็น "ไข่ข้างเขื่อน" เพราะเราอยู่ข้างเขื่อน หรือสมัยนี้คนคุ้นหูกับคำย่อ เกษก็ได้คำย่อเป็น ขขข. หลังจากได้แบรนด์ก็เริ่มทำบรรจุภัณฑ์ พร้อมใส่เรื่องราว

กลุ่มผู้พิการล้อไม้เฟอร์นิเจอร์เดินหน้าด้วยไอเดีย

“เกษตั้งเป้าจะทำให้ไข่ข้างเขื่อน เป็นเหมือนไข่เค็มไชยา ถ้าใครไป อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี แล้วไม่ซื้อไข่เค็มไชยา แสดงว่าไปยังไม่ถึง เกษก็จะทำไข่ข้างเขื่อนให้คนมาเขื่อนอุบลรัตน์ถ้าไม่ซื้อไข่ข้างเขื่อนแสดงว่ามาไม่ถึง”

ขณะนี้เริ่มเปิดตลาดกับทางจังหวัดแล้ว เพื่อให้ซื้อเป็นของฝากให้แขกบ้านแขกเมือง ทางโรงพยาบาลอุบลรัตน์ก็ช่วยอุดหนุนไปเป็นของที่ระลึกสำหรับแขกโรงพยาบาลเช่นกัน แต่สิ่งสำคัญ คือ เราต้องมีเรื่องราวที่น่าสนใจด้วย เพราะไข่เค็มก็มีอยู่ทุกที่

ฝากถึงผู้พิการที่กำลังเริ่มต้นสร้างอาชีพ?

ผู้พิการบางคนมีความสามารถ แต่ไม่ค้นมันออกมา เพราะคิดว่าไม่ต้องการทำอะไรเอง

“บางคนคิดจะใช้ความพิการเป็นเครื่องต่อรอง หน่วยงานนั้นก็ช่วย หน่วยงานนี้ก็ช่วย ซึ่งคิดผิดตั้งแต่แรก อยากฝากผู้พิการทุกคนว่า เราลุกขึ้นมาทำอะไร ให้เป็นรูปธรรม ทำไปก่อน เท่าที่ตัวเองทำได้”

หลังจากเริ่มทำไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้จะเกิดเป็นทักษะแล้วจะช่วยพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพมากขึ้น และหน่วยงานก็จะเข้ามาเห็นศักยภาพและต่อยอดให้เราเอง

“เกษช่วยตัวเองมา 4 ปี กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เราต้องเชื่อว่าเราทำได้ก่อน เอาความศรัทธาและความเชื่อมั่นในตัวเองกลับมา ถ้ากลับมา เกษเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น คุยกับใครได้เต็มตา เพราะผู้พิการส่วนใหญ่ คุยกับใครแล้วไม่กล้าสบตา เพราะเรารู้สึกด้อยกว่าเขา รู้สึกไม่มีคุณค่า ไม่มีตัวตน”

ขณะนี้น้องๆ ในกลุ่มทุกคนสามารถพูดได้อย่างภูมิใจแล้วว่า "อันนี้ผมทำนะ อันนี้ผมขายได้ มีออร์เดอร์สั่งมากี่ชิ้นแล้ว" ส่วนนี้ทำให้เกิดพลังบวกในตัวเองขึ้นมาได้จริงๆ เพียงแค่กล้าที่จะเริ่ม

ขอบคุณ... https://news.thaipbs.or.th/content/274210

ที่มา: news.thaipbs.or.th /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 4 ก.ย.61
วันที่โพสต์: 5/09/2561 เวลา 09:58:57 ดูภาพสไลด์โชว์ กลุ่มผู้พิการล้อไม้เฟอร์นิเจอร์เดินหน้าด้วยไอเดีย